รู้จัก "ผักเชียงดา" ผักพื้นบ้านตัวฆ่าน้ำตาลในเลือด บำรุงตับอ่อน
หลายๆ คนอาจคุ้นเคยกับชื่อ "ผักเชียงดา" แต่สำหรับบางคนก็อาจยังไม่รู้จัก แต่ผักเชียงดานั้นมีสรรพคุณทางยามากมาย และวันนี้จะมาแนะนำให้ทุกคนรู้จักผักเชียงดา ที่บางคนก็เรียกว่าตัวฆ่าน้ำตาล
ผักเชียงดามีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gymnema inodorum (Lour.) Decne. และมีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น เจียงดา, ผักเชียงดา, ผักกูด, ผักม้วนไก่ หรือ ผักเซ็ง เป็นผักพื้นบ้านของภาคเหนืออีกชนิดหนึ่งที่คนในท้องถิ่นนิยมบริโภค ลักษณะของผักเชียงดา เป็นไม้เลื้อยมีลำต้นสีเขียว ส่วนต่างๆ ที่อยู่เหนือดินมียางสีขาวคล้ายน้ำนม ใบเป็นใบเดี่ยว ดอกเป็นดอกช่อและมีสีเหลืองหรือสีเขียว ผลออกเป็นผักรูปร่างคล้ายหอก
การขยายพันธุ์ นิยมใช้วิธีปักชำหรือการเพาะเมล็ด ผักเชียงดาเป็นพืชที่ทนแล้งแต่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีการระบายน้ำที่ดี โดยนิยมปลูกตามริมรั้วหรือปล่อยให้เลื้อยขึ้นตามค้างหรือพาดขึ้นตามต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียง
คุณค่าทางโภชนาการ
ยอดอ่อนและใบอ่อนของผักเชียงดามีรสขมอ่อนๆ และมีสารอนุมูลอิสระสูงมาก ในผักเชียงดาหนัก 100 กรัม ให้พลังงาน 60 แคลอรี มีน้ำประมาณ 87.9% วิตามินซี 153 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน 5905 ไมโครกรัม วิตามินเอ 984 ไมโครกรัม แคลเซียม 78 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 98 มิลลิกรัม เส้นใยอาหาร 2.5 กรัม โปรตีน 5.4 กรัม ไขมัน 1.5 กรัม และคาร์โบไฮเดรต 8.6 กรัม
สรรพคุณทางยา
ผักเชียงดามีสรรพคุณมากมาย เช่น
- ช่วยลดน้ำตาล
- แก้ไข้และแก้หวัด
- ใช้รักษาอาการท้องผูกและโรคริดสีดวงทวาร
- ช่วยกำจัดสารพิษต่างๆ ที่ตกค้างในร่างกาย
- ช่วยฟื้นฟูและบำรุงตับอ่อนให้แข็งแรง
- ช่วยลดน้ำหนัก
- ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อและปวดกระดูก
- ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้และโรคหอบหืด
เมนูอาหารผักเชียงดา เมนูอาหาร
นิยมนำใบอ่อน ยอดและดอกของผักเชียงดามาลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริกหรือตำมะม่วง ผัดใส่น้ำมันหอยหรือผัดใส่ไข่ เมนูที่นิยมกันมาก คือ แกงใส่ปลาแห้ง หรือนำมาแกงร่วมกับผักชนิดอื่น เช่น ผักฮ้วน หรือ ผักตำลึง แกงผักเชียงดาใส่ปลาย่าง มีส่วนประกอบดังต่อไปนี้
- ยอดและใบอ่อนของผักเชียงดา
- มะเขือเทศ ถ้าจะให้อร่อยควรใช้มะเขือเทศพันธุ์พื้นเมือง
- ปลาแห้ง
- น้ำพริกแกง ประกอบด้วย พริกแห้ง หัวหอม กระเทียม กะปิ
- ปลาร้า
วิธีทำ นำปลาแห้งมาต้มในหม้อให้เดือดเมื่อต้มเสร็จแล้วตักปลาแห้งออกนำมาแกะเอาแต่เนื้อปลา ใส่น้ำพริกแกงลงไปตามด้วยเนื้อปลาแห้ง ใส่ผักเชียงดาและใส่มะเขือเทศลงไป ใส่ปลาร้าและปรุงรสตามชอบใจ
ผู้เขียน : ดร.นิตยา บุญทิม