30 ปี "เลย์" จากไร่มันฝรั่ง สู่ความมั่นคงทางอาหาร

บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) ผู้ผลิตเลย์ มันฝรั่งทอดกรอบยอดนิยมของเมืองไทยได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการพึ่งพามันฝรั่งนำเข้าจากต่างประเทศ
ส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทย
ปัจจุบัน มันฝรั่งที่ใช้ในการผลิตเลย์ในประเทศไทย มาจากการเพาะปลูกในประเทศประมาณ 100,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็น 70% ของผลผลิตทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตเลย์ ส่วนที่เหลืออีก 30% ยังคงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยในปีนี้คาดว่าผลผลิตมันฝรั่งจากเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมจากเป๊ปซี่โค ประเทศไทย จะมีปริมาณถึง 100,000 ตัน
เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 โดยให้การสนับสนุนตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการแปรรูป โดยมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของเกษตรกร การเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ระบบชลประทานน้ำหยด เทคโนโลยีอินฟราเรดเพื่อตรวจสอบสภาพดิน และการใช้โดรนเพื่อประเมินโรคและตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งส่งผลให้ได้ผลผลิตมันฝรั่งที่มีคุณภาพสำหรับนำไปแปรรูปเป็นมันฝรั่งทอดกรอบ
30 ปี จาก “ไร่มันฝรั่ง” สู่ “เลย์”
นางสุริวัสสา สัตตะรุจาวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจประจำประเทศไทยและเวียดนาม กล่าวว่า เป๊ปซี่โค ในฐานะผู้ผลิตอาหาร ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ผลิตต้นทาง และมุ่งเน้นการส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบอาหารของประเทศไทย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทย เป๊ปซี่โค และเกษตรกรได้เผชิญกับความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีแรกของการดำเนินโครงการ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นมีอุปสรรคมากกว่าความสำเร็จ
“ที่ผ่านมา เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเกษตรกร ทั้งการพัฒนาพันธ์มันฝรั่ง วิธีการปลูก การจัดเก็บ ทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ ในช่วง 10 ปีแรก เป็นช่วงเวลาที่มีความท้าทายอย่างมาก เป็นช่วงเวลาแห่งการล้มลุกคลุกคลาน และการทดลองหลายๆ ครั้ง ผิดมากกว่าถูก กว่าที่จะค่อยๆ ตั้งหลักได้ ซึ่งใน 10 ปีถัดมา น่าจะเป็นช่วงที่การเติบโตเข้าที่เข้าทาง ก็ต้องเผชิญวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรอย่างหนัก ความพยายามที่ผ่านมาก็มาถึงจุดเปลี่ยนในช่วง 10 ปีหลัง ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากเดิม 1-2 ตัน มาเป็น 3 ตัน 4 ตัน และบางไร่มีผลผลิตสูงถึง 5 ตัน ซึ่งนี่คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับเกษตรกร”
ปัจจุบัน เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ให้การสนับสนุนเกษตรกรในการเพาะปลูกมันฝรั่งบนพื้นที่รวมกว่า 38,000 ไร่ ครอบคลุม 9 จังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา ตาก และเพชรบูรณ์ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกรวมประมาณ 90% ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนอีก 10% อยู่ใน 2 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สกลนครและนครพนม โดยมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 5,800 ราย
ปัจจัยความสำเร็จในการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่ง
นายอานนท์ สุนทรนนท์ ผู้จัดการฝ่ายเกษตรประเทศไทย เป๊ปซี่โค ประเทศไทย กล่าวว่าความสำเร็จในการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งนั้นมาจากหลายปัจจัย โดยในปีนี้สภาพอากาศที่เหมาะสมทำให้ได้ผลผลิตดีกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการปลูกมันฝรั่งให้ได้ผลผลิตดีนั้น คือช่วงเวลากลางวันและกลางคืนควรมีอุณหภูมิแตกต่างกันประมาณ 10-12 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมในเวลากลางวันคือ 24-26 องศาเซลเซียส และกลางคืนต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยประสบความสำเร็จ เช่น การปรับปรุงคุณภาพดิน การพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบน้ำหยด การใช้เทคโนโลยีโดรนร่วมกับ AI ในการประเมินความสมบูรณ์ของพืชและการระบุโรคและแมลงศัตรูพืช ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูง และเป็นแนวทางในการส่งเสริมการทำเกษตรอย่างยั่งยืน
"ปีนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทย เราเห็นผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปีนี้สภาพอากาศเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญ แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เป๊ปซี่โค ได้นำมาใช้พัฒนาการปลูกมันฝรั่ง จนสามารถเป็นต้นแบบให้เป๊ปซี่โคในประเทศอื่นๆ เช่นอินโดนีเซีย มาดูงานจากประเทศไทย และเรายังคงมุ่งมั่นที่ส่งเสริมเกษตรกรทั้งในแง่ของความรู้และเทคโนโลยี ที่จะขยายโอกาสให้มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตร”
เพิ่มผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรด้วย "การปลูกพืชหมุนเวียน"
"การปลูกพืชหมุนเวียน" คือการปลูกพืชที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยนายอานนท์กล่าวว่า เป๊ปซี่โค ประเทศไทย สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกมันฝรั่งสลับกับข้าวโพดและข้าวในพื้นที่เพาะปลูกของตนเอง แนวทางนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มรายได้ แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคพืชจากการปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำๆ เป็นเวลานาน และช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งส่งผลให้รายได้ต่อปีของครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยรายได้หลักมาจากมันฝรั่ง ข้าวโพด และข้าว ตามลำดับ ทำให้เกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ความท้าทายและเป้าหมายสูงสุด
โครงการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยได้ช่วยสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับเกษตรกร อย่างไรก็ตาม เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ยังคงตระหนักถึงปัจจัยและความท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตมันฝรั่งในอนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งข้อมูลพบว่า เกษตรกรไทยประมาณ 49% มีอายุระหว่าง 40-60 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เกษตรกรที่มีอายุระหว่าง 15-40 ปี ลดลง 32%
นางสุริวัสสา กล่าวว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในภาคเกษตรเป็นความท้าทายไม่เพียงแต่สำหรับเป๊ปซี่โค แต่ยังเป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทยโดยรวม การสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกมันฝรั่งหรือพืชชนิดอื่น จะช่วยให้เกษตรกรผู้สูงอายุสามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดภาระการใช้แรงงาน และยังคงมีผลผลิตและรายได้ที่สามารถดูแลความเป็นอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง
“เป๊ปซี่โค มุ่งมั่นที่จะสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับภาคการเกษตรทั่วโลก และสำหรับเป๊ปซี่โค ประเทศไทย เรามีเป้าหมายสูงสุด ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ผ่านการสนับสนุนเกษตรกรไทยให้สามารถผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม” นางสุริวัสสากล่าวทิ้งท้าย