5 เทคนิคการกิน...เลี้ยงยังไงไม่ให้เสียหมา
เจ้าของสุนัขที่ประสบความสำเร็จจะขาดเสียไม่ได้ คือ ศิลปะการให้อาหาร เพื่อให้สุนัขได้มาซึ่งพลังงานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต คุณลองย้อนดูตัวเองว่า ทัศนคติในการให้อาหารน้องหมา ของคุณนั้นแตกต่างจากเนื้อหาด้านล่างหรือไม่
ตามใจสุนัขจนกินมากเกินไป
เจ้าของต้องทำใจแข็งอย่างหนักหน่วง ยามเห็นลูกหมาตัวโปรดกินอาหารอย่างเอร็ดอร่อย ย่อมทำใจลำบากที่จะห้ามน้องหมาให้หยุดกินได้ นอกจากนี้ยังให้ขนมขบเคี้ยวหรือขนมหวานล้างปากอีกด้วย หากคุณมีพฤติกรรมดังกล่าวแนะนำว่า เลิกซะ! ...เพราะไม่ดีต่อสุขภาพสุนัข และทำให้น้องหมานิสัยเสียอีกด้วย ทางที่ดีควรวางชามอาหารไว้แค่ 15 นาที จากนั้นก็เก็บ วิธีนี้จะสอนให้เขารู้ว่าจะกินได้ก็ต่อเมื่อมีชามอาหารมาให้เท่านั้น
น้ำดื่ม...อย่าให้ขาด
น้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย กว่า 60% ของร่างกายน้องหมาคือน้ำ ดังนั้นจึงขาดน้ำไมได้เด็ดขาด เราต้องเตรียมน้ำสะอาดใส่ในภาชนะพร้อมให้ลูกสุนัขกินตลอดเวลา แต่ต้องเลือกภาชนะที่ลูกหมาไม่สามารถคว่ำได้ง่าย เพราะลูกหมาเองนอกจากชอบกินน้ำแล้ว ยังชอบเล่นน้ำอีกด้วย จึงพบบ่อยที่ลูกหมามักคว่ำชามน้ำ แล้วนอนแช่น้ำอย่างเย็นใจ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่เล่นน้ำ เช่น โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ฯลฯ และอย่าลืมว่าคุณภาพน้ำที่ให้ลูกสุนัขกินนั้นจะต้องสะอาดในระดับที่คนสามารถกินได้ ขอให้จำไว้ว่าถ้าสุนัขกินน้ำมาก ก็จะฉี่บ่อยมากในอีกสองชั่วโมงต่อมา
ลูกหมาต้องกินวันละกี่มื้อ
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการคำนวณว่าปริมาณอาหารที่สุนัขต้องการ / วัน นั้นมีจำนวนเท่าไร ขอแนะนำว่า
ลูกสุนัข 2 เดือน ควรให้ทานอาหารวันละ 4 มื้อ
ลูกสุนัขอายุ 3 เดือน ควรให้ทานอาหารวันละ 3 มื้อ
ลูกสุนัขอายุ 4 เดือน – 1 ปี ควรให้ทานวันละ 2 มื้อ
สุนัขอายุ 1 ปีขึ้นไป ควรให้ทานวันละ 1- 2 มื้อ
เพิ่ม tips สักนิดว่าควรให้อาหารในชามเดียวและบริเวณเดียวกันเสมอ เพื่อสร้างวินัยการกินอาหารที่ถูกต้องกับสุนัข
หมั่นชั่งน้ำหนักลูกหมา
น้ำหนักตัวเป็นตัวชีวัดการเติบโตของลูกสุนัขได้เป็นอย่างดี เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงแสดงถึงสภาวะโภชนาการที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในทางบวกและทางลบ ดังนั้นเจ้าของควรชั่งน้ำหนักลูกสุนัขอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 หน และเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของตัวเลขดังกล่าว เพื่อดูว่ามีพัฒนาการเป็นอย่างไรบ้าง
ฝึกนิสัยการกินที่ดีให้กับสุนัข
ลูกสุนัขบางตัวมีนิสัยหวงของกิน อาจเป็นเพราะกลัวตัวอื่นจะมาแย่งกิน ซึ่งเมื่อเขาโตขึ้นจะทำให้เขามีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวทำร้ายหมาตัวอื่นหรือไม่ก็กัดคนที่เข้ามาป้วนเปี้ยนใกล้กับชามข้าวของเขา หากที่บ้านเลี้ยงสุนัขหลายตัว ปัญหาที่พบบ่อยคือ ลูกหมาชอบเข้าไปยุ่งวุ่นวายกับชามข้าวของสุนัขโตซึ่งผลลัพธ์คือลูกหมาถูกกัดจนเจ็บตัวมาเยอะแล้ว ดังนั้นเราต้องหมั่นฝึกนิสัยการกินที่ดีให้กับเขา ด้วยการสร้างความคุ้นเคยให้ลูกหมากับการมีคนไปวุ่นวายขณะกินอาหาร เช่น กินไปลูบตัวลูกหมาไป เป็นต้น
อย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงในทุกช่วงวัยเจ้าของต้องเปลี่ยนแปลงสูตรอาหารตามไปด้วย ทั้งนี้ไม่ควรหักดิบในทันที เพราะอาจทำให้น้องหมาท้องเสียได้ เนื่องจากระบบการย่อยอาหารที่ผิดไปจากเดิม...ควรใช้แผนรักซึมลึก ด้วยการค่อยๆ เติมอาหารสูตรใหม่ และค่อยๆ ลดอาหารสูตรเก่าไปเรื่อยๆ จนครบ 100%
ขอบคุณภาพประกอบ : http://istockphoto.com/