"ศัลยกรรม" ไร้พรมแดน ค้าความงามข้ามชาติ
หากมองภาพรวมของกระแสความนิยมศัลยกรรมเสริมความงามทั่วโลก จะเห็นว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาเพียงแต่ภาพ การขยายตัวอาจยังไม่ค่อยเด่นชัดสักเท่าไหร่ เนื่องจากค่านิยมของคนเมื่อหลายสิบปีก่อน ยังไม่ได้เปิดกว้างยอมรับความสวยด้วยมีดหมอเหมือนสมัยนี้ ส่งผลให้คนทำศัลยกรรมพลาสติกในอดีตมักเกิดความอายและปกปิดว่าตนเองเคยทำ
ผิดกับปัจจุบันหลังการ ถาโถมของคลื่นวัฒนธรรม "เคพ็อป" เมื่อ 4-5 ปีก่อน ซึ่งมาพร้อมกับความสวยหล่อแบบพลาสติกของไอดอล ที่ส่วนใหญ่มักไม่ปฏิเสธ (แต่หลายคนก็ไม่ยอมรับ) ว่าเคยผ่านการศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าให้เพอร์เฟ็กต์ดังที่เห็นกันในทีวี ทำให้ทัศนคติที่มีต่อการสวยด้วยมีดหมอของคนทั่วโลก (โดยเฉพาะคนไทย) เปลี่ยนไปเป็นบวก จึงไม่น่าแปลกใจถ้าจะเห็นว่าตลอดครึ่งทศวรรษที่ผ่านมามี "คลินิกศัลยกรรม" ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
ทว่าจุดศูนย์รวมของเทรนด์ความงามแบบพลาสติกหลังยุคเคพ็อปกลับไปกระจุกรวมตัวกัน อยู่ที่ "เกาหลีใต้" ในระดับสินค้าส่งออก เพราะมีบรรดาไอดอลหน้าเป๊ะเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้แบบกลาย ๆ
รองลงมาน่าจะอยู่ที่ "สหรัฐอเมริกา" ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องเทคโนโลยีศัลยกรรมอันทันสมัย แต่ด้วยราคาค่าศัลยกรรมของทั้ง 2 ประเทศค่อนข้างสูง คนทั่วไปที่มีทุนจำกัดจึงไม่อาจเข้าถึงการผ่าตัดเสริมความงามได้มากนัก ซึ่งในแง่หนึ่งถือเป็นช่องทางและโอกาสขยายตลาดของ "ศัลยกรรมเมืองไทย" ที่มีคุณภาพงานเนี้ยบไม่เป็นรอง 2 ประเทศข้างต้น (อาจเป็นรองสหรัฐแค่ในมุมเทคโนโลยี)
เมื่อเห็นช่องทางดังกล่าวชัดเจนขึ้นในปัจจุบัน "การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" จึงได้จับมือกับโรงพยาบาลชื่อดังด้านศัลยกรรมพลาสติกทั่วประเทศ สร้างแคมเปญ "Thailand Extreme MakeOver" เพื่อชูการผ่าตัดเสริมความงามขึ้นมาเป็นจุดขายกระตุ้นการท่องเที่ยว เพราะชาวต่างชาติที่เดินทางมาพักรักษาตัวและทำศัลยกรรมส่วนใหญ่ มักใช้เวลาช่วงพักฟื้นไม่ต่ำกว่า 3-7 วัน หลังเข้ารับการรักษาไปกับการเที่ยวแบบเบา ๆ ซึ่งเมื่อปีก่อนนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวมีมูลค่าในอุตสาหกรรมดังกล่าวราว 71,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
"ฐาปณีย์ เกียรติไพบูลย์" ผู้อำนวยการกลุ่มสารสนเทศการตลาด สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ ททท.กล่าวว่า ปัจจุบันผู้คนต่างให้ความสนใจในการทำศัลยกรรมกันแทบทุกคนไม่ว่าหญิงหรือชาย เพราะเป็นการทำให้ตัวเองดูดียิ่งขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งยังทำเงินกลับคืนมาให้กับบางอาชีพ ส่งผลให้ค่านิยมเกี่ยวกับการทำศัลยกรรมเปลี่ยนไป ถ้ามีส่วนไหนบกพร่องก็จะให้หมอช่วยแก้ไขจนเป็นเรื่องปกติ
"ปัจจุบัน ค่านิยมด้านศัลยกรรมกำลังลามเข้าไปในประเทศจีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งสมัยก่อนคนจีนจะนิยมไปทำกันที่เกาหลีใต้เป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้ศัลยแพทย์ตกแต่งและการบริการของเมืองไทยก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าใครแล้ว หากเราสามารถถึงกลุ่มคนจีนที่เป็นมิดเดิลคลาสทูไฮเอนด์มาศัลยกรรมในเมืองไทย ได้สำเร็จ ก็น่าจะสามารถต่อยอดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้แน่นอน"
สำหรับ ผู้โชคดี 3 คนที่ได้เข้าร่วมแคมเปญ Thailand Extreme MakeOver เดินทางมาจาก 3 ชาติ ได้แก่ "คิมเบอร์ลี่ บิชอป" จากประเทศสหรัฐอเมริกา, "นาเดีย วีลัลว่า" จากประเทศบราซิล และ "เชอร์รี่เบล ชาปินโต" จากประเทศฟิลิปปินส์ ที่ได้เข้าร่วมปรับปรุงโฉมของตัวเองกับ ททท.และโรงพยาบาลยันฮี
คิมเบอร์ลี่กล่าวถึงสาเหตุที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ว่า การทำศัลยกรรมใบหน้าในประเทศสหรัฐอเมริกามีราคาแพงมาก หากไม่ใช่เซเลบไฮโซหรือดาราดังก็เป็นเรื่องยากที่จะมีโอกาสได้ทำ อีกทั้งเมืองโอไฮโอที่ตนเองอาศัยยังเป็นเมืองเล็ก ๆ ไม่มีโรงพยาบาลและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการผ่าตัดใหญ่ ๆ จำเป็นต้องเดินทางเข้าเมืองใหญ่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ซึ่งนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นไปอีก นี่จึงเป็นโอกาสที่ทำให้ตนเองได้เข้าถึงการศัลยกรรม "ปัญหาของฉันอยู่ตรงรูปร่างที่เหี่ยวย่นจากการลดน้ำหนัก ทำให้ดูแก่ก่อนกว่าวัยไปหลายปี ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ จึงคิดว่าการเข้าร่วมโครงการนี้จะทำให้ตัวเองเด็กลงแม้ตอนแรกสามีจะไม่เห็น ด้วยกับการทำศัลยกรรม ด้วยการให้เหตุผลว่าชอบฉันจากข้างใน ไม่ใช่หน้าตาที่เปลี่ยนไป ดังนั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องศัลยกรรม แต่เพื่อความมั่นใจของฉันสุดท้ายก็ตัดสินใจมาเมืองไทยในที่สุด"
ส่วนนาเดียอธิบายภาพความนิยมศัลยกรรมของบราซิลว่า ผู้หญิงบราซิลทุกคนมีความฝันที่เหมือนกันอย่างหนึ่งนั่นคือ "ศัลยกรรม" เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องทางรูปร่างตาหน้าของตนเองให้สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะจมูก แต่ด้วยความที่การทำศัลยกรรมใบหน้าในบราซิลมีราคาแพงไม่ต่างจากสหรัฐอเมริกา หญิงสาวส่วนใหญ่จึงนิยมศัลยกรรมแค่ร่างกายเท่านั้น ซึ่งถูกกว่าใบหน้ามากทีเดียว
"ผู้หญิงบราซิลทั้งเมืองเล็ก และเมืองใหญ่มักยอมทำงานหนักมากขึ้น เพื่อให้ได้เงินมาทำศัลยกรรมมากขึ้น เพื่อความสวยและดูดีที่เพิ่มขึ้น"
ด้านเชอร์รี่เบลผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ในแดนโสมขาวมาประมาณ 2 ปีกว่า เล่าถึงค่านิยมของเกาหลีใต้ให้ฟังว่า พ่อแม่ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่มักจะเป็นฝ่ายเริ่มเก็บเงินเอาไว้เพื่อให้ลูกของตนเองได้ทำศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงชีวิตตั้งแต่เด็ก ซึ่งในเรื่องฝีมือของศัลยแพทย์นับว่าโด่งดังระดับโลกอยู่แล้ว แต่ราคาแพงยิ่งกว่าเมืองไทยกว่า 4 เท่าเลยทีเดียว สำหรับการศัลยกรรมแบบครบวงจร
"ที่เมืองมะนิลาการศัลยกรรมก็กำลังพ็อปอยู่เหมือนกัน เพียงแต่คลินิกหรือโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ที่นั่นไม่สามารถทำการศัลยกรรมยาก ๆ หรือต้องใช้เทคโนโลยีเยอะเข้าช่วยได้เหมือนเมืองไทย ซึ่งส่วนตัวมองว่าราคากับฝีมือศัลยกรรมค่อนข้างสมเหตุสมผล เท่าที่สังเกตตอนอยู่ในโรงพยาบาลยันฮีจะเห็นว่า แม้แต่คนเกาหลียังมาทำที่เมืองไทยก็มี"
ผลงานหลังผ่านการแปลงโฉมด้วยมีดหมอ ของ 3 สาว 3 ชาติในแคมเปญ Thailand Extreme MakeOver ถือได้ว่า "งานดี" สามารถยกระดับความงามของทั้ง 3 สาวให้อยู่ในระดับที่น่าตื่นตะลึงกับฝีมือศัลยแพทย์ตกแต่งของเมืองไทยแบบสุดสุด