ยูนิเซฟปล่อยแคมเปญ #CountMeIn “โลกรวน เด็กเดือดร้อน รับฟังเสียงเด็ก”
ยูนิเซฟ ประเทศไทย เปิดตัว แคมเปญ #CountMeIn “โลกรวน เด็กเดือดร้อน รับฟังเสียงเด็ก” เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเด็กและเยาวชน โดยธีมของแคมเปญ "เสียงของเด็ก เล่าจากเด็ก ลงมือทำโดยเด็ก" เน้นย้ำถึงความสำคัญในการรับฟังเสียงของเด็กและเยาวชนเมื่อโลกเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
แคมเปญ #CountMeIn ได้จัดทำชุดเรื่องราวภาพถ่ายที่สะท้อนประสบการณ์ของเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทยล่าสุด โดยเผยให้เห็นถึงความท้าทายที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ แคมเปญยังเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนบอกเล่า เรื่องราวชีวิตจริงของพวกเขา ผ่านสิ่งสำคัญในชีวิตที่หายไปจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เช่น เยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่ที่ต้องสูญเสียแม่จากโรคมะเร็งปอด ซึ่งเป็นผลมาจากมลพิษทางอากาศ PM2.5 ที่เลวร้ายลง หรือเด็กในชุมชนขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ ที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียบ้านถึงสามครั้งจากพายุที่รุนแรงขึ้น ขณะเดียวกัน เยาวชนที่สนใจในการถ่ายภาพสัตว์ป่าได้สังเกตเห็นการสูญหายและลดลงของชนิดพันธุ์สัตว์ป่า ในขณะที่เด็กชายจากจังหวัดยะลาต้องสูญเสียอุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียนและที่ถูกน้ำท่วมพัดหายไปเมื่อปีที่แล้ว
อลิสา ผลไธสง วัย 19 ปี นักกิจกรรมในชุมชนขุนสมุทรจีน ซึ่งย้ายบ้านมาแล้ว 3 ครั้งจากพายุ กล่าวว่า "สภาพอากาศในปัจจุบันดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มันรู้สึกเหมือนครอบครัวของเราต้องทำงานหาเงินเพื่อเตรียมพร้อมที่จะสร้างบ้านใหม่ไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ว่าภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่"
อลิสาเติบโตในชุมชนชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับพ่อแม่ของเธอ เธอได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและสุดขั้ว การกัดเซาะในชุมชนขุนสมุทรจีนได้กลืนที่ดินไปถึงหนึ่งกิโลเมตรและทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถอยู่อาศัยได้เนื่องจากน้ำท่วมบ่อยครั้งและรุนแรง "หนูไม่แน่ใจว่าลูกสาวของหนูจะสามารถอาศัยอยู่ที่นี่ได้หรือเปล่าเมื่อเธอโตขึ้น"
นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ปัญหา โดยกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อชีวิตเด็กในทุกด้าน แต่เสียงของพวกเขากลับเป็นสิ่งที่ได้ยินน้อยที่สุด แคมเปญ #CountMeIn ไม่เพียงแค่สร้างความตระหนักถึงผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเด็ก ๆ เท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นที่จะทำให้มุมมองของเด็ก ๆ ถูกรับฟังและเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ เราต้องไม่ลืมว่าอนาคตที่เรากำลังสร้างนั้นเป็นของพวกเขา และเป็นความรับผิดชอบของเราที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน”
เมื่อเดือนที่แล้ว ยูนิเซฟร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมและภาคีเครือข่าย เปิดตัว 'คู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ” ซึ่งเป็นข้อมูลที่เข้าใจง่ายและมีกิจกรรมสำหรับครูและนักเรียนในการเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คู่มือ ABC นี้จะถูกแจกจ่ายไปยังโรงเรียนทั่วประเทศไทย เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร และพวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม
แคมเปญ #CountMeIn นี้ยังมีเซเลปบริตี้และอินฟลูเอนเซอร์มากมายมาร่วมกิจกรรม เช่น พอลล่า เทย์เลอร์ Friend of UNICEF ได้ทำวิดีโอสั้นพูดคุยกับลูก ๆ ของเธอถึงความสำคัญของอากาศสะอาดและท้องฟ้าสดใส ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ใบตอง จรีรัตน์ เพชรโสม และก้อง กรีนกรีน ก็ได้ลงพื้นที่กับยูนิเซฟเพื่อรับฟังเสียงของเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในจังหวัดขอนแก่นและสมุทรปราการ
ในเดือนกันยายนนี้ แคมเปญ #CountMeIn จะมีการจัดทำโพลเพื่อสำรวจความคิดเห็น ความต้องการ และคำแนะนำของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจะมีการจัดประชุมหารือกับเยาวชน ซึ่งนำโดยคณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชนของยูนิเซฟ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะของเยาวชนเพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อนการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 หรือ COP29 จะจัดขึ้นประเทศอาเซอร์ไบจานในเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ ยูนิเซฟยังสนับสนุนให้ตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมการประชุม COP29 เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีบทบาทสำคัญในการพูดคุยเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และให้ผู้ใหญ่หันมารับฟังและรวมเด็ก ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ปัญหานี้
"เราหวังว่าแคมเปญนี้จะช่วยส่งเสริมความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเด็กและเยาวชน” สิปโปทัย เกตุจินดา วัย 23 ปี หนึ่งในตัวแทนเยาวชนไทยที่จะเดินทางไปร่วมประชุม COP29 กล่าว “แม้ว่าเด็กและเยาวชนจะเป็นผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ารุ่นผู้ใหญ่ แต่พวกเขาจำเป็นต้องมีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศด้วย เพราะพวกเขามีทั้งพลังกาย พลังใจ และสามารถมองเห็นวิธีแก้ไขปัญหาเก่า ๆ ในมุมมองใหม่ ๆ ได้"
หมายเหตุถึงบรรณาธิการ:
เด็กมีความเปราะบางเป็นพิเศษต่อภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทของพวกเขายังอยู่ในช่วงพัฒนา และพวกเขาพึ่งพาผู้ใหญ่ในการปกป้องและดูแล สถิติบางส่วนเหล่านี้สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหา
- ทุกปีมีเด็ก 40 ล้านคนทั่วโลก ต้องขาดเรียนหรือหยุดเรียนเนื่องจากภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
- ทุก ๆ 1 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้นร้อยละ 5
- ในปี 2564 มลพิษทางอากาศทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ล้านคนทั่วโลก และกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ของการเสียชีวิตทั่วโลก รวมถึงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยในแต่ละวัน มีเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีเกือบ 2,000 คนเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ เช่น PM 2.5
- ปัจจุบันเด็กกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนถี่ขึ้น โดยจะเพิ่มเป็น 2 พันล้านคนในปี 2593
- ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 163 ประเทศที่เด็กมีความเสี่ยงสูงสุดต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปี 2563 เด็กไทย 3 ใน 4 คน หรือราว 3 ล้านคนเผชิญกับคลื่นความร้อนถี่ขึ้น และหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ เด็กแทบทุกคนในประเทศไทยจะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนถี่ขึ้นและยาวนานขึ้นในปี 2593
- จากเงินทุนทั่วโลกด้านการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีแค่เพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่มุ่งตอบสนองความต้องการของเด็ก
- ยูนิเซฟทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐบาล ภาคธุรกิจ และผู้มีอำนาจตัดสินใจเร่งปกป้องเด็ก ๆ จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น โดยปรับบริการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก และเตรียมความพร้อมให้เด็ก ๆ สามารถใช้ชีวิตในสภาวะของโลกที่เปลี่ยนไป ตลอดจนจัดสรรงบประมาณในการแก้ปัญหาด้านนี้ที่ให้ความสำคัญกับเด็ก