หมอสูติฯ ตอบเอง ผู้หญิงไม่เคยมีเซ็กซ์ ความเสี่ยงจากโรคภายในเป็น 0 จริงไหม

จากงานแถลงข่าว “โอลิค ชวนพันธมิตรยกระดับความรู้และการดูแลสุขภาพผู้หญิง เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล” ที่ผ่านมา Sanook Women มีโอกาสชวนคุณหมอด้านสูตินรีแพทย์ตอบคำถามชวนสงสัยเกี่ยวกับโรคภายใน ที่ผู้หญิงหลายๆ คนอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน คุณหมอจะมีคำตอบว่าอย่างไรบ้าง ชวนไปค้นหาข้อเท็จจริงกัน
คำถาม : อาหารบำรุงรังไข่, มดลูกมีอะไรบ้างไหม
นายแพทย์โอฬาริก มุสิกวงศ์ กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ตามข้อมูล ไม่มีระบุไว้ เรื่องนี้จะกลับมาที่การรับประทาน Healthy Diet เช่น ทานอะไรที่ไม่ทำให้อ้วน หรือไม่เพิ่มน้ำหนักมากเกินไป
คำถาม : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคภายในของผู้หญิงที่หมอพบบ่อยมีอะไรบ้าง และความจริงเป็นอย่างไร
ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสฤกพรรณ วิไลลักษณ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการมะเร็งในสตรีของสมาพันธ์สูตินรีเวชนานาชาติ
ขอยกตัวอย่างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสุขภาพผู้หญิงในแต่ละช่วงวัย เริ่มจากความเชื่อที่ว่าเด็กผู้หญิงที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์จะไม่เป็นโรคที่เกี่ยวกับนรีเวชหรือเพศสัมพันธ์ หรือเนื้องอกที่เกี่ยวกับมดลูก ซึ่งไม่จริงเพราะเด็กผู้หญิงสามารถมีโรคเนื้องอกที่รังไข่ หรือเกิดการอักเสบได้
เมื่อโตขึ้น มีประจำเดือนแล้วมีอาการปวดท้อง ก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ มีประจำเดือนก็ต้องปวด จึงไม่ได้ใส่ใจหรือละเลย แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากมีอาการปวดมากๆ อาจแสดงถึงอาการของโรคบางอย่างได้ เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ บางคนเชื่อว่า การมีประจำเดือนแสดงถึงเลือดลมดี ยิ่งมีสีแดงสดเยอะๆ ถือว่าดี ก็เป็นความเชื่อที่เบี่ยงเบน เพราะจริงๆ แล้ว บ่งบอกอาการของโรคบางอย่างได้ เช่น เนื้องอก หรือมะเร็ง
ความเชื่อของผู้หญิงในเรื่องการคุมกำเนิด ที่ว่าทานยาเม็ดคุมกำเนิดไปนานๆ ยิ่งมีลูกยาก ก็ไม่จริง หากศึกษาให้ละเอียดลงไป จะมีการคุมกำเนิดบางอย่าง เช่น การฉีด การฝัง ที่ทำให้อัตราการมีลูกช้าแต่ไม่ได้ทำให้มียาก บางคนเชื่อว่าการคุมกำเนิดแบบไม่ใช้อะไรเลย เช่น การหลั่งออกข้างนอกดีที่สุด จริงๆ แล้วไม่ใช่ และอัตราคุมกำเนิดต่ำ หรือคนตั้งครรภ์มีความเชื่อว่าต้องกินเยอะๆ เป็น 2 เท่า สำหรับทั้งแม่และลูกด้วย ก็ไม่จริง เพราะควรทานสารอาหารให้ครบถ้วน ปริมาณที่เหมาะสม มากกว่าคนๆ เดียวแค่จำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้ามากเกินไปก็จะทำให้เป็นเบาหวานในภาวะตั้งครรภ์ ซึ่งอันตรายต่อทั้งแม่และลูกได้
รวมถึงความเชื่อที่ว่า วัยทอง ไม่เป็นอะไรแล้ว ไม่ต้องตรวจ เพราะหมดช่วงวัยที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพผู้หญิงแล้ว แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะยิ่งอายุเยอะยิ่งมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่สูงขึ้น และเชื่อว่าถ้าไม่มีอาการอะไรผิดปกติเลยก็ไม่ต้องไปตรวจ เช่น ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แต่ข้อเท็จจริงของระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก จะไม่มีอาการใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าไม่ตรวจคัดกรองก็จะตัดโอกาสในการตรวจเจอและป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็ง
คำถาม : ผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลย ความเสี่ยงจากโรคภายในของผู้หญิงเป็น 0 เลยไหม แล้วจะสามารถเกิดโรคอะไรได้บ้าง จะดูแลป้องกันตัวเองอย่างไร
นายแพทย์โอฬาริก มุสิกวงศ์ กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
ลำดับแรกต้องแบ่งประเภทของโรคก่อน ได้แก่ โรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ และ โรคของผู้หญิงจริงๆ ตัวอย่างโรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ เช่น HPV ซิฟิลิส โรคเอดส์ โรคหูด เป็นต้น สำหรับโรคของผู้หญิง ที่แม้ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นได้ เช่น เนื้องอกที่มดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เพราะฉะนั้นควรจะมาตรวจ ส่วนวิธีป้องกัน จะมีทั้งโรคที่ป้องกันได้ และโรคที่ป้องกันไม่ได้ โรคที่ป้องกันไม่ได้ เช่น เนื้องอกในมดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ ตามข้อมูลในปัจจุบันไม่มีวิธีป้องกัน แต่ภาวะถุงน้ำที่รังไข่หลายใบ ถ้าน้ำหนักตัวเราปกติ ก็จะลดโอกาสการเป็นโรคนั้นได้ และขอยกตัวอย่างหลักการดูแลสุขภาพที่อาจเคยได้ยินกัน คือ Lifestyle Medicine 6 หลัก ประกอบด้วย กินอาหารให้ดี ออกกำลังกาย การนอน ลดความเครียด มี social relationship ที่เกี่ยวข้องกับคน สังคม และสุดท้ายคือเรื่องยาเสพติด ถ้าทำ 6 เรื่องนี้ให้ดี ก็จะเป็นแกนหลักที่ทำให้เราสุขภาพดี