คัมภีร์แม่ท้อง หลากเรื่องที่แม่มือใหม่ควรรู้
พอท้องแล้วก็มีเรื่องที่ต้องเรียนรู้มากมาย แถมข้อมูลก็มีให้ศึกษาเยอะแยะเต็มไปหมด จนไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหนดี เราเลยรวบรวมข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่แม่ท้องจำเป็นต้องรู้มาฝากกันค่ะ
ไตรมาสที่ 1
Highlights:
• คุณแม่จะคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก หงุดหงิด ปัสสาวะบ่อย จมูกไว คัดจมูก ผมหนาและมีน้ำหนัก ท้องผูก ท้องอืด น้ำลายสอเต็มปาก อยากหรือเบื่ออาหาร ปวดหัว สีผิวที่ลานนมเข้มขึ้น
• ขนาดหน้าอกเพิ่มขึ้น 1 ไซส์
• น้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 2.25 กิโลกรัม
อาการแบบนี้ต้องหาหมอ :
• มีเลือดออกที่ช่องคลอดร่วมกับอาการปวดท้อง หรือเริ่มหายใจลำบาก
• มีการตกขาวเป็นมูกหรือเลือดออกมา รวมถึงมีกลิ่นเหม็น เป็นฟอง ตกขาวเป็นสีเหลือง เขียว หรือเทา
• แสบ คัน ในช่องคลอดหรือบริเวณใกล้เคียง
• ปวดช่องท้องอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง
• ได้รับบาดเจ็บที่หน้าท้องจากการล้มหรือกระแทก
• อาเจียนรุนแรงและต่อเนื่องร่วมกับปวดท้องและมีไข้
• ปัสสาวะได้น้อยหรือปัสสาวะไม่ออก แสบหรือปวดขณะปัสสาวะ
• มีไข้เท่ากับหรือมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
• เป็นตะคริวที่ขาหรือเจ็บน่องอย่างรุนแรงไม่ยอมหาย
• ปวดหัวรุนแรง ร่วมกับมองเห็นภาพเบลอ พูดไม่ชัด
• วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น หัวใจเต้นแรง
• ท้องผูกรุนแรง หรือท้องเสียเกินกว่า 24 ชั่วโมง
Must do: ฝากครรภ์และตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด (Prenatal Test) ได้แก่ การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การอัลตราซาวด์ การตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรม และอย่าลืมรับประทานกรดโฟลิกด้วย
อาหารการกิน: กินให้น้อย แต่บ่อยขึ้น กินหลากหลายครบ 5 หมู่ งดของดิบ ลดหวาน ลดเค็ม ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
ไตรมาสที่ 2
Highlights:
• ขนาดท้องใหญ่ขึ้นเห็นได้ชัดเจน
• เริ่มรู้สึกว่าลูกเริ่มดิ้นแล้ว และรู้ว่าลูกเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง
• อาการแพ้ท้องค่อยๆหายไป
• เริ่มมีอาการปวดหลัง กรดไหลย้อน วิงเวียนศีรษะ
• น้ำนมเหลืองเริ่มไหล
• น้ำหนักเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม
อาการแบบนี้ต้องหาหมอ:
• เลือดออกทางช่องคลอด ตกขาวผิดปกติ คือ มีกลิ่นเหม็น เป็นมูก มีเลือดปน
• ปวดช่องท้องหรือมีการบีบตัวของมดลูกมากกว่า 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง
• ปวดหน่วงๆที่อุ้งเชิงกรานหรือรู้สึกถึงแรงกดเพิ่มมากขึ้น
• ปวดหลังส่วนล่างทั้งๆที่ไม่เคยปวดมาก่อน
• ปวดหัวรุนแรงและต่อเนื่อง
• ปวดท้องรุนแรง ท้องแข็งตึงอย่างต่อเนื่อง
• มองเห็นไม่ชัด เห็นภาพซ้อน หรือเห็นจุดดำลอยไปมา
• หน้าบวม ตาบวม มือบวม จู่ๆเท้ากับข้อก็บวมอย่างกระทันหัน ขาข้างใดข้างหนึ่งบวมผิดปกติ
• น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
• ขาเป็นตะคริวไม่หาย และเจ็บน่อง
• แสบและปวดขณะปัสสาวะ
• อาเจียนรุนแรงร่วมกับมีไข้
• มีไข้เท่ากับหรือมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
• วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น หัวใจเต้นแรง หายใจลำบาก
• มีผื่นคันขึ้นทั่วร่างกาย
• ลูกดิ้นน้อยลง
Must do: พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย เช่น การชั่งน้ำหนัก ตรวจปัสสาวะและความดันโลหิต ฟังเสียงหัวใจของลูก ตรวจขนาดหน้าท้องและมดลูก และตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด ได้แก่ การตรวจเลือดเพื่อตรวจหาความผิดปกติของทารก การเจาะน้ำคร่ำ (สำหรับคุณแม่ที่มีความเสี่ยง เช่น อายุมากกว่า 35 ปี) การอัลตราซาวด์ การตรวจคัดกรองเบาหวาน
อาหารการกิน: สำหรับไตรมาสนี้มีสารอาหาร 3 ชนิดที่แม่ท้องต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ได้แก่ โปรตีน เพราะจำเป็นมากต่อการเจริญเติบโตของลูก ธาตุเหล็ก เนื่องจากคนตั้งครรภ์ต้องการธาตุเหล็กมากกว่าคนปกติ เพื่อเสริมสร้างส่วนของทารกและส่วนของแม่ ซึ่งแม่ท้องต้องการธาตุเหล็กตลอดการตั้งครรภ์จำนวน 1,000 มิลลิกรัม โดยจำนวน 300 มิลลิกรัม ไปสร้างส่วนที่เป็นรกและทารก จำนวน 500 มิลลิกรัม ไปเพิ่มส่วนที่เป็นโลหิตของแม่ และจำนวน 200 มิลลิกรัม ถูกขับออกทางอุจจาระ ปัสสาวะ และเหงื่อ แคลเซียม จำเป็นมากสำหรับการสร้างกระดูกและฟันของลูก และบำรุงกระดูกของแม่ให้แข็งแรง สำหรับคุณแม่ที่ดื่มนมไม่ได้ คุณแม่สามารถกินแคลเซียมจากแหล่งอื่นได้ เช่น คะน้า ปลาตัวเล็ก ถั่วเหลือง เต้าหู้ ข้าวโอ๊ต งา เป็นต้น
ไตรมาสที่ 3
Highlights:
• เหนื่อยง่ายเพราะหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้น
• นอนหลับยาก ปัสสาวะบ่อย ปวดหลัง หายใจลำบาก ท้องผูก ท้องอืด กรดไหลย้อน ขี้ลืม
• มองเห็นกำปั้นหรือเท้าน้อยของลูกเวลาเตะหรือดิ้น
• ลูกเริ่มกลับศีรษะเมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 37
• น้ำหนักเพิ่มประมาณ 5 กิโลกรัม
อาการแบบนี้ต้องหาหมอ:
• ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ มีอาการปวดหลังช่วงล่าง รู้สึกถึงแรงกดที่อุ้งเชิงกราน ปวดช่องท้อง มีการบีบตัวของมดลูกมากกว่า 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง
• ลูกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้นเลย
• มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือมีน้ำเดิน หรือตกขาวผิดปกติ
• ปวดหัวรุนแรง มองเห็นไม่ชัด เห็นภาพซ้อน หรือจุดดำลอยไปมา
• ปวดท้องรุนแรง ท้องแข็งตึง
• อาเจียนตลอดเวลาร่วมกับมีไข้
• ปัสสาวะแสบขัด
• หน้าบวม ตาบวม มือและนิ้วบวมมากกว่าปกติ ขา เท้า และตามข้อบวมขึ้นกะทันหันผิดปกติ
• มีไข้เท่ากับหรือมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
• วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น หัวใจเต้นแรง หายใจลำบาก
• น้ำหนักขึ้นมากกว่า 2 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
Must do: นับจำนวนการดิ้นของลูก วางแผนการคลอด จัดกระเป๋าเตรียมคลอด ฝึกหายใจเพื่อเตรียมคลอด ลงคลาสเตรียมตัวคลอด พบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพครรภ์และสุขภาพลูก หากเกิดอาการเจ็บครรภ์และมีน้ำเดิน ควรงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด และรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
อาหารการกิน: กะโหลกของลูกกำลังพัฒนา จึงต้องใช้แคลเซียมในการสร้าง และร่างกายจะใช้แคลเซียมได้ดีต้องใช้วิตามินดีในการดูดซึม วิตามินดีพบมากในแสงแดด และในอาหาร เช่น นม ปลาที่มีกรดไขมันดี เป็นต้น ธาตุเหล็กขาดไม่ได้ เพราะจำเป็นต่อการหล่อเลี้ยงลูกน้อย และป้องกันการขาดเลือดเมื่อคลอด โดยปกติคุณหมอมักจะให้คุณแม่กินเสริมในรูปแบบของยาเม็ดอยู่แล้ว ไขมันสำคัญต่อการสร้างสมองและการมองเห็น ควรเลือกกินไขมันดีที่มีอยู่ในปลา ถั่วเปลือกแข็ง ผักสีเขียวเข้ม ร่างกายแข็งแรงด้วยโปรตีน หากคุณแม่ไม่สามารถกินเนื้อสัตว์ได้ ลองมองหาโปรตีนจากแหล่งอื่นแทน เช่น เต้าหู้ ไข่ไก่ ผัก ถั่ว เป็นต้น ซ่อมแซมดีเอ็นเอและป้องกันการพิการด้วยกรดโฟลิก หากเป็นไปได้คุณแม่ควรกินกรดโฟลิกตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพราะพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทเริ่มตั้งแต่หลังปฏิสนธิ ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ มีออกซิเจนในกระแสเลือดเพียงพอ วิตามินซีเพื่อคุณแม่ สำหรับซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆหลังคลอด
ภาพประกอบจาก http://www.thinkstockphotos.com/