"ผักปู่ย่า" ผักพื้นบ้านชื่อแปลก แต่คุณค่าอาหารสูง มีสารยับยั้งการสร้างเซลล์มะเร็ง
ผักพื้นบ้านในบ้านเรานั้นมีมากมายหลายชนิด โดยแต่ละชนิดอาจมีชื่อแปลกๆ น่าสนใจ อย่างผักปู่ย่าเอง ก็เป็นผักพื้นบ้านชื่อแปลก แต่ผักปู่ย่านั้นกลับมีสรรพคุณโดดเด่นมากมายเลยทีเดียว
เพจอุทยานผักพื้นบ้านเพื่อการยังชีพเฉลิมพระเกียรติบึงฉวาก ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผักปู่ย่าว่า
ผักปู่ย่าเป็นชื่อพื้นเมืองภาคเหนือ จากการศึกษาพบว่าผักชนิดนี้ชาวเหนือและชาวอีสานรับประทานเป็นผัก ชาวบ้านนิยมรับประทาน และมีจำหน่ายในตลาดสด ชาวเหนือมีตำนานเล่าเรื่องสั้นต่อกันมาว่า มีสองเฒ่าสามีและภรรยาเดินไปทำนา ระหว่างทาง ทั้งสองได้พักรับประทานอาหารกลางวัน และได้เหลือบไปเห็นไม้นี้เข้าจึงได้เด็ดยอดมาจิ้มน้ำพริกรับประทาน หลักจากรับประทานผักนี้เข้าไปรู้สึกว่ามีแรงมีพละกำลังเพิ่มขึ้น จึงทำให้เรื่องนี้เล่าลือกันต่อมา ทำให้คนรุ่นหลังรู้จักและเก็บผักนี้มารับประทานต่อกันเรื่อยมา และชาวบ้านจึงเรียกผักนี้เพื่อระลึกถึงผู้ที่เริ่มรับประทานก่อนว่า “ผักปู่ย่า”
ส่วนชาวอีสานเรียกผักนี้ว่า “ผักกาดย่า”ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ผักปู่ย่าเป็นไม้เถา ลำต้นตั้งตรงหรือเลื้อยพันต้นไม้อื่น สูงมากกว่า 1 เมตร ลำต้นมีหนามแหลมมากมายทั้งลำต้น ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเป็นคู่ข้ามกัน ก้านใบยาว 25-40 ซม. ใบย่อยมี 10-30 คู่ และแตกออกไปอีก 10-20 คู่ กว้าง 4 มม. ก้านใบสีแดง มีหนามแหลมตามกิ่งก้านทั่วไป ดอกเป็นดอกช่อยาว 20-40 ซม. ดอกสีเหลืองดอกบานในช่วงฤดูหนาว ดอกยาว 1.2-2 ซม. กว้าง 1-1.8 ซม. ลักษณะเป็นแผ่นแบนและปลายเรียวแหลม ผลเป็นฝัก ขนาดเท่าหัวแม่มือ ภายในมีเมล็ด 2 เมล็ด ใบและช่อดอกมีกลิ่นฉุนรุนแรง คล้ายกลิ่นแมงกะแท้หรือแมงดา ชาวบ้านว่าผักปู่ย่ามีกลิ่นหอมนวลน่ารับประทาน การปลูก ผักปู่ย่าพบขึ้นในแหล่งธรรมชาติ บริเวณเป็นป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าผสม ผลัดใบและบริเวณชายป่า ที่รกร้าง ชอบขึ้นรวมกับต้นไม้อื่นๆ ขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด
ส่วนที่เป็นผัก/ฤดูกาล ยอดอ่อน ใบอ่อนและดอกของผักปู่ย่ารับประทานเป็นผักได้ ยอดอ่อนและใบอ่อนผลิออกในช่วงฤดูฝน ส่วนดอกพบในฤดูหนาว (เดือนตุลาคม-เดือนกุมภาพันธ์) การปรุงอาหาร ชาวเหนือรับประทาน ยอดอ่อน ใบอ่อนของผักปู่ย่าเป็นผักสดกับน้ำพริก หรือซอยใส่กับลาบ ส่วนดอกและยอดอ่อนนำไปปรุงเป็น “ส้าผัก” ได้ โดยปรุงร่วมกับมะเขือแจ้ ยอดมะม่วงและเครื่องปรุงรสหลายชนิด รสของยอดอ่อนและดอกมีรสเปรี้ยว ฝาดเผ็ดร่วมกัน
ยอดอ่อนและดอก มีรสเปรี้ยว ฝาดเผ็ดร่วมกัน จึงมีสรรพคุณ บ ารุงเลือด แก้วิงเวียน และจากรายงานผลการวิจัยที่ค้นพบ พบว่าในผักพื้นบ้านประเภทนี้มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงจึงมีสรรพคุณในการลดหรือยับยั้งการสร้างเซลล์มะเร็งได้ดี
ข้อมูลจากหนังสือ ผักพื้นบ้าน : ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชนไทย สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข