6 โรคที่ผู้หญิงมักเป็นบ่อย ภัยเงียบที่ต้องหมั่นตรวจเช็กก่อนสาย
ร่างกายของผู้หญิงแตกต่างจากผู้ชาย และระบบต่าง ๆ อาจมีความซับซ้อนมากกว่าอีกด้วย ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกันไปในผู้หญิงแต่ละคน เพราะโรคบางชนิดอาจพบได้บ่อย และโรคบางชนิดอาจไม่มีอาการชัดเจนที่สังเกตได้ง่าย การเข้ารับตรวจสุขภาพของเพศหญิงประจำปีจึงมีความสำคัญอย่างมาก แต่ถ้าสาว ๆ ยังไม่มีเวลา แนะนำลองสังเกต 6 ปัญหาสุขภาพที่ผู้หญิงมักพบได้บ่อย เพื่อหาเวลามาตรวจกับแพทย์และรักษาได้ทันเวลาก่อนลุกลามหนัก ตามนี้
6 ปัญหาสุขภาพที่ผู้หญิงมักพบได้บ่อย
1.PCOS
โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ Polycystic Ovary Syndrome: PCOS เป็นโรคทางฮอร์โมนที่มักพบในผู้หญิงวัยรุ่นหรือผู้ที่ยังไม่ถึงวัยหมดประจำเดือน สาเหตุที่แน่ชัดของโรคยังไม่ชัดเจน แต่มีเบาะแสบางอย่างที่นำไปสู่การตกไข่ไม่ปกติ คือ การฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป และภาวะดื้อต่ออินซูลิน ส่งผลให้รังไข่ขยายใหญ่ขึ้นและมีซีสต์ผิดปกติขึ้นมาหลายจุด โดยปกติ รังไข่จะมีซีสต์เล็ก ๆ ไม่กี่ซีสต์ แต่ผู้หญิงที่เป็นโรค PCOS จะมีซีสต์ผิดปกติจำนวนมากกระจายตัวอยู่ อาการที่ได้มาก คือ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนมาไม่บ่อย หรือไม่มีประจำเดือน และอาจประจำเดือนมายาวนานเกินไป น้ำหนักขึ้น และสัญญาณของฮอร์โมนเพศชายมากเกิน เช่น มีสิวเห่อ ผิวมัน ผมขึ้นและร่วงมากเกินไป หรือศีรษะล้าน หากไม่ได้รับการรักษา PCOS อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาในอนาคตค่ะ
2.กระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน คือ ภาวะที่กระดูกสูญเสียมวลเร็วกว่าที่จะสร้างใหม่ได้ ส่งผลให้กระดูกมีความแข็งแรงน้อยลง โรคนี้มักพบในผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของโรคกระดูกพรุน คือ อายุที่เพิ่มขึ้น พันธุกรรม ระดับแคลเซียมในร่างกายต่ำ การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และโรคเรื้อรังบางชนิด เพื่อลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกเป็นประจำนะคะ
3.ออโตอิมมูน
โรคภูมิต้านคุ้มกันทำลายตนเอง หรือที่เรียกอีกอย่างว่าออโตอิมมูน เป็นกลุ่มอาการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดีมาโจมตีเซลล์และเนื้อเยื่อของตัวเอง พบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายหลายเท่าเลยค่ะ ส่วนสาเหตุก็ยังคงไม่ชัดเจน แต่อาจมาจากพันธุกรรม ปัจจัยด้านฮอร์โมน และอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมก็มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาของโรคได้ด้วย
4.ซึมเศร้า
ภาวะซึมเศร้า เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทุกเพศทุกวัย แต่มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยมักเกิดขึ้นบ่อยถึง 2 เท่า สาเหตุของภาวะซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติ หรือความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง เช่น นอร์เอพิเนฟริน โดปามีน และเซโรโทนิน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ จากการเลี้ยงดู ความเครียดสะสม เกิดเหตุการณ์สำคัญด้านไม่ดีในชีวิต และประวัติครอบครัวที่มีภาวะซึมเศร้ามาก่อนแล้ว ผู้ที่ประสบกับภาวะซึมเศร้าควรเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ ซึ่งอาจต้องใช้ยา การบำบัด หรือทั้ง 2 การรักษาร่วมกัน
5.ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ คือ การติดเชื้อตั้งแต่กระเพาะปัสสาวะไปจนถึงไต สาเหตุหลัก คือ แบคทีเรียค่ะ โดยผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีท่อปัสสาวะที่สั้นกว่า ทำให้แบคทีเรียเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายมาก พร้อมเกิดปัจจัยต่าง ๆ เช่น การใช้สายสวนปัสสาวะและระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอีกด้วย
6.มะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงไทย และสามารถเกิดกับผู้ชายได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่า มะเร็งชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากเซลล์ผิดปกติในเนื้อเยื่อเต้านม ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียงได้ ทั้งยังสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวัย แต่ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้น และมีปัจจัยเสี่ยงบางประการ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้หญิงทุกคน โดยผู้หญิงวัย 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน ส่วนผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเต้านมโดยแพทย์เป็นประจำทุกปีค่ะ
ปัญหาสุขภาพที่ผู้หญิงต้องเผชิญในปัจจุบัน มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึงให้มากค่ะ และโรคต่าง ๆ ที่พบได้ทั่วไปในผู้หญิงจำนวนมาก จำเป็นต้องได้รับการตรวจคัดกรองเป็นประจำ เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาด การดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ การตรวจสุขภาพประจำปี และมาตรการป้องกัน มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาสุขภาพของผู้หญิงและป้องกันไม่ให้เกิดโรคขึ้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง เพื่อช่วยให้ผู้หญิงห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บและหาวิธีป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค