"ภาวะดื้ออินซูลิน" คืออะไร มีอาการอย่างไร เช็กซิคุณเข้าข่ายหรือเปล่า
ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) เป็นภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อ อินซูลินฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้น้อยลงส่งผลให้อินซูลินทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ร่างกายจึงต้องผลิตอินซูลินเพิ่มมากขึ้นเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
อันตรายของภาวะดื้อต่ออินซูลิน
- เพิ่มความเสี่ยง ของโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- เพิ่มความเสี่ยง ของโรคหัวใจและหลอดเลือด
- เพิ่มความเสี่ยง ของโรคความดันโลหิตสูง
- เพิ่มความเสี่ยง ของโรคไขมันในเลือดผิดปกติ
น่ากังวลคือภาวะดื้อต่ออินซูลินมักไม่มีอาการที่ชัดเจน ดังนั้นการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ โดยแพทย์ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
กลุ่มเสี่ยงของภาวะดื้อต่ออินซูลิน
- บุคคลที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน โดยเฉพาะไขมันสะสมบริเวณหน้าท้อง
- บุคคลที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
- บุคคลที่มีความดันโลหิตสูง
- บุคคลที่มีไขมันในเลือดผิดปกติ
- บุคคลที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย
สาเหตุของภาวะดื้อต่ออินซูลิน
สาเหตุหลักของภาวะดื้อต่ออินซูลิน คือระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน
กลไกเป็นดังนี้
- เมื่อรับประทานอาหาร ร่างกายจะย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เปลี่ยนเป็นน้ำตาล (กลูโคส)
- น้ำตาลในเลือดจะกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลิน
- อินซูลินทำหน้าที่ลำเลียงน้ำตาลจากกระแสเลือด เข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน
- หากร่างกายได้รับน้ำตาลจากอาหารมากเกินไป เป็นเวลานาน ตับอ่อนจำเป็นต้องผลิตอินซูลินมากขึ้นเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ภาวะอินซูลินสูงเป็นเวลานาน ส่งผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อ ไขมัน และตับ ทำให้เซลล์เหล่านี้ดื้อต่ออินซูลิน
- เมื่อเซลล์ดื้อต่ออินซูลิน น้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น ร่างกายจำเป็นต้องผลิตอินซูลินเพิ่มมากขึ้น
- วัฏจักรนี้หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ
ภาวะดื้อต่ออินซูลินควรพบแพทย์เพื่อติดตามอาการ
หากคุณมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน สิ่งสำคัญคือการปรึกษาแพทย เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ แพทย์จะตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด หรือ hemoglobin A1c (HbA1c or A1C เป็นประจำเพื่อประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน
อาการเบื้องต้นของโรคเบาหวานได้แก่
- กระหายน้ำมาก
- หิวบ่อยแม้เพิ่งทานอาหารไป
- ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกลางคืน
- รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มตามมือหรือเท้า
- อ่อนเพลียง่ายกว่าปกติ
- ติดเชื้อบ่อย
- ผลเลือดแสดงระดับน้ำตาลในเลือดสูง
นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่เป็นภาวะดื้อต่ออินซูลิน อาจมีภาวะผิวหนังดำด้านซึ่งเป็นลักษณะผิวหนังเป็นปื้นหนาสีคล้ำ มักปรากฏบริเวณท้ายทอย ขาหนีบ และรักแร้ สาเหตุของภาวะผิวหนังดำด้านยังไม่ชัดเจน แต่แพทย์บางท่านเชื่อว่าอินซูลินส่งผลต่อเซลล์ผิวหนังบางชนิดทำให้เซลล์เหล่านี้เจริญเติบโตมากผิดปกติ
ภาวะผิวหนังดำด้านไม่มีทางรักษาหายขาด แต่หากภาวะนี้เกิดจากโรคอื่นแพทย์อาจรักษาโรคดังกล่าวเพื่อให้สีผิวกลับคืนสู่สภาวะปกติ กรณีที่ไม่มีอาการแพทย์มักใช้ผลเลือดในการวินิจฉัยเบาหวานแฝง (prediabetes) หรือโรคเบาหวาน