4 ผักบ้านบ้าน ช่วยคุมน้ำตาลในเลือด ดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน
สำหรับผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง อยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือ ระดับน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม (ไม่ได้อดอาหาร) อยู่ระหว่าง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน การรักษาเบาหวานนั้น นอกจากการควบคุมอาหารและออกกำลังกายแล้ว การใช้ยาแผนปัจจุบันก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมี ผัก บางชนิดที่งานวิจัยรองรับว่า มีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
4 ผักช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด
1.ตำลึง เป็นพืชเถาที่คนนิยมนำมาปรุงอาหาร ลวก ต้ม นึ่ง จิ้มน้ำพริก ข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุคุณค่าทางโภชนาการของใบตำลึงและยอดอ่อนตำลึงปริมาณ 100 กรัม ไว้ว่าให้พลังงาน 39 กิโลแคลอรี, น้ำ 90.7 กรัม, โปรตีน 3.3 กรัม, ไขมัน 0.4 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 5.5 กรัม, ใยอาหาร 1.0 กรัม, แคลเซียม 126 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 4.6 มิลลิกรัม, เบต้าแคโรทีน 5,190 ไมโครกรัม, วิตามินเอ 865 ไมโครกรัม, ไทอามีน 0.17 มิลลิกรัม, ไรโบฟลาวิน 0.13 มิลลิกรัม, ไนอะซิน 1.2 มิลลิกรัม, วิตามินซี 34 มิลลิกรัม
จากสรรพคุณพื้นบ้านทั้งของไทยและต่างประเทศที่มีการใช้ตำลึงในการรักษาเบาหวาน มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่มาสนับสนุนสรรพคุณในการรักษาเบาหวานของตำลึง โดยศึกษาทั้งในสัตว์ทดลองปกติและที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน และมีการนำเกือบทุกส่วนของตำลึงมาใช้ในการศึกษา ได้แก่ ใบ ผล เถา ส่วนเหนือดิน และราก เป็นต้น
พบว่าตำลึงมีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ดีเทียบเท่าหรือดีกว่ายาแผนปัจจุบัน โดยสารสกัดลำต้นตำลึงมีฤทธิ์กระตุ้นการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ เพิ่มระดับอินซูลิน ทำให้มีการสังเคราะห์ไกลโคเจนเพิ่มขึ้น และลดการเปลี่ยนไกลโคเจนมาเป็นกลูโคสเป็นผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง นอกจากนี้สารสกัดจากใบและส่วนเหนือดินยังมีผลในการลดไขมันด้วย
2.มะระขี้นก เป็นสมุนไพรที่ใช้กันมานานนับพันปี ในเอเซีย อาฟริกา และละตินอเมริกา อายุรเวทใช้ผลมะระรักษาเบาหวาน โรคตับ บรรเทาอาการโรคเก๊าต์และข้ออักเสบ ตำรายาไทยใช้ใบมะระในตำรับยาเขียวลดไข้ รากในตำรับยาแก้โลหิตเป็นพิษ และโรคตับ
งานวิจัยสมุนไพรมะระได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ค.ศ. 1962 ซึ่ง Lotlika และ Rao ได้ค้นพบชาแรนตินในผลมะระ ที่แสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลอง ในปี 1965 Sucrow ได้พิสูจน์โครงสร้างเคมีของชาแรนติน พบว่าเป็นสารผสมของ sitosteryl- และ 5,25-stigmastadien-3-beta-ol-D-glucosides ในอัตราส่วน 1:1 ปี 1977 Baldwa และคณะ ได้แยกสารคล้ายอินซูลินจากผลมะระและมีฤทธิ์ลดน้ำตาล ในปี 1981 Khana และคณะได้พิสูจน์โครงสร้างของสารคล้ายอินซูลิน พบว่าเป็นโพลีเปปไทด์ที่มีน้ำหนักโมเลกุล 11,000 ดาลตัน และมีกรดอะมิโน 166 residues เรียกสารนี้ว่า โพลีเปปไทด์ พี สารขมกลุ่มคิวเคอร์บิตาซินซึ่งเป็น chemotaxonomic character ของพืชวงศ์ Cucurbitaceae คิวเคอร์บิตาซินในมะระ คือ momordicosides, momordicins, karaviloside K1 และ charantoside มีรายงานว่าสารขมดังกล่าวมีฤทธิ์ลดน้ำตาล
