ศึกษา สังคม นารี มีรูป เป็นทรัพย์ ผ่าน มิสยูนิเวิร์ส

ศึกษา สังคม นารี มีรูป เป็นทรัพย์ ผ่าน มิสยูนิเวิร์ส

ศึกษา สังคม นารี มีรูป เป็นทรัพย์ ผ่าน มิสยูนิเวิร์ส
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มรสุมที่กำลังโหมฮือเข้าใส่ๆ "น้องน้ำเพชร สุณัณณิการ์ กฤษณสุวรรณ" รองมิสยูนิเวิร์ส อันดับ 2 ปี 2557 ก็อีกรอบเดียวกับมรสุมอันเคยกระหน่ำใส่ "น้องฝ้าย" เวฬุรีย์ ดิษยบุตร เป็นปัญหาเรื่อง "จริยธรรม"

เมื่อกล่าวถึงปัญหาจริยธรรมในสังคม "ปากว่า ตาขยิบ" อย่างสังคมไทย จึงมากด้วยความละเอียดอ่อน

แถลงจากกองประกวด "มิสยูนิเวิร์ส" ประเทศไทย

คุณสมบัติของผู้เข้าประกวดจะต้องไม่เคยถ่ายภาพศิลป์กึ่งเปลือย/กึ่งโป๊เปลือย หรือภาพที่เข้าข่ายล่อแหลมตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ หรือแพร่ภาพผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาก่อน และที่สำคัญต้องไม่เคยประกอบอาชีพ งานพิเศษหรือมีความประพฤติอันเป็นที่น่ารังเกียจ เสื่อมเสียต่อจารีต ขนบธรรมเนียม ประเพณี

แจ่มชัด

แจ่มชัดว่าแม้จะได้ชื่อว่าเป็น "มิสยูนิเวิร์ส" แต่ก็ดำเนินไปบนหลักการ คนจะงามงาม "น้ำใจ" ใช่ใบหน้า คนจะงามงาม "วาจา" ใช่ตาหวาน

ยืนยัน "สวย" อย่างมี "คุณค่า"

กระนั้น คำถามที่แม้ "น้องน้ำเพชร" มิได้ประทานเสนอ แต่ "สังคม" ก็มีความกังขาติดตามมาได้โดยอัตโนมัติ

1 คือสถานะแห่งการประกวด "นางงาม"

ไม่ว่าจะเป็นนางงามอันเรียกว่า "นางสาวไทย" อันมาพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นนางงามอันเรียกว่า "มิสยูนิเวิร์ส" อันมาพร้อมกับกระแสโลกานุวัตร

ถามว่าเป็น "ประเพณี" ไทยตรงไหน

ถามว่ากระบวนการแต่งองค์ทรงเครื่อง แตกต่างไปจากภาพศิลป์กึ่งเปลือย/กึ่งโป๊เปลือยอันปรากฏตามนิตยสารอย่างไร

ขณะเดียวกัน 1 การประกวดนี้เป็นที่ยอมรับตามขนบธรรมเนียมไทยอย่างไร

แม้ว่าการประกวดนางงามจะสะท้อนลักษณะ "สมัยใหม่" อันมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 แต่ถามว่าวิวัฒนาการของความงามอันดำรงอยู่ในสังคมประเทศไทยกับวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกกระทั่งถึงฉบับปัจจุบันดำเนินมาด้วยความสลับซับซ้อนหรือไม่ และอย่างไร

หาก "รัฐธรรมนูญ" แห่งราชอาณาจักรไทยไต่ระดับมากับกระบวนการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วกระบวนการ "นางงาม" ไต่ระดับมากระทั่งกลายเป็น "มิสยูนิเวิร์ส" ได้อย่างไร

สรุปแล้วล้วนแนบแน่นอยู่กับหลักแห่ง "อนิจจัง"

ปรากฏการณ์แห่งการทวงคืนมงกุฎเพชรของประดา "มิสยูนิเวิร์ส" ไม่ว่าจะเป็นระดับรองหรือระดับแชมป์สะท้อนถึงสภาพความเป็นจริง

ของ 1 ภาวะไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน

ได้ตำแหน่งมาแล้วก็อาจต้องสูญเสียตำแหน่งไป ได้มงกุฎมาแล้วก็อาจต้องทวงคืนมงกุฎไปในท่วงทำนองแห่ง

"สมบัติ ผลัดกันชม"

ขณะเดียวกัน ของ 1 จริยธรรมอันเป็นความเชื่อในทางสังคมกิมได้เป็นเรื่องอมตะ จีรัง และยั่งยืนแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการประกวด "นางงาม"

ไม่เคยมีการนำเอาหญิงสาววัยกำดัด นุ่งน้อยห่มน้อย สำแดง "สองสตันโฉมง่านง้อย งอนหงาย/อวบอัดเอิบกามฉาย ยั่วท้า" บนเวทีสาธารณะ ทำให้นามธรรม "นารีมีรูป" สามารถแปรให้เป็น "ทรัพย์" ได้ในทางเป็นจริง

แต่ ณ วันนี้ ความงามกลายเป็น "ทุน" 1 ในทางสังคม

ยิ่งมีการกำหนดกฎเกณฑ์ ฉาบคลุมด้วยถ้อยคำหะรูหะราประเภท "จริยธรรม คุณธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี" สุดแสนอลังการ แต่ที่สุดก็เสมอเป็นเพียงการตกแต่ง

ทำ "การตลาด" เพื่อสร้าง "มูลค่า" เพิ่ม

ยิ่งสังคมมากด้วยอาการ "ปากว่า ตาขยิบ" มากเพียงใด รูปธรรมแห่งการแสดงออกยิ่งซับซ้อน

ที่ปรากฏผ่าน "วาทกรรม" อาจเสมอเพียงการหลอกหลอน ที่ดำรงอยู่ในทางเป็นจริงอาจน่าเกรงขามมากกว่าร้อยเท่าพันเท่า ในยุคสมัยที่ "นารี" มีรูปเป็นทรัพย์

ไม่ว่าจะเป็น "นางสาวไทย" ไม่ว่าจะเป็น "มิสยูนิเวิร์ส"

(ที่มา:มติชนรายวัน 23ก.ค.2557)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook