"ผักหวานบ้าน" กับ "ผักหวานป่า" ต่างกันอย่างไร แบบไหนมีประโยชน์มากกว่า
เชื่อว่าหลายๆ คนคุ้นกับชื่อ "ผักหวาน" หรือบางคนอาจเคยลิ้มลองรสชาติเมนูจากผักหวานกันอยู่บ้าง เนื่องจากผักหวานนั้นสามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลายเมนู แต่ผักหวานที่พบในประเทศไทยนั้นมีหลายชนิดด้วยกัน มีทั้งแบบที่แนะนำให้ทาน กับไม่แนะนำให้ทาน แต่สำหรับผักหวานที่แนะนำให้ทานนั้นมี "ผักหวานบ้าน" กับ "ผักหวานป่า" ว่าแต่ผักหวาน 2 ชื่อนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร โดยทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้
ช่วงฤดูร้อนเข้าฤดูฝน เป็นช่วงเวลาที่ผักหวานป่า (Meliantha sauvis Pierre.) เริ่มแตกยอดอ่อน มีผู้เก็บยอดมาวางขายในราคาค่อนข้างแพง เพราะเป็นผลผลิตจากป่าที่หนึ่งปีมีให้รับประทานได้ช่วงเดียว และปลอดภัยจากเคมีเกษตรด้วย ยอดอ่อนที่อวบกรอบ รสชาติที่หวานมัน และไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว ผักหวานป่าจึงเป็นที่ต้องการบริโภคมาก เดิมมีผู้พยายามปลูกผักหวานป่าแต่ไม่ค่อยสำเร็จ มีเพียงไม่กี่รายที่ปลูกได้ทำให้มีจำนวนต้นน้อย ผักหวานป่าปลูกยาก และเจริญเติบโตช้ามาก
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน เกษตรกรบางรายสามารถปลูกผักหวานป่าได้แล้ว โดยการเพาะเมล็ด และมีเคล็ดลับคือ ผักหวานป่าเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่รก ไม่ชอบแสงแดด ทำให้ต้องปลูกในพื้นที่แสงแดดรำไร มีอากาศเย็นและชื้น จึงจะรอด และแตกยอดอ่อนได้ โดยมากจะเก็บยอดหลังจากปลูกได้ 2 ปี และให้ใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ได้อย่างเดียว ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เพราะจะทำให้ต้นผักหวานตายได้ ผักหวานป่าจึงเป็นผักที่ปลอดภัยจากเคมี
สำหรับผักหวานอีกหนึ่งชนิดเรียกว่า ผักหวานบ้าน (Sauropus androgynus (L) Merr.) เป็นผักหวานที่มีกลิ่นผักเฉพาะ ความนิยมบริโภคจึงไม่มากเท่าผักหวานป่า ผักหวานบ้านปลูกง่ายโดยใช้เมล็ดหรือกิ่งชำ ปลูกในดินร่วนระบายน้ำได้ดี รดน้ำและให้ปุ๋ยอินทรีย์สม่ำเสมอ สามารถปลูกเก็บยอดได้ทั้งปี เมื่อมีการตัดยอดจะทำให้แตกยอดใหม่เพิ่มขึ้น แต่การปลูกผักหวานบ้านไม่ควรใช้สารเคมีเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หากฉีดพ่นใส่ต้นผักหวาน ใบจะเหลืองภายใน 2-3 วัน แล้วใบจะร่วงจนหมดต้น ดังนั้นผักหวานบ้านที่มียอดมีใบจึงปลอดภัยจากสารเคมีซึ่งทำให้สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นผักหวานป่า หรือผักหวานบ้าน ก็เป็นผักที่บริโภคได้อย่างปลอดภัย
ผู้เขียน ดร.ถกลวรรณ ศิริสวัสดิ์