"กิ้งกือ" อันตรายที่สุดตรงจุดไหน ทำไมถึงต้องระวัง
ในช่วงฤดูฝนแบบนี้ กิ้งกือเป็นสัตว์ที่พบได้บ่อยในสถานที่ต่างๆ ทั้งบ้าน สวนสาธารณะ ฯลฯ หลายคนอาจไม่ชอบกิ้งกือ และพยายามกำจัดด้วยวิธีต่างๆ แม้กิ้งกือไม่กัด แต่มีพิษ และนี่คือสิ่งที่ต้องระวัง
กิ้งกืออันตรายที่สุดตรงไหน
กิ้งกือแม้จะไม่กัด แต่มีสารพิษอยู่ที่ตัว เมื่อสัมผัสโดน อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังได้ เช่น ผื่นแดง หรือหากเข้าตาอาจทำให้ตาอักเสบ สารพิษของกิ้งกือมีไว้เพื่อป้องกันตัวจากศัตรู เช่น มด หรือแมลง
นอกจากนี้แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิ้งกือบางสายพันธุ์เท่านั้นที่จะมีต่อมพิษอยู่ตลอดสองข้างลำตัวสามารถฉีดสารพิษพุ่งออกไปได้ไกล สารพิษมีลักษณะเป็นของเหลวใสไม่มีสี ประกอบด้วยสารกลุ่มไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ฟีนอล (Phenol) กลุ่มเบนโซควินิน และไฮโดรควิโนน (Benzoquinones/hydroquinones) มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังไหม้ แผลไหม้ มีอาการปวด 2-3 วัน รวมทั้งการระคายเคืองร่วมด้วย ทั้งนี้ หากถูกพิษของกิ้งกือให้ล้างด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด ทายาแก้อักเสบ โดยทั่วไปอาการมักจะหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาอักเสบ ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดและรีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการอักเสบของตาที่อาจเพิ่มมากขึ้น