รู้จักภาวะ Anticipatory Anxiety คืออะไร เมื่อเรื่องยังไม่ทันเกิด แต่ใจไปไกลแล้ว

สาว ๆ เคยเป็นกันไหมคะ? ยังไม่ทันเกิดอะไรขึ้น แต่จินตนาการไปไกลแล้วว่าสถานการณ์ต้องออกมาแย่แน่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานที่ยังไม่ส่ง สอบที่ยังไม่เริ่ม หรือแม้แต่ข้อความที่อีกฝ่ายยังไม่ตอบ ถ้าคุณผู้หญิงรู้สึกแบบนี้บ่อย ๆ อาจกำลังเผชิญกับภาวะ Anticipatory Anxiety หรือความวิตกกังวลล่วงหน้า ที่ทำให้คุณคิดไปก่อนทั้งที่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย
รู้จักภาวะ Anticipatory Anxiety คืออะไร
ภาวะ Anticipatory Anxiety คืออะไร? ส่งผลอย่างไรต่อชีวิต
Anticipatory Anxiety หรือภาวะวิตกกังวลล่วงหน้า คือ ความรู้สึกกลัวหรือกังวลกับเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น มักเป็นการคาดการณ์แง่ลบ คิดไปก่อนว่าเรื่องต้องแย่แน่นอน ทั้งที่ยังไม่มีหลักฐานอะไรบ่งบอกว่าจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ อาการนี้พบได้ในคนที่มีภาวะวิตกกังวลสูง (Anxiety Disorder) หรือเคยผ่านประสบการณ์แย่ ๆ มาก่อน ทำให้สมองจดจำและคาดเดาสถานการณ์ในทางลบโดยอัตโนมัติ
สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณอาจมีภาวะ Anticipatory Anxiety
- คิดวนซ้ำไปซ้ำมา กังวลเกี่ยวกับอนาคต และหยุดคิดไม่ได้
- จินตนาการถึงสถานการณ์ที่แย่ที่สุด แม้ว่าอาจไม่มีวันเกิดขึ้นจริง
- มีอาการทางกายร่วมด้วย เช่น ใจสั่น เหงื่อออก และหายใจไม่ทั่วท้อง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงบางสถานการณ์ เพราะกลัวว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ดี
- ความกังวลกระทบชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้เครียด นอนไม่หลับ หรือไม่มีสมาธิ เป็นต้น
อะไรเป็นสาเหตุของภาวะ Anticipatory Anxiety?
- ประสบการณ์ในอดีต เคยเจอเรื่องแย่หรือเลวร้ายมาก่อน สมองจึงจดจำและคิดไปเองว่าจะเกิดขึ้นอีก
- ลักษณะนิสัยของสาว ๆ บางคนอาจเป็นคนคิดเยอะ และมักมองโลกในแง่ลบ
- ความเครียดและภาวะซึมเศร้า ทำให้สมองมีแนวโน้มที่จะคิดลบมากกว่าปกติ
- ความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง ภาวะวิตกกังวลอาจเกิดจากระดับสารสื่อประสาทในสมองที่ไม่สมดุล
วิธีรับมือกับความกังวลล่วงหน้า เปลี่ยนความคิดลบ ให้ใจสงบและใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ
ทุกคนย่อมมีความกังวลกับอนาคต แต่บางครั้งความคิดลบที่เกิดขึ้นมากเกินไป อาจทำให้คุณผู้หญิงรู้สึกเครียดและสูญเสียความมั่นใจในตัวเองได้ เราจึงจะขอนำเสนอวิธีรับมือกับความกังวลล่วงหน้า เพื่อช่วยให้คุณสามารถเปลี่ยนความคิดลบและใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ตามนี้เลยค่ะ
1.จับสังเกตความคิดตัวเอง
ทุกครั้งที่รู้สึกกังวล ลองถามตัวเองก่อนเลยว่ามีหลักฐานอะไรไหมว่าเหตุการณ์นี้ จะแย่จริง? แล้วคุณอาจพบว่าเป็นเพียงแค่ความคิดไปเอง
2.ฝึกอยู่กับปัจจุบัน
ใช้เทคนิค Mindfulness เช่น การโฟกัสกับลมหายใจ หรือสิ่งที่อยู่รอบตัว แทนที่จะปล่อยให้จิตใจล่องลอยไปกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่ให้หันกลับมาโฟกัสที่ตัวเองเป็นหลัก
3.เขียนบันทึกความกังวล
ลองจดสิ่งที่กังวลลงกระดาษ เช่น กังวลว่าจะพูดผิดในการประชุม จากนั้นเขียนต่อว่าเตรียมตัวมาแล้วอย่างดี และเคยผ่านประชุมมาก่อน วิธีนี้จะช่วยให้เห็นความจริงมากกว่าความคิดที่เกินจริง แล้วเมื่อกลับมาอ่านในภายหลัง คุณจะสามารถนำความคิดเหล่านี้ไปปรับและพัฒนาตัวเองได้
4.ปรับมุมมองความคิด
แทนที่จะคิดว่าต้องแย่แน่ ๆ ให้ลองเปลี่ยนเป็นเราได้เตรียมตัวมาดีที่สุดแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็พร้อมรับมือ ซึ่งการเปลี่ยนมุมมองใหม่ จะช่วยลดความกังวลและทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้นค่ะ
5.ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
ถ้าความกังวลล่วงหน้าส่งผลกระทบต่อชีวิตมาก อาจลองพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม
Anticipatory Anxiety คือภาวะที่ทำให้สาว ๆ กังวลล่วงหน้ากับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น จนส่งผลกระทบต่อจิตใจและชีวิตประจำวัน การรู้ทันความคิดตัวเอง ฝึกอยู่กับปัจจุบัน และปรับมุมมองความคิดจะช่วยให้คุณผู้หญิงรับมือได้ แต่หากรู้สึกว่าสิ่งนี้รบกวนชีวิตมากเกินไป ก็อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องต่อไป