ในมะระขี้นกมีสารหลายชนิดที่ต้านเบาหวาน และมีหลายกลไกที่ออกฤทธิ์ต้านเบาหวาน ได้แก่ เสริมการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ เสริมการเผาผลาญน้ำตาล เพิ่มความไวต่ออินซูลิน เพิ่มความทนต่อกลูโคส (glucose tolerance) นอกจากนี้ยังยับยั้งการหลั่งกลูโคสในลำไส้เล็ก และยับยั้งเอนไซม์กลูโคไซเดส
น้ำคั้นจากผลมะระขี้นกแสดงฤทธิ์ต้านเบาหวานในกระต่ายและหนูขาว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามะระสามารถชะลอความผิดปกติของไต การเกิดต้อกระจก การเสื่อมของเส้นประสาทซึ่งเป็นผลมาจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน หรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลเลือดให้ปกติ
การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (8 คน) พบว่าผู้ป่วยทนต่อกลูโคสได้ดีขึ้น ลดระดับน้ำตาลขณะอิ่ม และลดความถี่ของการถ่ายปัสสาวะ จึงขอแนะนำผู้ป่วยเบาหวานบริโภคมะระขี้นกเป็นอาหาร หรือในรูปน้ำคั้นเป็นอาหารเสริม เพื่อช่วยรักษาระดับความดันเลือดให้ปกติ และชะลออาการต่างๆที่เป็นผลเสียจากโรคเบาหวานที่เป็นมานาน มะระขี้นก (สีเขียว) มีคุณค่าทางอาหารเพราะมีวิตามินเอ (2,924 IU) ไนอะซิน (190 มก./100 ก) และมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ
3.ชะพลู มีงานวิจัยมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศเกี่ยวกับ “ชะพลู” หรือ “ช้าพูล” ที่พูดถึงฤทธิ์ในการลดน้ำตาลในเลือด มีงานวิจัยพบว่าน้ำชะพลูลดน้ำตาลในเลือดของกระต่ายที่เป็นเบาหวานได้ แต่ไม่สามารถลดน้ำตาลในเลือดของกระต่ายปกติได้
ทั้งนี้ถ้ากินเป็นผักหรือเป็นอาหารก็มีความปลอดภัย แต่ถ้ากินเป็นยาเพื่อหวังผลในการลดน้ำตาล แนะนำว่าจะต้องสังเกตอาการน้ำตาล เช่น มีอาการหน้ามืด ใจสั่น เหงื่อออกมือ มีอาการหวิวๆ เหมือนจะเป็นลมหรือไม่ เพราะแสดงว่าน้ำตาลในเลือดของคุณกำลังต่ำเกินไป จึงไม่ควรทานช้าพลูนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม มีข้อห้ามสำหรับผู้ที่เป็นโรคไต เพราะใบช้าพลูมีส่วนประกอบของแคลเซียมออกซาเลท (Calcium oxalate) ซึ่งการกินในปริมาณมาก จะไปสะสมที่ไต และทำให้ไตทำงานหนักขึ้น
4.ผักเชียงดา หรือผักจินดา ผักพื้นบ้านที่พบมากในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นพืชในวงศ์ APOCYNACEAE เป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นเมื่อยังอ่อนมีเขียวเข้ม ใบเดี่ยว ออกคู่ตรงกันข้าม ใบรูปหอกกว้าง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบโค้งสอบแคบโค้งมน หรือเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อกระจุกจากซอกใบ ดอกย่อย กลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบดอกสีขาว สีเหลืองอ่อน หรือเหลืองอมส้ม เกสรตัวผู้เป็นกระจุกแน่น ผล เมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีน้ำตาลคล้ำ มี 2-3 เมล็ด (1) ใบอ่อนและยอดอ่อนของผักเชียงดาสามารถนำมาเป็นอาหาร ทั้งผักลวกจิ้มน้ำพริก ผัดใส่ไข่ หรือใส่ในแกง
