9 วิธีดูแลตัวเองในคุณแม่ตั้งครรภ์วัยเกิน 35 การันตีปลอดภัยทั้งแม่และลูก
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในช่วงวัยเกินกว่า 35 ปีขึ้นไป อาจจะต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้น เพราะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพของตัวเองและลูกน้อยในครรภ์เป็นอย่างมาก ทั้งยังมีสิทธิ์เสี่ยงที่เด็กจะได้รับโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่ายอีกด้วย ดังนั้นถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่รู้ตัวว่าอยู่ในวัยเกินกว่า 35 ปี ควรรู้วิธีดูแลตัวเอง 9 วิธีต่อไปนี้ จะช่วยทำให้เกิดความปลอดภัยต่อเด็กในครรภ์ และคุณแม่เองก็รู้สึกสบายใจมากขึ้นแน่นอนค่ะ
1.ปรับการดื่มและการทานอาหาร
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการดื่ม ควรเลือกดื่มเป็นน้ำผลไม้สดและน้ำเปล่าจะดีที่สุด หลีกเลี่ยงชา กาแฟ เครื่องดื่มมีคาเฟอีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ รวมไปถึงช็อกโกแลตก็ควรเลี่ยงด้วยเช่นกัน เพราะอาจพาให้เกิดปัญหานอนไม่หลับ และเกิดอาการท้องผูก ทั้งยังทำให้คุณแม่รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยครั้ง เพราะร่างกายต้องขับน้ำออกมา จึงทำให้ไม่ดีต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และเด็ก
2.ทานกรดโฟลิกเสมอ
เมื่อมีการฝากครรภ์ จะสังเกตได้ว่าคุณหมอจะให้โฟลิกกับคุณแม่ มารับประทานเป็นประจำ เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กในครรภ์เติบโตอย่างสมบูรณ์ ช่วยทำให้อวัยวะของทารกเจริญได้เต็มที่ หรือถ้าเลือกจะรับประทานเป็นอาหารที่มีกรดโฟลิกสูง แนะนำให้เลือกเป็นผักใบเขียว แครอท หน่อไม้ฝรั่ง ถั่ว และกล้วย ที่จะอุดมไปด้วยกรดโฟลิกจำนวนมาก
3.เข้ารับการตรวจตามนัดแพทย์เสมอ
เรื่องสำคัญของคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่ไม่ว่าจะวัยเกินกว่า 35 ปี หรือวัยอื่น ๆ คือ การไปตามนัดตรวจครรภ์สม่ำเสมอ ห้ามขาด เพราะจะเป็นช่วงเวลาที่คุณหมอนัดดูสุขภาพของทั้งคุณแม่และเด็กน้อยในครรภ์ เพื่อให้รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของทารกในครรภ์มารดา พร้อมการตรวจเลือด ตรวจอัลตร้าซาวด์ ตรวจปัสสาวะ การเจาะน้ำคร่ำ และการตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ ที่จะทำให้คุณแม่รู้ทัน ก่อนที่ลูกน้อยจะเสี่ยงต่อดาวน์ซินโดรม หรือภาวะโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ
4.ทานอาหารที่มีคุณภาพ
อาหารคือส่วนสำคัญของชีวิตทั้งแม่และเด็ก คุณแม่ได้วัย 35 ปี จึงควรเลือกอาหารให้ดี เน้นรับประทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ ลดหรือเลี่ยงการรับประทานน้ำตาล โซเดียม และไขมันเสียที่สูงเกินไป เน้นเป็นอาหารย่อยง่าย มีไฟเบอร์ทุกมื้อ เพื่อลดอาการท้องอืด ท้องผูก และท้องเฟ้อ เพราะคนท้องจะเสี่ยงต่ออาการเหล่านี้ได้มาก
5.ก่อนทานยาต้องปรึกษาแพทย์
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง หรือแม้แต่การป่วยเพียงเล็กน้อย แล้วต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ ก่อนทานเสมอ หรือแม้แต่การรับประทานอาหารเสริม ควรงดไปก่อนหรือปรึกษาแพทย์ดูว่าสามารถรับประทานได้หรือไม่ และจะส่งผลเสียหรือผลข้างเคียงใด ๆ ต่อทารกในครรภ์ มาก-น้อยแค่ไหน
6.ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยให้คุณแม่ได้รู้สึกผ่อนคลายและหลับสบายมากขึ้น แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายเบา ๆ และเป็นไปตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมหรือหนักหน่วงเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ได้
7.ลดเครียด
ความเครียดเป็นตัวร้ายที่ไม่ได้ทำลายแค่คุณแม่เท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อลูกน้อยในครรภ์อีกด้วย ดังนั้นจึงควรลดความตึงเครียดจากการทำงาน และการใช้ชีวิตให้มาก เลือกทำกิจกรรมที่คุณสนใจ เช่น การอ่านหนังสือ การเดินออกไปช้อปปิ้ง การดูซีรีย์เรื่องโปรด แต่ควรเลือกเป็นเรื่องที่มีความสนุกสนาน เลี่ยงพล็อตเรื่องที่อาจจะทำให้คุณต้องเครียดมากกว่าเดิม
8.การพักผ่อนต้องเพียงพอ
การนอนหลับของคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรจะต้องมีคุณภาพและจะต้องนอนหลับลึกอย่างเต็มอิ่ม ในช่วง 6-8 ชั่วโมง เพื่อทำให้ร่างกายได้รับการฟื้นฟูและลูกน้อยเอง จะได้รับการฟื้นฟูร่างกายด้วยเช่นกัน พร้อมทำให้ร่างกายของลูกน้อยเจริญเติบโต อย่างสมวัย สุขภาพดี ทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์อย่างแน่นอน
9.รักษาน้ำหนักให้เหมาะสม
เรื่องของน้ำหนักก็สำคัญไม่แพ้กัน ช่วงระหว่างที่ตั้งครรภ์ แม้ว่าคุณแม่จะต้องรับประทานอาหาร เพื่อให้ลูกน้อยได้อิ่มไปด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ควรรับประทานอย่างมีคุณภาพ และให้น้ำหนักตัวขึ้นอยู่ที่ประมาณ 10-12 กิโลกรัม ซึ่งจะถือว่าอยู่ในมาตรฐานและไม่เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคครรภ์เป็นพิษอีกด้วย
แม้ว่าการตั้งครรภ์ในช่วงตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ทั้งยังต้องเสี่ยงต่ออาการครรภ์เป็นพิษกับโรคต่าง ๆ แต่ถ้าคุณแม่รู้ทันและสามารถดูแลรักษาสุขภาพ ได้ตามที่แนะนำไปทั้ง 9 ข้อและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เสมอ เชื่อว่าลูกน้อยของคุณจะต้องออกมาดูโลกอย่างปลอดภัยค่ะ