"โอเมก้า 3-6-9" คืออะไร ต่างกันอย่างไร แบบไหนจำเป็นที่สุด
กรดไขมันโอเมก้า 3,6,9 คงเป็นชื่อกรดไขมันที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่ทราบหรือไม่ว่ากรดไขมันโอเมก้าทั้งหมดที่ว่ามานั้นคืออะไร ต่างกันอย่างไร และแบบไหนจำเป็นที่สุด เราหาคำตอบมาให้
กรดไขมันโอเมก้า 3-6-9 คืออะไร
กรดไขมันโอเมก้า-3 จัดเป็นไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหลายพันธะซึ่งร่างกายของเราไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างกรดไขมันโอเมก้า-3 ได้เอง จึงจัดเป็น "ไขมันจำเป็น" ที่เราต้องได้รับจากอาหาร
สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association: AHA) แนะนำให้รับประทานปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึกซึ่งอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3
กรดไขมันโอเมก้า-3 แบ่งออกเป็นหลายชนิด โดยแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันในด้านโครงสร้างและขนาด โดยชนิดที่พบมากมี 3 ชนิด ดังนี้
- กรดไอคอสเพนทาอีโนอิก (Eicosapentaenoic acid: EPA): กรดไขมันชนิดนี้มี 20 อะตอมคาร์บอน มีหน้าที่สำคัญในการสร้างสารเคมีที่ชื่อว่า อีโคซานอยด์ (eicosanoids) ซึ่งช่วยลดการอักเสบ นอกจากนี้ EPA ยังอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้า
- กรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก (Docosahexaenoic acid: DHA): กรดไขมันชนิดนี้มี 22 อะตอมคาร์บอน เป็นส่วนประกอบประมาณ 8% ของน้ำหนักสมอง มีความสำคัญต่อพัฒนาการและการทำงานของสมอง
- กรดอัลฟา-ไลโนเลนิก (Alpha-linolenic acid: ALA): กรดไขมันชนิดนี้มี 18 อะตอมคาร์บอน สามารถเปลี่ยนเป็น EPA และ DHA ได้ แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างต่ำ ALA มีประโยชน์ต่อระบบหัวใจ ภูมิคุ้มกัน และระบบประสาท
ประโยชน์ของกรดไขมันโอเมก้า 3
กรดไขมันโอเมก้า-3 ไม่เพียงแค่เป็นส่วนสำคัญของผนังเซลล์ในร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมากมาย ดังนี้
- เสริมสร้างสุขภาพหัวใจ: กรดไขมันโอเมก้า-3 ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และความดันโลหิต
- ส่งเสริมสุขภาพจิต: อาหารเสริมโอเมก้า-3 อาจช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการโรคซึมเศร้า พาร์กินสัน และโรคจิตเภทในกลุ่มเสี่ยง แต่ยังคงต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม
- ควบคุมน้ำหนักและรอบเอว: กรดไขมันโอเมก้า-3 อาจช่วยควบคุมน้ำหนักและรอบเอวได้ แต่ยังต้องการการศึกษามากขึ้น
- ลดไขมันในตับ: ผลการวิจัยเบื้องต้นชี้ว่า การบริโภคโอเมก้า-3 อาจช่วยลดปริมาณไขมันในตับ
- ส่งเสริมพัฒนาการสมองของทารก: กรดไขมันโอเมก้า-3 มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์
- ลดการอักเสบ: กรดไขมันโอเมก้า-3 อาจช่วยควบคุมการอักเสบที่เกิดขึ้นร่วมกับโรคเรื้อรังบางชนิด
การได้รับกรดไขมันโอเมก้า-3 ในปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับโอเมก้า-6 อาจส่งผลต่อการเกิดการอักเสบและโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรครูมาตอยด์ เบาหวาน เส้นเลือดแดงแข็ง และหัวใจล้มเหลว
กรดไขมันโอเมก้า-6 พลังงาน แต่ก็มาพร้อมกับการอักเสบ เช่นเดียวกับโอเมก้า-3 กรดไขมันโอเมก้า-6 จัดเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหลายพันธะ แต่ตำแหน่งของพันธะคู่สุดท้ายนั้น ห่างไป 6 อะตอมคาร์บอน จากปลายหางของโมเลกุลไขมัน ร่างกายไม่สามารถผลิตกรดไขมันโอเมก้า-6 เองได้ จึงจัดเป็น "ไขมันจำเป็น" ที่เราต้องได้รับจากอาหาร
หน้าที่หลักของกรดไขมันโอเมก้า-6 คือการให้พลังงานแก่ร่างกาย ชนิดที่พบมากที่สุดคือ กรดไลโนเลอิค ซึ่งร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นกรดไขมันโอเมก้า-6 ชนิดสายยาวขึ้น เช่น กรดอาราคิโดนิก กรดอาราคิโดนิก ทำหน้าที่คล้ายกับ EPA ในการสร้างสารเคมีที่ชื่อว่า อีโคซานอยด์ แต่ทว่าอีโคซานอยด์ที่ผลิตจากกรดอาราคิโดนิกนั้นส่งเสริมการอักเสบมากกว่า
อีโคซานอยด์ชนิดกระตุ้นการอักเสบมีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตามหากร่างกายผลิตมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการอักเสบและโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ สัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างกรดไขมันโอเมก้า-6 กับ โอเมก้า-3 ควรอยู่ระหว่าง 1 ต่อ 1 ถึง 4 ต่อ 1แต่ผลการศึกษาชี้ว่าผู้ที่รับประทานอาหารแบบตะวันตกโดยทั่วไป อาจได้รับสัดส่วนของกรดไขมันทั้งสองชนิดนี้อยู่ระหว่าง 15 ต่อ 1 ไปจนถึงเกือบ 17 ต่อ 1
กรดไขมันโอเมก้า-9 เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวชนิดเดียวซึ่งหมายความว่ามีเพียงพันธะคู่เพียงตำแหน่งเดียว โดยอยู่ห่างไป 9 อะตอมคาร์บอน จากปลายหางของโมเลกุลไขมัน กรดโอเลอิค เป็นกรดไขมันโอเมก้า-9 ที่พบมากที่สุด และเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดเดียวที่พบมากที่สุดในอาหาร
ร่างกายสามารถสังเคราะห์กรดไขมันโอเมก้า-9 เองได้ ดังนั้นจึงจัดว่าไม่ใช่ "ไขมันจำเป็น"อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า-9 แทนไขมันชนิดอื่น อาจส่งผลดีต่อสุขภาพ ผลการศึกษาในปี 2015 ชี้ว่า การให้อาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวชนิดเดียวสูงแก่หนูทดลอง ส่งผลต่อการปรับปรุงความไวของอินซูลินและลดการอักเสบ
ผลการศึกษานี้ยังพบอีกว่า มนุษย์ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวชนิดเดียวสูง มีภาวะการอักเสบที่น้อยกว่าและมีความไวของอินซูลินที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง
สรุป
อาหารเสริมผสมโอเมก้า 3-6-9 ได้รับความนิยม แต่โดยทั่วไปแล้วไม่ได้ให้ประโยชน์เพิ่มเติมเหนือการรับประทานโอเมก้า 3 เพียงอย่างเดียว ร่างกายต้องการกรดไขมันโอเมก้า 6 ในปริมาณที่เหมาะสม แต่กรดไขมันชนิดนี้พบได้ทั่วไปในอาหาร ผู้คนในสังคมตะวันตกส่วนใหญ่ อาจได้รับกรดไขมันโอเมก้า 6 มากเกินไป
นอกจากนี้ร่างกายสามารถผลิตกรดไขมันโอเมก้า 9 เองได้ และยังสามารถหาได้ง่ายจากอาหาร ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรับประทานในรูปแบบอาหารเสริม ดังนั้นแม้ว่าอาหารเสริมผสมโอเมก้า 3-6-9 จะมีสัดส่วนของกรดไขมันโอเมก้า 3-6-9 ที่เหมาะสม แต่การรับประทานโอเมก้า 3 เพียงอย่างเดียว น่าจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า