หลายท่านคงเคยได้ยินข่าวว่าประเทศญี่ปุ่นมีความสนใจผักเชียงดาของไทยมาก มีการจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ลดน้ำตาลในเลือดและลดไขมันจากผักเชียงดา ทั้งรูปของเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะนอกจากคำว่า gymnema มีรากศัพท์มาจากคำว่า “gurmar” ในภาษาฮินดู ซึ่งหมายถึงผู้ฆ่าน้ำตาลแล้ว ในผักเชียงดาพบสารสำคัญในกลุ่มไตรเทอร์ปีนซาโปนินที่ชื่อ gymnemic acid (2) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการขนส่งน้ำตาล (3-7) ชะลอการดูดซึมน้ำตาลบริเวณลำไส้เล็ก (8-11) นอกจากนี้ gymnemic acid ยังกระตุ้นการสร้างและซ่อมแซมเบต้าเซลล์ที่บริเวณไอส์เลตออฟลังเกอร์ฮันส์ (islets of Langerhans) ในตับอ่อน กระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้น้ำตาลในเลือดลดลง (12-16)
การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าส่วนสกัดซาโปนินที่แยกที่ได้สารสกัด 75% เอทานอลของใบเชียงดา (17) และสารไตรเทอร์ปีนอยด์จากผักเชียงดา (18) สามารถยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาที่ถูกกระตุ้นด้วยโพแทสเซียม ซึ่งเป็นผลมาจากการยับยั้งการนำกลูโคสจากภายนอกเข้าสู่เซลล์ เมื่อทดสอบความทนต่อน้ำตาล (oral glucose tolerance test: OGTT) โดยป้อนสารนี้ให้แก่หนูแรทร่วมกับสารละลายกลูโคสขนาด 1 ก./กก.น้ำหนักตัว สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญที่เวลา 15 นาที และ 30 นาทีหลังการทดสอบตามลำดับ (17)
การศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครปกติ พบว่าเมื่อดื่มชาที่เชียงดา (มีใบเชียงดาอบแห้ง 1.5 ก. ชงกับน้ำร้อน 150 มล.) ทันที หรือที่เวลา 15 นาทีหลังการทดสอบน้ำตาล มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ และฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดให้ผลแปรผันตรงกับขนาดที่ได้รับ (19) และการรับประทานชาเชียงดา วันละ 1 แก้ว หลังอาหารทันที ต่อเนื่อง 28 วัน สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูงสุด (peak plasma glucose concentration) ได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน (19) อย่างไรก็ตามเมื่อทำการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยให้ดื่มชาที่เตรียมจากใบเชียงดาแห้ง 1.2 ก. ชงในน้ำร้อน 150 มล. วันละ 3 ครั้ง หลังมื้ออาหาร 15 นาที ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ ควบคู่ไปกับการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง กลับไม่พบฤทธิ์รักษาเบาหวานของชาเชียงดา (20)
จะเห็นได้ว่าการศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดายังมีไม่มากนัก โดยเฉพาะการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน แต่ผักเชียงดามีแนวโน้มที่ดีที่จะใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลขั้นต้น อีกทั้งผักเชียงดาเป็นผักพื้นบ้านที่มีการรับประทานเป็นอาหารมาช้านาน และยังไม่ปรากฏรายงานความเป็นพิษจากการรับประทาน อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยาแผนปัจจุบันและต้องการรับประทานผักเชียงดา ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจจะเสริมฤทธิ์กับยา จนทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปได้
สามารถอ่านเรื่องฤทธิ์ลดน้ำตาลของผักเชียงดาและ Gymnema sylvestre เพิ่มเติม ได้ในจุลสารข้อมูลสมุนไพร ฉบับ 34(4) กรกฏาคม 2560