สัญญาณเตือนร่างกายของคุณกำลังขาดแร่ธาตุ

สัญญาณเตือนร่างกายของคุณกำลังขาดแร่ธาตุ

สัญญาณเตือนร่างกายของคุณกำลังขาดแร่ธาตุ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แร่ธาตุเป็นสารอาหารจำพวกหนึ่งที่ร่างกายต้องการสำหรับการทำงานอย่างปกติ ภาวะขาดแร่ธาตุ เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่ได้รับ หรือดูดซึมแร่ธาตุนั้นไม่เพียงพอ ร่างกายมนุษย์ต้องการแร่ธาตุแต่ละชนิดในปริมาณที่แตกต่างกัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ปริมาณที่แนะนำให้ได้รับประจำวัน เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ ประมาณ 97% โดยทั่วไปแล้ว เราสามารถรับแร่ธาตุเหล่านี้ได้จากอาหาร อาหารเสริมแร่ธาตุ และอาหารที่ผ่านกระบวนการเติมแร่ธาตุ ภาวะขาดแร่ธาตุ อาจส่งผลต่อสุขภาพได้หลายด้าน เช่น กระดูกพรุน อ่อนเพลีย หรือระบบภูมิคุ้มกันทำงานลดลง และต่อไปนี้คือสัญญาณเตือนร่างกายของคุณกำลังขาดแร่ธาตุ

สัญญาณเตือนร่างกายขาดแร่ธาตุ

โดยทั่วไปภาวะขาดแร่ธาตุสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลักๆ ดังนี้

1. ภาวะขาดแคลเซียม

แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการมีกระดูกและฟันที่แข็งแรง นอกจากนี้ แคลเซียมยังมีบทบาทสำคัญในการทำงานของหลอดเลือด กล้ามเนื้อ ระบบประสาท และฮอร์โมน แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ได้แก่ นม โยเกิร์ต ชีส ปลาตัวเล็กทั้งกระดูก ถั่วต่างๆ และผักกาดเขียว เช่น บร็อคโคลี คะน้า และกะหล่ำปลีจีน นอกจากนี้ยังมีอาหารบางชนิดที่ผ่านกระบวนการเติมแคลเซียม เช่น เต้าหู้ ซีเรียล และน้ำผลไม้

ในระยะแรก ภาวะขาดแคลเซียมมักไม่แสดงอาการชัดเจน เนื่องจากร่างกายมีกลไกในการควบคุมระดับแคลเซียมในเลือด แต่ภาวะขาดแคลเซียมเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่ภาวะกระดูกพรุนซึ่งส่งผลต่อความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูก หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะกระดูกพรุนอาจรุนแรงกลายเป็นโรคกระดูกพรุนซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

ภาวะขาดแคลเซียมรุนแรง มักเกิดจากปัญหาสุขภาพหรือการรักษา เช่น การใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาขับปัสสาวะ) การผ่าตัดตัดกระเพาะอาหาร หรือภาวะไตวาย อาการของภาวะขาดแคลเซียมรุนแรง ได้แก่

  • ตะคริวกล้ามเนื้อ: กล้ามเนื้อตึง เกร็ง หรือปวดอย่างรุนแรง มักเกิดขึ้นที่ขา เท้า และแขน
  • ชา: รู้สึกเสียวซ่า ชา หรือสูญเสียความรู้สึก โดยเฉพาะที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า ริมฝีปาก และบริเวณรอบปาก
  • อ่อนเพลีย: รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแรง ไม่มีเรี่ยวแรง
  • เบื่ออาหาร: ไม่รู้สึกอยากอาหาร กินอาหารได้น้อยลง
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ: หัวใจเต้นเร็ว เต้นช้า หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ

หมายเหตุ: อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น หากสงสัยว่าตนเองมีภาวะขาดแคลเซียม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

2.ภาวะขาดธาตุเหล็ก

ร่างกายของคนเรามีธาตุเหล็กมากกว่าครึ่งอยู่ในเซลล์เม็ดเลือดแดง ธาตุเหล็กเป็นส่วนสำคัญของฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย นอกจากนี้ธาตุเหล็กยังเป็นส่วนประกอบของโปรตีนและเอนไซม์อื่นๆ ที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก และปลา อาหารจากพืช เช่น ถั่ว หรือ ถั่วเลนทิล ก็เป็นแหล่งธาตุเหล็กที่ดีเช่นกัน

ภาวะขาดธาตุเหล็ก มักเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และอาจนำไปสภาวะโลหิตจาง ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยในสหรัฐอเมริกา และในผู้ที่รับประทานอาหารอย่างครบถ้วน แต่จากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2008 ชี้ว่าภาวะขาดธาตุเหล็กเป็นสาเหตุของโรคโลหิตจาง เกือครึ่งหนึ่งของทั่วโลก

อาการของภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ได้แก่ รู้สึกอ่อนแอ เหนื่อยง่าย อาจส่งผลต่อการทำงานหรือการเรียนได้ ในเด็ก อาจแสดงอาการผ่านพัฒนาการทางสังคมและสติปัญญาที่ช้าลง

3.ภาวะขาดแมกนีเซียม

แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมปฏิกิริยาทางเคมีหลายร้อยชนิด เช่น การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท สมอง การเผาผลาญพลังงาน และการสร้างโปรตีน ร่างกายมนุษย์มีแมกนีเซียมประมาณ 60% อยู่ในกระดูก และอีก 40% อยู่ในกล้ามเนื้อและเซลล์ของเนื้อเยื่ออ่อน แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแมกนีเซียม ได้แก่

  • พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง
  • ถั่วต่างๆ เช่น อัลมอนด์ เกาลัด เม็ดมะม่วงหิมพานต์
  • เมล็ดพืช เช่น ฟักทอง ทานตะวัน งา
  • ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต คีนัว
  • ผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักโขม บร็อคโคลี

ภาวะขาดแมกนีเซียมพบได้ไม่บ่อยในคนที่มีสุขภาพดี เนื่องจากไตสามารถควบคุมการขับแมกนีเซียมออกจากร่างกายทางปัสสาวะได้ อย่างไรก็ตาม ยาบางชนิด และภาวะสุขภาพเรื้อรัง เช่น โรคพิษสุราเรื้อรัง อาจส่งผลต่อภาวะขาดแมกนีเซียม ความต้องการแมกนีเซียมของร่างกาย ยังขึ้นอยู่กับสภาวะโรคด้วย ดังนั้น ปริมาณที่แนะนำให้ได้รับประจำวัน (RDA) ของแมกนีเซียม อาจไม่เพียงพอสำหรับบางคน

อาการเริ่มแรกของภาวะขาดแมกนีเซียม ได้แก่

  • อ่อนเพลีย
  • ไม่มีแรง
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน

หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะขาดแมกนีเซียมรุนแรง อาจแสดงอาการดังต่อไปนี้

  • ชา
  • แสบร้อน
  • ตะคริว
  • ชัก
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ

4.ภาวะขาดโพแทสเซียม

โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่ทำหน้าที่เป็นเกลือแร่ จำเป็นต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อ การทำงานของหัวใจ และการส่งสัญญาณประสาท นอกจากนี้ เอนไซม์บางชนิด เช่น เอนไซม์ที่ช่วยเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตเป็นพลังงาน ก็ต้องการโพแทสเซียมเช่นกัน แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม ได้แก่ ผลไม้และผัก เช่น กล้วย อะโวคาโด ผักใบเขียวเข้ม หัวบีท มันฝรั่ง และลูกพลัม แหล่งอาหารที่ดีอีกชนิดหนึ่ง ได้แก่ น้ำส้ม และถั่วต่างๆ

สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของภาวะขาดโพแทสเซียม คือ การสูญเสียน้ำในร่างกายมากเกินไป ตัวอย่างเช่น การอาเจียนเป็นเวลานาน โรคไต หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ อาการของภาวะขาดโพแทสเซียม ได้แก่ ตะคริวและกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการอื่นๆ เช่น ท้องผูก ท้องอืด หรือปวดท้อง อันเกิดจากลำไส้หยุดทำงาน

ภาวะขาดโพแทสเซียมรุนแรง อาจทำให้กล้ามเนื้ออัมพาต หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

5.ภาวะขาดสังกะสี

สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมต่างๆ ในร่างกาย มีหน้าที่สำคัญ ดังนี้

  • ช่วยในการสังเคราะห์โปรตีน
  • เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
  • ช่วยให้แผลหายเร็ว
  • จำเป็นต่อการสังเคราะห์ DNA

นอกจากนี้สังกะสียังมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการในช่วงตั้งครรภ์ วัยเด็ก และวัยรุ่น

แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสี ได้แก่ อาหารทะเล เช่น หอยนางรม เนื้อแดง และสัตว์ปีก แหล่งอาหารที่ดีอีกชนิดหนึ่ง ได้แก่

  • ถั่วต่างๆ
  • ถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ เกาลัด เม็ดมะม่วงหิมพานต์
  • ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต
  • ผลิตภัณฑ์นม

ภาวะขาดสังกะสี อาจทำให้เบื่ออาหาร รับรส หรือรับกลิ่นไม่ได้ ส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้การเจริญเติบช้าลง ภาวะขาดสังกะสีรุนแรง ยังส่งผลให้เกิดอาการท้องเสีย ผมร่วง และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อีกทั้งยังทำให้แผลหายช้าอีกด้วย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook