รู้จัก "เพกา" พืชพื้นบ้าน มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย แก้อาการไอได้ดี

รู้จัก "เพกา" พืชพื้นบ้าน มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย แก้อาการไอได้ดี

รู้จัก "เพกา" พืชพื้นบ้าน มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย แก้อาการไอได้ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพกา หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ ลิ้นฟ้า นับเป็นพืชผักพื้นบ้านที่คนไทยคุ้นเคยกันดีมาช้านาน ด้วยรูปลักษณ์ที่โดดเด่นและสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย ทำให้เพกามีความสำคัญทั้งในด้านอาหารและสมุนไพร

รู้จัก "เพกา" หรือ "ลิ้นฟ้า"

ไม้ยืนต้นชนิดนี้มีลักษณะเด่นคือสูงประมาณ 5-12 เมตร เรือนยอดไม่แผ่กว้างนัก กิ่งก้านค่อนข้างเปราะหักง่าย และแตกออกมาน้อย เมื่อต้นยังอ่อนจะสังเกตเห็นกิ่งใหญ่เพียงกิ่งเดียวตั้งตรงกลางลำต้น เปลือกของลำต้นเรียบลื่น และมีใบเรียงตัวกันเป็นกลุ่มตรงกลางลำต้นคล้ายกับต้นปาล์ม หลังจากที่ต้นไม้ได้ออกดอกแล้ว ลำต้นจะเริ่มแตกแขนงออกไปเป็นกิ่งก้านย่อย ทำให้ทรงพุ่มดูโปร่งและไม่เป็นระเบียบ

เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลเทาอ่อน มีรอยแตกเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยม และรอยแผลเป็นจากใบที่ร่วงหล่น ลำต้นและกิ่งก้านมีรูระบายอากาศกระจายอยู่ทั่วไป ใบของเพกาเป็นใบประกอบแบบขนนก 3 ชั้น มีขนาดใหญ่และยาวมาก โดยใบทั้งหมดจะเรียงตัวเป็นรูปสามเหลี่ยม ใบย่อยมีรูปไข่หรือรูปไข่แกมวงรี ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบหรือมีขนสั้น ๆ สีขาวปกคลุมด้านล่าง ก้านใบมีหลายระดับแตกแขนงออกไป ทำให้ใบดูแผ่กว้าง

ดอกเพกาออกเป็นช่อขนาดใหญ่แบบช่อกระจุกที่ปลายยอด โดยแต่ละช่อจะมีดอกย่อยจำนวนมากประมาณ 20-35 ดอก และมักจะบานพร้อมกันทีละ 2-3 ดอก ก้านช่อดอกยาวและยื่นออกมาจากทรงพุ่ม ทำให้ดอกเด่นชัด ดอกเพกามีขนาดใหญ่ กลีบดอกหนาและมีสีสันสวยงาม โดยเฉพาะบริเวณโคนกลีบดอกที่เป็นหลอดสีม่วงแดงหรือม่วงเข้ม กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปแตรและมีขอบย่น ดอกเพกามีกลิ่นหอมฉุนเฉพาะตัว และมักจะบานในช่วงกลางคืนแล้วร่วงโรยในตอนเช้า ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของดอกไม้ชนิดนี้

นอกจากนี้ดอกเพกายังมีกลีบเลี้ยงที่เชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอก และเมื่อดอกเจริญเป็นผล กลีบเลี้ยงจะแข็งตัวขึ้น เกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียของดอกเพกาก็มีลักษณะที่น่าสนใจ โดยเกสรเพศผู้ติดอยู่กับหลอดดอกและมีขนปกคลุม ส่วนเกสรเพศเมียมีเพียง 1 อัน

ผลเพกา มีรูปร่างแบนยาวคล้ายดาบ โค้งเล็กน้อยบริเวณโคนฝัก และมีสันนูนเล็ก ๆ อยู่สองข้าง ทำให้ฝักมีลักษณะคล้ายลิ้น เมื่อฝักแก่เต็มที่ จะมีสีน้ำตาลเข้มหรือสีแดงเข้ม และห้อยลงมาจากกิ่งก้าน ผลเพกามีขนาดค่อนข้างใหญ่ โดยมีความกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร และยาวถึง 30-120 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่จัด ผิวของฝักจะแตกออกเป็นสองซีกตามยาว

เมล็ดเพกา มีรูปร่างแบน สีขาว และมีปีกบาง ๆ โปร่งแสง ทำให้เมล็ดสามารถปลิวไปตามลมได้ไกล ช่วยในการขยายพันธุ์ พบต้นเพกาได้ตามพื้นที่ป่าเต็งรัง ป่าทุ่ง และป่าผสมผลัดใบ รวมถึงบริเวณไร่และสวน

เพกาออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ทั้งยอดอ่อนและดอกของเพกานำมาประกอบอาหารได้ โดยเฉพาะยอดอ่อนจะมีรสชาติขมเล็กน้อย นิยมนำมาลวกจิ้มน้ำพริกรับประทาน ส่วนดอกเพกาก็สามารถนำมาลวกกินเป็นผักได้เช่นกัน

ฝักเพกาอ่อนที่มีรสขมก็สามารถนำมาประกอบอาหารได้เช่นกัน แต่ต้องผ่านการทำให้รสขมลดลงก่อน โดยนำฝักไปเผาไฟให้ผิวไหม้เกรียม จากนั้นขูดเอาส่วนที่ไหม้ออก แล้วนำไปหั่นเป็นฝอยและคั้นน้ำหลาย ๆ ครั้ง เพื่อลดความขมก่อนนำไปปรุงอาหาร เช่น ผัด แกง หรือจิ้มน้ำพริก

สรรพคุณของเพกา

เพกาเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาหลากหลาย โดยแต่ละส่วนของต้นเพกานั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคได้แตกต่างกันไป ดังนี้

สรรพคุณตามตำรายาไทย

  • เมล็ด: ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ เป็นยาระบาย แก้ร้อนใน กระหายน้ำ
  • ฝัก: ทั้งฝักอ่อนและฝักแก่มีรสขม ช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ เจริญอาหาร ระงับไอ ขับลม
  • เปลือกต้นและแก่น: ใช้สมานแผล ดับพิษ แก้ร้อนใน แก้ท้องร่วง บำรุงเลือด แก้น้ำเหลืองเสีย

การใช้เพกาตามประสบการณ์ของแพทย์ในชนบท

  • ตำผสมกับเหล้าโรง: พ่นตามตัวสตรีที่ทนอยู่ไฟไม่ได้
  • ตำผสมน้ำส้มมดแดงและเกลือ: แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้บิด แก้อาเจียน
  • ต้มน้ำดื่ม: แก้เสมะ ขับเลือดเสีย บำรุงโลหิต แก้บิด แก้จุกเสียด
  • ฝนกับเหล้า: กวาดปาก แก้พิษ แก้ซางเด็ก ทาแก้ปวดฝี แก้ฟกบวม
  • ราก: บำรุงธาตุ แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ท้องเสีย ขับเหงื่อ แก้ไข้สันนิบาต
  • ใบ: แก้ปวดท้อง เจริญอาหาร แก้ปวดข้อ
  • ทั้งต้น: สมานแผล แก้อักเสบ แก้ท้องร่วง แก้ไข้ แก้น้ำเหลืองเสีย

สรุป: เพกามีสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย สามารถนำมาใช้รักษาโรคได้หลายชนิด ทั้งโรคภายในและภายนอกร่างกาย เช่น โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคผิวหนัง และโรคอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรเพกาในการรักษาโรคควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย

การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเอทิลอะซิเตต และสารสกัดเมทานอลที่ได้จากดอก และใบเพกา ทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้วิธี agar disc diffusion ทดสอบกับเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียแกรมบวก 2 ชนิด คือ Bacillus subtilis และ Staphylococus aureus และเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ 2 ชนิด คือ Escherichia coli  และ Pseudomonas aeruginosa  ใช้สารสกัดที่ความเข้มข้น 500 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ปริมาณ 20 ไมโครลิตรต่อ disc ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ สารสกัดเอทิลอะซิเตตจากดอก (FE) และใบ (LE) สารสกัดเมทานอลจากดอก (FM ) และใบ (LM) จำนวน 4 ตัวอย่าง สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก คือ S. aureus และ B. subtilis ได้ โดยสาร FE มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย B. subtilis สูงที่สุด ให้ค่าเฉลี่ยบริเวณโซนใสในการยับยั้งเชื้อ (Inhibition zone) เท่ากับ 13.83 ± 2.88 mm สำหรับเชื้อแบคทีเรีย S. aureus สาร LM มีฤทธิ์ยับยั้งได้สูงที่สุดเท่ากับ 13.33 ± 0.70 mm ส่วนแบคทีเรียแกรมลบ P. aeruginosa พบว่าสาร FE และ FM สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย โดยมีค่า Inhibition zoneเท่ากับ 11.00 ± 0.50 และ 7.50 ± 0.50 mm ตามลำดับ นอกจากนี้พบว่ามีเพียงสาร FE เท่านั้นที่สามารถยับยั้งการเจริญของ E. coli ได้ ให้ค่า Inhibition zone เท่ากับ 8.50±0.80 mm โดยสรุปสารสกัดเอทิลอะซิเตดจากดอก มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก และแกรมลบ ได้ทุกชนิดเมื่อเทียบกับสารสกัดอื่น และมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย B. subtilis และ P. aeruginosa สูงสุด (จันทร์เพ็ญ, 2559)

การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดน้ำ และเอทานอล ที่ได้จากผล และเมล็ดเพกา ที่เก็บ หรือซื้อจากจังหวัดนครปฐม และกรุงเทพมหานคร ทำการศึกษาในหลอดทดลอง เชื้อที่ใช้ทำการทดสอบ ได้แก่ Staphylococcus intermedius และ Streptococcus suis  ตรวจสอบโดยใช้วิธี disc diffusionmethod เพื่อหาค่าบริเวณโซนใสในการยับยั้งเชื้อ (zone of inhibition) ใช้ยา amoxicillin/clavulanic acid (AMC) ขนาด 30 µg และยา gentamicin ขนาด10 µg เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากผลเพกา ที่เก็บจาก จ. นครปฐม ในขนาด 1000 mg/ml สามารถยับยั้งเชื้อ S. intermedius และ S. suis ได้ดีที่สุด โดยมีขนาด zone of inhibition เท่ากับ 15.11±2.10 และ 14.39±2.47 mm ตามลำดับ (p<0.05) ยามาตรฐาน AMC มีค่า zone of inhibition ต่อเชื้อ S. intermedius และ S. suis เท่ากับ 24.44±0.73 mm และ 32.56±0.53 mm ตามลำดับ ยามาตรฐาน gentamicin มีค่า zone of inhibition ต่อเชื้อ S. intermedius เท่ากับ 15.00±0.50 mm โดยสรุปสารสกัดเอทานอลจากผลเพกาที่เก็บจาก จ.นครปฐม สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิด ได้ดีที่สุด และสามารถยับยั้งเชื้อ S. intermedius ได้เทียบเท่ากับยามาตรฐาน gentamicin จึงสามารถนำมาพัฒนายารักษาโรคติดเชื้อ S. intermedius ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลันที่ผิวหนัง และโครงสร้างผิวหนัง (acute bacterial skin and skin structure infections) และเชื้อ Streptococcus suis  ทำให้มีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสูญเสียการได้ยิน จนถึงขั้นหูหนวกถาวร ผู้ป่วยบางรายมีอาการข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอักเสบ (cellulitis) ในรายที่มีอาการติดเชื้อในกระแสโลหิตจะมีผลต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต เยื่อบุหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ ลูกตาอักเสบ มีผื่นจํ้าเลือดทั่วตัว และช็อก หลังจากที่หายจากอาการป่วยแล้ว อาจมีความผิดปกติของการทรงตัว และการได้ยิน (Sithisarn, et al., 2016)

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากผล และเมล็ดเพกา ที่เก็บ หรือซื้อจาก จังหวัดนครปฐม และกรุงเทพมหานคร ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assay ใช้ ascorbic acid และ baicalein (สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่แยกได้จากผลเพกา) เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดเพกา ที่ซื้อมาจากกรุงเทพมหานคร มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 26.33±0.84 µg/ml (สารมาตรฐาน ascorbic acid และ baicalein มีค่า IC50 เท่ากับ 3.86±0.12 และ 3.17±0.05 µg/ml ตามลำดับ) (Sithisarn, et al., 2016)

การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทิลอะซิเตต และสารสกัดเมทานอล ที่ได้จากดอก และใบเพกา ทำการศึกษาในหลอดทดลอง ตรวจสอบโดยใช้วิธี TLC DPPH (1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl) assayโดยใช้ เฮกเซน:เอทิลอะซิเตต:เมทานอล (8:2:1)เป็น mobile phase รายงานผลจากการสังเกตตำแหน่งการฟอกจางสี DPPH ที่ค่า Rf ต่าง ๆ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดทั้ง 4 ชนิดให้ผลต้านอนุมูลอิสระ DPPH  โดยสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากที่สุดคือสารสกัดเอทิลอะซิเตตที่ได้จากใบ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระรวม 5 ตำแหน่ง ที่ค่า Rf เท่ากับ 0.09, 0.38, 0.47, 0.70 และ 0.90ตามลำดับ (จันทร์เพ็ญ, 2559)

เอกสารอ้างอิง:

1. จันทร์เพ็ญ โคตรภูธร. การสกัดสารพฤกษเคมี ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดหยาบจากเพกา [วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต]. ชลบุรี, มหาวิทยาลัยบูรพา, 2559.

2. Sithisarn P, Nantateerapong P, Rojsanga P, Sithisarn P. Screening for antibacterial and antioxidant activities and phytochemical analysis of Oroxylum indicum fruit extracts. Molecules. 2016;21:446.

ข้อมูลเครื่องยา                         : phar.ubu.ac.th/herb-thaicrudedrug/

ตัวอย่างพรรณไม้แห้ง               : phar.ubu.ac.th/herb-thaiherbarium/

ข้อมูลตำรับยาเลือดงาม            : phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

ข้อมูลตำรับยาเหลืองปิดสมุทร  :  phar.ubu.ac.th/herb-thairemedy/

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook