เก็บตก ดอกไม้ในงานแต่งงานไทย

เก็บตก ดอกไม้ในงานแต่งงานไทย

เก็บตก ดอกไม้ในงานแต่งงานไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อ๊ะๆ...รายละเอียดเกี่ยวกับพิธีแต่งงานแบบไทยที่ WE เต็มใจค้นคว้าหาข้อมูลมาฝากยังไม่หมด ยังมีเรื่องดอกไม้ที่แม้จะไม่ใช่พระเอกในงาน แต่ก็มีความสำคัญชนิดที่ขาดไม่ได้เชียวละ ดอกไม้ในงานแต่งงานไทยประดิดประดอย...ร้อยเป็นมาลัย ก่อนอื่นคงต้องเท้าความถึงประวัติความเป็นมาของมาลัยเป็นการประดับความรู้กันสักหน่อย ว่ากันว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือที่รู้จักกันดีในนามนางนพมาศ เป็นผู้ริเริ่มนำดอกไม้มาประดิษฐ์ตกแต่งใช้ในงานฝีมือต่างๆ แต่ที่ร่ำลือถึงฝีไม้ลายมือกันทั่วทุกหัวระแหงคงต้องเป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง เพราะทรงใช้เวลาว่างดัดแปลงการร้อยดอกไม้เป็นมาลัยในรูปแบบที่แปลกพิสดารจากเดิม เช่น ทรงเห็นว่าพระราชวังพญาไท ที่ประทับอยู่ มีดอกเล็บมือนางมาก จึงทรงนำมาร้อยเป็นมาลัยตั้งแต่ยังไม่บาน พอวันรุ่งขึ้นดอกไม้บาน กลีบลู่ไปด้านหลัง ทำให้สวยงามแปลกตายิ่งนัก ผู้ช่ำชองและเชี่ยวชาญด้านดอกไม้ได้แบ่งมาลัยเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้ 1.แบ่งตามหน้าที่ใช้สอย ได้แก่ มาลัยชายเดียว ใช้สำหรับคล้องมือ คล้องแขน หรือบูชาพระ มาลัยสองชาย ใช้สำหรับคล้องคอ แขวนหน้ารถ หรือแขวนหัวเรือ และ มาลัยของชำร่วย ใช้มอบตอบแทนเป็นการขอบคุณแขกที่มาร่วมงานนั้นๆ 2.แบ่งตามลักษณะรูปแบบของการร้อย ได้แก่ มาลัยซีกหรือมาลัยเสี้ยว มาลัยกลม มาลัยแบน มาลัยรี มาลัยสามเหลี่ยม มาลัยสี่เหลี่ยม มาลัยตุ้ม มาลัยตัวหนอน มาลัยตัวหนอนคู่ มาลัยสามกษัตริย์ และมาลัยพวงดอกไม้ 3.แบ่งตามลักษณะโครงร่างโดยทั่วไป ได้แก่ มาลัยตัวสัตว์ มาลัยลูกโซ่ มาลัยเปีย มาลัยเถา มาลัยครุย และมาลัยดอกกล้วยไม้ สืบสานความเป็นไทย...ต้องใช้มาลัยแบบไหนบ้าง ถึงตอนนี้ว่าที่บ่าวสาวหลายคู่คงอยากยกมือขอใช้สิทธิ์ถาม WE ว่า คิดจะจัดงานแต่งงานแบบไทยทั้งที ต้องใช้มาลัยอะไรบ้าง หน้าตารูปร่าง (มาลัย) เป็นอย่างไร มาลัยชายเดียว เป็นมาลัยที่มีลักษณะเป็นพวงกลม มีอุบะห้อยลงมาเป็นชายเพียงจุดเดียว อาจเรียกว่า มาลัยมือ หรือมาลัยคล้องแขน ถ้าใช้ในการทูลเกล้าฯ ถวายจะเรียกว่า มาลัยข้อพระกร นอกจากนี้ ยังใช้บูชาพระ หรือไหว้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ มาลัยสองชาย น่าจะเป็นมาลัยที่เราๆ ท่านๆ ค่อนข้างคุ้นเคยกันในชีวิตประจำวัน แต่อาจจะไม่ได้วิจิตร ตระการตาทัดเทียมมาลัยที่ใช้ในพิธีแต่งงานเท่านั้น เป็นมาลัยกลมที่ผูกต่อกับริบบิ้น ทิ้งชายห้อยลงมาเป็นอุบะสองเส้น มักเรียกกันว่ามาลัยคล้องคอมากกว่า ใช้สำหรับคล้องคอบุคคลสำคัญในงานนั้น มาลัยชำร่วย เพื่อให้สมชื่อมาลัยของชำร่วยจึงเป็นมาลัยที่มีขนาดพวงเล็ก กระจุ๋มกระจิ๋ม เพื่อให้แขกเหรื่อถือติดมือได้สะดวกโยธิน เป็นมาลัยตุ้มที่ร้อยให้มีลักษณะตามขวางเป็นวงกลมขนาดเล็ก ค่อยๆ ใหญ่ขึ้นทีละน้อย ช่วงกลางป่องโค้งมนแล้วค่อยๆ ลดให้เล็กลงจนมีขนาดเท่ากันตอนขึ้นต้น สรุปง่ายๆ ว่าเป็นมาลัยที่หัวท้ายเรียวช่วงกลางป่องนั่นเอง มาลัยตัวสัตว์ นิยมนำดอกไม้มาร้อยให้เป็นรูปร่างคล้ายตัวสัตว์ที่ดูน่ารัก น่าเอ็นดู เช่น หนู กระรอก กระแต กระต่าย ชะนี เป็นต้น นอกจากนี้ ถ้าไม่นับรวมสรรพพานที่ใช้ในพิธีแต่งงานที่กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว ยังมีดอกไม้ประดิษฐ์อีกหนึ่งพานที่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ในการแต่งงานแบบไทย ได้แก่ พานรับน้ำ ใช้สำหรับรองน้ำพระพุทธมนต์ที่แขกผู้ใหญ่รดน้ำให้พรคู่บ่าวสาว ไม่ให้น้ำกระเด็นเลอะเทอะ ยลโฉมความงามของดอกไม้กันแบบจะจะ WE ยกขบวนพาเหรดมาลัยและพานรดน้ำฝีมือชาววังมาให้ได้ดูเป็นตัวอย่าง แถมเบอร์ติดต่อบรรดาร้านดอกไม้ที่บริการจัดดอกไม้ในงานแต่งงานแบบไทยให้ด้วย ภาพที่ 1 มาลัยไหว้ผู้ใหญ่ เปลี่ยนจากดอกพุดที่ตัวมาลัยเป็นกลีบดอกกุหลาบที่นับมาพับ โดยเอาโคนกลีบออกให้มีโทนสีอ่อนเข้มสลับกันไป และมักมีขนาดเล็กกว่ามาลัยคล้องมือ ภาพที่ 2 มาลัยคล้องคอ เรียกอีกชื่อว่า มาลัยบ่าวสาว เป็นมาลัยสองชายแบบลูกโซ่ ที่นำมาลัยกลมหรือมาลัยซีกมาผูกคล้องต่อกันเป็นห่วงๆ คล้ายโซ่ ให้ความหมายแทนการเป็นคู่ชีวิต ความสวยงามขึ้นอยู่กับลวดลายของห่วงกลาง ซึ่งแสดงถึงฝีมือของผู้ร้อย ภาพที่ 3 มาลัยของชำร่วย แต่ก่อนนิยมมาลัยตุ้มที่มีลักษณะหัวท้ายเรียวแล้วป่องตรงกลาง ต่อมามีการนำมาลัยกลมพวงเล็กๆ น่ารัก มาใช้เป็นมาลัยของชำร่วย แทนคำขอบคุณแขกเหรื่อที่ให้เกียรติมาร่วมงาน ภาพที่ 4 กระแตเกาะกิ่งแก้ว มักใช้เป็นของชำร่วยมอบให้ผู้ใหญ่ที่มีความสำคัญมากๆ แต่ในปัจจุบันมีการดัดแปลงนำตัวกระแตที่ร้อยจากดอกไม้ไปติดเพิ่มความสวยงามที่พานรับน้ำสังข์ ภาพที่ 5 มาลัยไหว้พระ แม้จะเป็นมาลัยกลมหรือมาลัยชายเดียวเหมือนกัน แต่ด้วยลวดลายและสีสันที่ต่างกัน ช่วยแยกประเภทของมาลัยได้ ตัวมาลัยมักร้อยด้วยดอกมะลิเพราะนิยมใช้บูชาพระ ภาพที่ 6 มาลัยคล้องมือ เป็นมาลัยกลม เล่นลวดลายด้วยการร้อยดอกไม้สลับสีที่ตัวมาลัย ภาพที่ 7 พานรับน้ำสังข์ ลวดลายและดอกไม้ที่เลือกใช้อยู่ที่ความต้องการของคู่บ่าวสาว ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว มาลัยที่คุณและยาหยีลงทุนเสียเงินว่าจ้างผู้มีฝีมือร้อยให้นั้น จะสวยงามหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้ 1. ฝีมือการร้อย นอกจากจะต้องพิจารณาระดับราคาที่เหมาะสมแล้ว ฝีไม้ลายมือของผู้ร้อยก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพราะการร้อยมาลัยจำเป็นต้องอาศัยทักษะความชำนาญและความใส่ใจของผู้ร้อย 2. สีสันของมาลัย อาจใช้สีสันของลวดลายตัวมาลัยในการแบ่งประเภทของมาลัยเพื่อป้องกันการสับสน เช่น มาลัยกลมที่ใช้ทั้งคล้องมือ ไหว้พระ และไหว้ผู้ใหญ่ ควรแยกสีให้ชัดเจนจะได้ไม่ผิดพลาด อ้อ...ไม่ต้องกังวลหากดอกไม้ที่ใช้ไม่มีสีที่คุณชอบ เพราะสมัยนี้อยากได้สีอะไร ก็สามารถย้อมได้ 3. สัดส่วนของมาลัย เช่น มาลัยคล้องคอบ่าวสาว ควรหาโอกาสไปพบผู้ร้อยด้วยตัวเอง หรือถ้าไม่สะดวกอาจต้องบอกส่วนสูงของบ่าวสาวไปด้วย เพราะการร้อยจำเป็นต้องกำหนดความยาวของมาลัยให้เหมาะสมกับรูปร่างของบ่าวสาวแต่ละคู่ 4. ชนิดของดอกไม้ แม้จะเป็นงานแต่งงานของตัวเอง แต่อย่ามองข้ามค่านิยมที่สืบทอดกันมาแต่โบร่ำโบราณในการเลือกชนิดของดอกไม้ ควรเลือกดอกไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล เหมาะกับงานแต่งงาน ได้แก่ ดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย ดอกบานชื่น 5. ความสดของดอกไม้ ถ้าโชคดีได้ผู้ร้อยที่ฝีมือเข้าขั้นเป็นเซียนมาลัยตัวจริง รับรองว่ามาลัยของคุณจะสวยงาม เพราะทุกขั้นตอนจะต้องผ่านความพิถีพิถัน ตั้งแต่การเลือกดอกไม้ การจับดอกไม้อย่างเบามือขณะร้อย รวมทั้งรู้จักกรรมวิธีการเก็บดอกไม้อย่างถูกต้อง เหมาะสมเพื่อคงความสดของดอกไม้ให้นานขึ้น อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่นิตยสาร WE คอลัมน์ Scoop ฉบับเดือนพฤษภาคม 51

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ เก็บตก ดอกไม้ในงานแต่งงานไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook