"น้อยหน่าสีม่วง" คือน้อยหน่าอะไร เนื้อในสีม่วงหรือเปล่า กินอร่อยไหม
หากมีเวลาไปเดินตลาดช่วงนี้น้อยหน่าเป็นผลไม้ที่ออกวางจำหน่ายตามฤดูกาล ซึ่งนอกจากน้อยหน่าผลสีเขียวอย่างที่คุ้นเคยแล้ว เรายังได้เห็นน้อยหน่าผลสีม่วงสีสันสวยงามวางอยู่ใกล้ๆ กันอีก ว่าแต่เจ้าน้อยหน่าสีม่วงนี้คือน้อยหน่าอะไร แกะแล้วเนื้อด้านในสีม่วงหรือเปล่า เรามาทำความรู้จักกัน
น้อยหน่าสีม่วงคืออะไร
"น้อยหน่าฝ้ายครั่ง" หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ "น้อยหน่าสีม่วง" หรือบางคนก็เรียกน้อยหน่าสีแดง คือหนึ่งในพันธุ์ไม้ผลดั้งเดิมของไทย ที่มีสีสันสะดุดตาและรสชาติหวานหอมเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของคนไทยมาอย่างยาวนาน
สำหรับน้อยหน่าสีม่วงนี้มีทั้งชนิดเนื้อ และหนัง ด้านในเนื้อเป็นสีขาว แต่ส่วนที่ติดกับเปลือกอาจจะมีสีชมพู หรือม่วงปนอยู่ ในด้านรสชาติเหมือนน้อยหน่าทั่วๆ ไป
น้อยหน่าครั่ง อาจมีจำนวนผลบนต้นมากน้อยไม่แน่นอนในแต่ละปี เพราะว่ามีน้อยหน่าทั้ง2แบบปนกันอยู่บนต้นเดียวกัน สัดส่วนของทั้ง2ชนิดไม่แน่นอน ซึ่งบ่งบอกให้ทราบว่าการกลายพันธุ์แบบนี้เป็นแบบไม่ถาวร หมายความว่าน้อยหน่าครั่งอาจกลับกลายมาเป็นชนิดเขียวแบบเดิมได้อีก ซึ่งลักษณะแบบนี้พบเห็นในพืชหลายชนิด
สรรพคุณของน้อยหน่าสีม่วง
เปลือกผลของน้อยหน่าครั่ง มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) เป็นรงควัตถุที่พบในพืชทั้งในดอกและในผลของพืช ที่มีสีแดง น้ำเงิน หรือม่วง เป็นสารที่ละลายในน้ำได้ดี มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของลิโปโปรตีน และการตกตะกอนของเกล็ดเลือด ทำให้แอนโทไซยานินมีบทบาทในการป้องการการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน จากเหตุผลนี้ทำให้เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาผู้บริโภคนิยมบริโภคผักผลไม้ที่มีสีม่วง ทำให้หลายสวนหันมานิยมปลูกน้อยหน่าครั่ง แต่ก็ชั่วระยะเวลาสั้นๆผู้บริโภคก็ลืมเรื่องแอนโทไชยานิน เมื่อได้เวลาน้อยหน่าครั่งออกผลผลิตมามากก็ขายได้ยาก อีกทั้งผู้บริโภคเพิ่งมาทราบภายหลังว่าเนื้อของน้อยหน่าครั่งไม่ได้เป็นสีครั่งหรือสีม่วงเข้มเหมือนเปลือกของมัน แล้วเปลือกมันก็กินไม่ได้
การปลูกน้อยหน่าสีม่วง
การปลูก“น้อยหน่าครั่ง” ก็เหมือนการปลูกน้อยหน่าชนิดเดิม เติบโตได้ในดินร่วนปนทราย ทนแล้งได้ดี ชอบแดดจัด ชอบที่ดอน น้ำไม่ท่วมขัง ใช้ปุ๋ยตามอัตราที่เหมาะสม ต้องการการตัดแต่งอย่างหนัก(heavy pruning) เพื่อกระตุ้นการออกดอกติดผล ป้องกันกำจัดศัตรูของผลอย่างพิถีพิถัน มิฉะนั้นจะไม่ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