อัลไซเมอร์ เช็ก คำถาม 14 ข้อ รีบประเมินก่อนสมองเสื่อม

อัลไซเมอร์ เช็ก คำถาม 14 ข้อ รีบประเมินก่อนสมองเสื่อม

อัลไซเมอร์ เช็ก คำถาม 14 ข้อ รีบประเมินก่อนสมองเสื่อม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"อัลไซเมอร์" โรคสมองเสื่อมประเภทหนึ่งที่ปัจจุบันเป็นภาวะที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ รุนแรงและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ โดยผู้ป่วยจะมีอาการไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเอง มีปัญหาในเรื่องการใช้ภาษา การประสานงานของกล้ามเนื้อเสียไป ความจำเสื่อม ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว คนรอบข้าง และสังคมอย่างที่เรานึกไม่ถึงเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมก็ควรทำความเข้าใจด้วยว่า ผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจที่จะหลงลืม ก้าวร้าว หรือหงุดหงิดเช่นพฤติกรรมที่แสดงออกมา

แพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจน นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า การดูแลคนสมองเสื่อมเป็นเรื่องยาก การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุก ๆ คนต้องร่วมกัน เพียงแค่การพูดคุยกับผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ มีการถามข่าวคราวบ้าง หากบางทีเขามีอาการน้อยใจต้องรีบคุย หาทางแก้ปัญหา นั่นก็เป็นวิธีหนึ่งแล้ว หรือจะพาผู้ป่วยออกมาเจอสังคม จะทำให้เขารู้สึกสดชื่นขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คำว่า "กันไว้ย่อมดีกว่าแก้" ยังคงใช้ได้เสมอ การรู้เท่าทันต้นสายปลายเหตุของโรคก็ถือเป็นการป้องกันโรคได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงการสังเกตพฤติกรรมของอาการแรกเริ่มก็เป็นเรื่องที่ควรกระทำเช่นกัน

โดยระยะแรกจะดูได้จากการหลงลืมในเรื่องง่าย ๆ ต่อมาจะเริ่มเรียกชื่อสิ่งของไม่ค่อยถูก เช่น ไม่รู้ว่าสิ่งนี้เรียกว่า "ปากกา" รู้แต่ว่ามันสามารถใช้ขีดเขียนได้ ต่อมาจะพูดรู้เรื่องน้อยลง และท้ายสุดอาจถึงขั้นที่ว่าจะไม่สามารถพูดได้เลย

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยมักจะไม่สามารถแยกแยะทิศทางด้านซ้ายหรือด้านขวาได้ ไม่สามารถเขียนแผนที่ หรืออธิบายเส้นทางอย่างชัดเจนได้ เนื่องจากจินตนาการความคิดจะเริ่มหายไป อีกกรณีหนึ่งคือการเล่าเรื่องซ้ำ ๆ ถามอะไรซ้ำ ๆ ซึ่งผู้อยู่รอบข้างอาจรู้สึกหงุดหงิดและรำคาญกับพฤติกรรมดังกล่าว อาการที่ถือว่าหนักสุด คือการที่ไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นใคร จำชื่อ-นามสกุลไม่ได้ และคนไข้จะรู้สึกว่าตัวเองมีอายุน้อยลง แล้วท้ายสุดจะจำใครไม่ได้เลย แต่จะมีความรู้สึกคุ้น ๆ ว่าเป็นลูกหลานคนใกล้ตัว หรือคนรู้จักกัน

หรือสามารถเทสต์แบบทดสอบ "อัลไซเมอร์ เช็ก" ง่าย ๆ ผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ www.thaimemorytest.com ที่แนะนำโดยบริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นแบบทดสอบซึ่งแปลจากบทความใน British Medical Association ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก มีคำถามทั้งหมด 14 ข้อเกี่ยวกับสิ่งที่พบเจอได้บ่อยในกิจวัตรประจำวัน เกณฑ์การให้คะแนนอยู่ที่ความถี่ต่อพฤติกรรมนั้น ๆ เมื่อรวมคะแนนแล้วจะมีคะแนนสูงสุดอยู่ที่ 56 คะแนน หากทดสอบได้ 40 คะแนนขึ้นไปควรพบแพทย์ เพราะมีแนวโน้มสูงที่จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์

งานนี้ใครที่หลงลืม อยู่บ่อย ๆ รีบเข้าเว็บไซต์ไปเช็กให้ชัวร์ !

 

ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.istockphoto.com/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook