แพทย์จุฬาฯ เผย ทำไมเวลา 4.30 ชม. จึงสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke

แพทย์จุฬาฯ เผย ทำไมเวลา 4.30 ชม. จึงสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke

แพทย์จุฬาฯ เผย ทำไมเวลา 4.30 ชม. จึงสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากงานแถลงข่าวการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างบริษัทเบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ (ไทย) จำกัด กับคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโครงการ " Chula Stroke Academy : The Stroke Excellence สโตรค โรคหลอดเลือดสมอง รู้ เร็ว รอด" ได้มีการเปิดเผยข้อมูลว่า

โรคหลอดเลือดสมองถือเป็นภัยด้านสุขภาพใกล้ตัวที่ไม่อาจมองข้ามได้ และเป็นเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทย โดยในปี 2567 (ข้อมูลจากระบบรายงานฐานข้อมูลสุขภาพ (HDC)กระทรวงสาธารณสุขปี 2567) พบว่าในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองไปแล้วกว่า 39,086 ราย และมียอดผู้ป่วยสะสมราว 358,062 ราย

จากการเสวนาในหัวข้อ "ก้าวต่อไปของการดูแลและรักษาโรคหลอดเลือดสมอง (Advance Stroke care in Thailand) มีรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองคือเป็นโรคที่ "รู้ เร็ว รอด" ดังนั้นผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ฉับไว เฉียบพลันภายในเวลา 4.30 ชม.



ทำไมต้องภายในเวลา 4.30 ชม.? และเริ่มนับจากเวลาใด ต่อประเด็นนี้อ.นพ.วสันต์ อัครธนวัฒน์ แพทย์สาขาประสาทวิทยา ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้มีการเปิดเผยว่า

"การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะต้องแข่งขันกับเวลา โดยหากพบว่ามีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น "พูดลำบาก ปากตก ยกแขนขาไม่ขึ้น" ต้องรีบนำส่งแพทย์ภายในเวลา 4.30 ชม.เพื่อเข้าสู่การรักษา Stroke Fast Track โดยจะต้องมีการให้ยาละลายลิ่มเลือดภายในเวลา 4.30 ชม. โดยนับตั้งแต่นาทีแรกที่ผู้ป่วยมีอาการ จนถึงเวลาที่แพทย์ทำการรักษา

สำหรับใครที่ตื่นนอนขึ้นมาแล้วมีอาการบ่งชี้ดังที่กล่าวมาให้นับตั้งแต่เวลาเข้านอนเป็นชั่วโมงเริ่มต้น เนื่องจากในระหว่างนอนเราไม่สามารถทราบได้ชัดเจนว่าอาการเกิดขึ้นเมื่อไร สาเหตุที่เวลาเป็นสิ่งสำคัญเพราะเวลาเป็นตัวกำหนดวิธีการรักษา"


โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกวัยต้องได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ฉับไว เฉียบพลัน หากไม่ได้รับการรักษาภายในเวลาอันรวดเร็วเนื้อสมองจะตายไปทุกๆ วินาทีที่ผ่านไป ดังนั้นถ้าเรารักษาช้าจะพิการเหลืออยู่เยอะ หรือเสียชีวิต แต่ถ้าเรารักษาเร็วคนไข้ก็จะรอดชีวิต หรือกลับมาเป็นปกติได้เลย

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองมีดังนี้

-เป็นโรคเบาหวาน
-เป็นโรคความดันโลหิตสูง
-เป็นโรคไขมันในเลือดสูง
-หัวใจเต้นผิดจังหวะ

หากเป็นโรคเหล่านี้ก็มีโอกาสเสี่ยงที่ในอนาคตจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

ดังนั้นหากสังเกตตนเอง หรือคนใกล้ตัวแล้วพบอาการบ่งชี้สำคัญต่างๆ เช่น "พูดลำบาก ปากตก ยกแขนขาไม่ขึ้น" ให้รีบไปพบแพทย์หรือนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด รวมถึงสามารถติดต่อสายด่วนป่วยฉุกเเฉิน 1669 ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook