แพทย์เตือน "ไอกรน" โรคอันตราย แพร่ระบาดง่าย เด็กเสี่ยงถึงชีวิต
แพทย์เตือน "ไอกรน" โรคอันตราย แพร่ระบาดง่าย เด็กเสี่ยงถึงชีวิต ส่วนผู้ใหญ่แม้ปลอดภัยแค่คือพาหะนำโรค
จากกรณีโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ประกาศหยุดการเรียนหลังพบโรค “ไอกรน” ระบาด นายแพทย์รีบเตือนไม่ควรประมาทและทุกคนควรรู้จักโรคไอกรนเพราะเป็นอันตรายในเด็กโดยมีผู้ใหญ่เป็นพาหะนำโรค
โรคไอกรน คืออะไร
นายแพทย์วีรพันธ์ สุวรรณนามัย หรือ หมอวี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคสมองและระบบประสาท โพสคลิปเป็นสาธารณะผ่านเฟสบุก Veerapun Suvannamai อธิบายถึง โรคไอกรน ว่ามีความสำคัญอย่างมาก ด้วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ไม่ใช่ไวรัสเหมือนไข้หวัดใหญ่ทั่วไป แต่เป็นโรคระบาดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Bordetella pertussis สามารถติดกับคนทุกวัย แต่ในผู้ใหญ่มักไม่รุนแรง แต่หากติดเชื้อในเด็กมีโอกาสเสียชีวิตได้
“ถ้าติดเชื้อในผู้ใหญ่ต้องบอกว่าไม่รุนแรงมาก แต่ถ้าเป็นเด็กเสียชีวิตได้นะครับ เพราะฉะนั้นสำคัญจริงๆ” หมอวีกล่าว
ไอแบบวู้ป แพร่กระจายสูง
หมอวีอธิบายต่อว่า “การแพร่กระจายแบคทีเรียในโรคไอกรน แพร่ได้ง่ายมาก คนที่เป็นไอกรน 1 คน จะกระจายไปให้คนอื่นได้ถึง 13 - 15 คน ซึ่งถือว่าเป็นการกระจายที่เยอะมาก และรวดเร็วด้วย"
"อาการของโรคไอกรน เริ่มต้นจะมีไข้ต่ำ น้ำมูกไหลเล็กน้อย เจ็บคอ ไอเล็กน้อย แต่อาการจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และจะมีการไอลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า Whooping cough ก็คือมีการหายใจเอาอากาศเข้าไปแล้วก็ไอออกมาเป็นชุด (มีเสียงวู้ปจากการหายใจเข้าแล้วก็ไอออกหลายครั้ง) ถ้าไอลักษณะนี้ต้องรีบต้องรีบไปตรวจ"
"โรคไอกรน ถ้าเป็นผู้ใหญ่อาจจะไม่อันตราย แต่ถ้าผู้ใหญ่คือผู้ที่ตั้งครรภ์หากติดเชื้อโรคนี้รุนแรงเป็นอันตรายต่อเด็กในท้องได้ หรือถ้ามีเด็กเล็กๆ ภายในบ้านก็เป็นอันตรายนะครับ” คุณหมอย้ำ
วิธีป้องกันโรคไอกรน
คุณหมออธิบายต่อว่า วิธีป้องกันโรคไอกรนที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งในเด็กพวกเรามักจะได้รับการฉีดมาแล้วคือวัคซีนที่รวมสามตัว คือ โรคไอกรน โรคบาดทะยัก และโรคคอตีบ ในผู้ใหญ่เป็นวัคซีนอีกชนิดแต่ป้องกันทั้งสามโรคนี้เช่นกัน เป็นวัคซีนที่ทุกคนควรฉีดป้องกัน และควรฉีดวัคซีนทุก 10 ปีเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หากสงสัยควรรีบพบแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการ
ไอกรนไม่ใช่หวัด
หมอวีอธิบายต่อว่า คนเป็นโรคไอกรนจะคล้ายคนเป็นหวัด เพราะฉะนั้นบางคนอาจจะนึกว่าตัวเองเป็นหวัดแล้วก็จะรักษาตามอาการ แต่โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย เพราะฉะนั้นการรักษาจะต้องกินยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะกลุ่ม อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ซึ่งเป็นยาที่ค่อนข้างเฉพาะ
เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่เป็นหวัดมีไข้ในช่วงนี้ ถ้าเป็นไปได้อยากให้รีบไปตรวจวินิจฉัยโรคนี้ตั้งแต่ต้น เพื่อรับยาปฏิชีวนะอย่างมีประสิทธิภาพจะมีโอกาสที่จะหายได้อย่างรวดเร็ว
“ไอกรนเป็นโรคที่มีความสำคัญ เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อยเป็นอะไร แต่ว่าเราจะเป็นพาหะที่เอาเชื้อโรคไปติดเด็กเล็กๆ ในบ้านได้ เพราะฉะนั้นทุกคนควรรู้จักและป้องกันโรคนี้นะครับ” หมอวีกล่าวทิ้งท้าย