เปิดเมนูผู้ป่วยเบาหวาน เคยน้ำตาลสูง 700 ช็อกเข้า ICU ปัจจุบันคุมน้ำตาลได้ด้วยตัวเอง

เปิดเมนูผู้ป่วยเบาหวาน เคยน้ำตาลสูง 700 ช็อกเข้า ICU ปัจจุบันคุมน้ำตาลได้ด้วยตัวเอง

เปิดเมนูผู้ป่วยเบาหวาน เคยน้ำตาลสูง 700 ช็อกเข้า ICU ปัจจุบันคุมน้ำตาลได้ด้วยตัวเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของการผลิตหรือการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา โรคเบาหวานสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต เป็นต้น เมื่อป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้ว การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมและป้องกันโรคเบาหวาน เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ป่วยเบาหวาน คุณอุปการ จีระพันธุ เลขานุการ ชมรมเบาหวาน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาจารย์พิเศษ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา +อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ภายในระเวลาไม่ถึง 1 ปี จากที่เดิมทีตรวจสุขภาพทุกปีและไม่พบค่าน้ำตาลเกินเกณฑ์

 

ค่าน้ำตาลพุ่งภายในเวลา 10 เดือน

โดยปกติคุณอุปการ จีรพันธุ มีวินัยในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ด้วยการเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ในปี 2562 เดือนกุมภาพันธ์ก็มีการเข้ารับการตรวจสุขภาพดังเช่นทุกปี ในตอนนั้นค่าน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันค่าน้ำตาลในเลือดกลับพุ่งไปถึง 700 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งถือว่าน้ำตาลในเลือดสูงมาก และกลายเป็นผู้ป่วยเบาหวานทั้งๆ ที่ไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยง

"สัญญาณเตือนตอนนั้นคือปัสสาวะถี่ กลั้นไม่ได้ น้ำหนักลด ซึ่งเราไม่รู้ว่านั่นคือสัญญาณของเบาหวาน เพราะที่ผ่านมาเราไม่มีภาวะเสี่ยง เราเลยไม่ค่อยสนใจ พฤติกรรมปกติไม่ได้ทานหวานมาก แต่คาดว่าช่วงนั้นผมต้องเดินทางไปสอนหนังสือที่พัทยา ไปเช้า-เย็นกลับ ขับรถกลัวง่วงก็เลยกินกาแฟ ขนาดเราบอกให้หวานน้อยแล้ว แต่พอดื่มกาแฟมากก็รู้สึกว่ากวนกระเพาะ มื้ออื่นเราก็กินน้ำอัดลม ทำแบบนั้นอยู่เป็นเดือน วันที่ไปพบแพทย์แล้วตรวจพบน้ำตาลในเลือด 700 หมอที่ตรวจตอนนั้นเป็นหมออายุกรรม หมอจึงแนะนำว่าให้มาโรงพยาบาลใหม่วันรุ่งขึ้นเพื่อพบกับหมอเบาหวาน แต่พอกลับไปบ้านช็อก ต้องส่งตัวเข้า ICU ที่โรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้านทันที และนอนรักษาตัวใน ICU อยู่ประมาณ 2-3 วัน และจากนั้นผมก็ฉีดอินซูลินมาตลอด เพราะเป็นเบาหวานแบบที่ 1 ซึ่งตับอ่อนทำงานไม่ได้แล้ว"

เช้า-เย็น ผู้ป่วยเบาหวานทานอะไรบ้าง

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนและส่งเสริมสุขภาพโดยรวมอีกด้วย

อาหารผู้ป่วยเบาหวาน

 

"มื้อเช้า ผมเป็นคนทานไม่เยอะ ขนมปังโฮลวีท 1-1 ชิ้นครึ่ง โป๊ะด้านบนด้วยเนื้อสัตว์เช่นไก่ต้ม แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ใช้ไส้กรอก หรือเบคอน ซึ่งคุณหมอไม่แนะนำ เครื่องดื่มเป็นกาแฟดำไม่เติมน้ำตาล หรือมีความหวานเลย ส่วนผลไม้มีผสมๆ กันทั้งแก้วมังกร 1/8 ลูก แอปเปิ้ลเขียว 1/4 ลูก อะโวคาโด หรือบางครั้งก็เอาสตรอเบอรี่ผสมลงไปบ้างเพื่อเพิ่มรสชาติ

มื้อกลางวัน ทานสลัดผักทั่วไป เลือกน้ำสลัดแบบน้ำตาลต่ำ มีเนื้อสัตว์บ้าง บางครั้งเป็นสเต็กไก่ หรือหมูเพื่อให้ได้โปรตีน หรือบางครั้งก็มีขนมปังโฮลวีท 1 ชิ้น

มื้อเย็น จะเป็นมื้อที่ทานปกติเพราะทานกับครอบครัว ข้าวที่ทานปริมาณ 1 ถ้วยตวงครึ่ง หรือเท่ากับถ้วยโยเกิร์ต ถ้าเป็นข้าวขาวก็ต้องลดปริมาณลงมา แล้วก็ทานกับกับข้าวปกติ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นผักเพราะคนที่บ้านก็จะรู้

สิ่งที่ต้องระวังคืออาหารจำพวกแป้ง ข้าว ผลไม้ ผักบางชนิดเช่นผักประเภทหัว อย่างฟักทองผมไม่ทานเลยเพราะมันเป็นแป้งที่จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในภายหลัง"

อาหารผู้ป่วยเบาหวาน

 

แผนการออกกำลังกายเช้า-เย็น

การออกกำลังกายเป็นอีกหนึ่งในวิธีดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน คุณอุปการมีการกำหนดระยะเวลา และประเภทการออกกำลังกายของตนเองไว้อย่างชัดเจน

"หลังทานมื้อเช้าเสร็จผมจะออกเดินรอบหมู่บ้าน รอบละประมาณ 2 กก.เดิน 2 รอบ จากนั้นเข้าฟิตเนสเล่นเวทสร้างกล้ามเนื้อ ยกเวทประมาณ 20 นาที แต่บางวันไม่ได้เดินจะปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ ซึ่งการว่ายน้ำนั้นดีมากมันไม่มีแรงกระแทก แต่ต่อมาผมต้องใส่เซ็นเซอร์เพื่อมอนิเตอร์ระดับน้ำตาล เป็นการฝังเซ็นเซอร์ไว้ใต้ผิวหนังจึงไม่สะดวกในการว่ายน้ำ ส่วนกลางวันถ้าผมออกไปสอนหนังสือก็จะเดินรอบอาคาร เดินขึ้น-ลงบันได ส่วนตอนเย็นก็พยายามจะเดินหลังทานอาหาร"

ต้องยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งด้านการทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนนั้นก็เป็นเรื่องยากในตอนแรก ใช้เวลาอยู่เป็นปีกว่าจะเริ่มทำความเข้าใจ และคุ้นเคย แต่คุณอุปการบอกว่าสิ่งที่ยากกว่าเรื่องของอาหาร การออกกำลังกายคือการควบคุมอารมณ์ของตนเอง เพราะหากเราเครียด หรือเคร่งครัดกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากเกินไปความเครียดเหล่านั้นจะกระทบต่อค่าน้ำตาลในเลือดทันที แม้แต่การนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ตาม ดังนั้นจึงอยากแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนอย่าซีเรียสมาก เราเฝ้าระวัง แต่อย่าเครียดเกินไป เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยเบาหวานมักไม่รู้ตัวว่าอารมณ์นั้นมีผลต่อค่าน้ำตาล

ปัจจุบันคุณอุปการติดเครื่องเซ็นเซอร์ไว้ใต้ผิวหนังของตนเองเพื่อมอนิเตอร์ค่าน้ำตาลในเลือด เพื่อคำนวณการฉีดอินซูลิน การทานอาหาร โดยแพทย์กำหนดค่าน้ำตาลของคุณอุปการให้อยู่ในเกณฑ์ 80-180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อย่าให้สูงเกิน หรือต่ำไปเพราะบางครั้งหากน้ำตาลต่ำเกินไปก็ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลตกได้ ซึ่งอันตรายกว่าน้ำตาลขึ้นสูง




แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้