ทำไมต้อง "หลุยส์ วิตตอง"

ทำไมต้อง "หลุยส์ วิตตอง"

ทำไมต้อง "หลุยส์ วิตตอง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย ก้อย ประชาชาติ

การบุกจู่โจมโรงงานผลิตกระเป๋า "หลุยส์ วิตตอง" ปลอมของตำรวจจีนมูลค่าพันล้านหยวน เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมากลายเป็นกระแสฮือฮาไปทั่วโลก

สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ระบุว่า ของกลาง "ก๊อปเกรดซูเปอร์พรีเมี่ยม" เหล่านี้ถูกส่งขายตามห้างสรรพสินค้าหรูในเมืองจีนเอง รวมถึงออร์เดอร์จากลูกค้าต่างประเทศจากทั่วทุกมุมโลก

"ฐานผลิตแห่งนี้ปลอมได้เนียนมากยากที่คนทั่วไปจะจับผิดได้ คงมีแต่กูรูผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่จับผิดได้จริง ๆ"

รายงานข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่างโจวปฏิบัติการจู่โจมบุกทลายเครือข่ายอาชญากรรมที่ลักลอบผลิตและจำหน่ายสินค้ากระเป๋าหนังปลอมแปลง "หลุยส์ วิตตอง" สามารถจับตัวผู้กระทำผิดและปิดโรงงานเถื่อน 6 แห่ง

โดยภายในโรงงานและคลังเก็บสินค้าพบกระเป๋าประเภทต่าง ๆ ที่ติดตรา "LV" มากกว่า 11,000 ใบ และตราโลโก้อีกมากกว่า 30 ล้านชิ้น

"บรรดาสินค้าปลอมซึ่งผู้เชี่ยวชาญแบรนด์เท่านั้นถึงจะสามารถแยกแยะได้เหล่านี้จะถูกส่งไปขายในห้างสรรพสินค้าไฮเอนด์ของจีนแผ่นดินใหญ่ และเจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติผ่านเว็บไซต์ปลอมที่เลียนแบบเว็บไซต์ทางการของหลุยส์ฯ"

ด้วยกระบวนการผลิตสินค้าที่มีความละเอียดประณีตสูง พร้อมใบรับรองสินค้าแท้ และใบแจ้งราคาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพื่อหลอกลวงลูกค้าอย่างแนบเนียนยิ่งขึ้น

หากขายสินค้าเหล่านี้ในราคาเดียวกับของแท้จะฟันกำไรมหาศาลเลยทีเดียว

แล้วทำไมต้องเป็น "หลุยส์ วิตตอง"

กระเป๋า LV ได้รับความนิยมสูงมากจนกลายเป็นสินค้าติดอันดับต้น ๆ ที่มักถูกเลียนแบบ และพบของปลอมบ่อยที่สุดและเหมือนที่สุด ปลอมเหมือนจนกระทั่งใบเสร็จและแพ็กเกจจิ้ง

สอดคล้องกับรายงานวิจัยตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยจีนของสถาบันฟอร์จูน แคแร็กเตอร์ (Fortune Character) ในมหานครเซี่ยงไฮ้ เปิดเผยว่า ชาวจีนซื้อของฟุ่มเฟือยจากต่างชาติคิดเป็นมูลค่ารวม 74,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากตัวเลขที่เก็บในปี 2556

ขณะที่ผู้บริโภคจำนวนมากที่อยากได้แต่ไร้กำลังทรัพย์ ก็มีแนวโน้มหันไปซื้อของปลอมเกรดพรีเมี่ยม-เกรดมิลเลอร์มาทดแทน

ปัจจุบันสินค้าหรู "หลุยส์ วิตตอง" ไม่ได้มีแค่กระเป๋า และ Accessories ที่เกี่ยวกับกระเป๋าเท่านั้น แต่ยังขยายไลน์ไปทำรองเท้าหนัง เสื้อผ้าสำเร็จรูป นาฬิกา และเครื่องประดับจิวเวลรี่ ที่สำคัญทุกสินค้าต้องคงความพรีเมี่ยม

ไม่ใช่แค่ความประณีต, สวยงามและคุณภาพ แต่ยังรวมถึงการควบคุม "อิมเมจ" ที่เข้มแข็ง เช่นเดียวกับกลุ่ม LVMH ที่ตอกย้ำถึงความเป็นตัวตนของหลุยส์ วิตตองมาโดยตลอดว่า

"ชื่อเสียงทุกวันนี้เริ่มจากสินค้าที่มีคุณภาพดีที่สุด ส่วน Brand Power ก็มาจาก Heritage & Tradition ของแบรนด์ที่สะสมมานานจนเป็นสินทรัพย์ที่ประเมินค่าไม่ได้ วันนี้...เราจึงต้องควบคุมทุกรายละเอียดอย่างเข้มข้น เพื่อรักษาอิมเมจของแบรนด์เอาไว้"

การถือแบรนด์ "หลุยส์ วิตตอง" จึงเป็นเสมือนการยกระดับ "รสนิยม" การจับจ่ายใช้สอย และการบ่งบอกถึงสถานภาพทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางหรือหนุ่มสาวเฟิรสต์ จ็อบเบอร์ ที่อย่างน้อยต้องคว้าแบรนด์แฟชั่นหรูซึ่งไม่เพียงแค่หลุยส์ วิตตอง แต่อาจเป็นชาแนล กุชชี่ หรือปราด้า ที่ต้องมีเอาไว้ครอบครอง

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยายตัวของกำลังซื้อ เศรษฐกิจ ชนชั้นกลาง และคนรุ่นใหม่ในเมืองไทย เป็นหนึ่งในตลาดที่สินค้าแฟชั่นหรูจากทั่วทุกมุมโลก ต้องการเข้ามาปักธงและจับจองพื้นที่ รองรับกับกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งคนในประเทศและนักท่องเที่ยว

"เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิ เอ็มโพเรียม กรุ๊ป จำกัด ฉายภาพว่า การเข้ามาของแบรนด์แฟชั่นหรูเหล่านี้ สะท้อนถึงความมั่นใจในศักยภาพของประเทศ และกำลังซื้อกลุ่มใหม่ ๆ ที่ขยายตัว ซึ่งแบรนด์เหล่านี้มองการเติบโตในอนาคต

และการมาก่อนย่อมได้เปรียบทั้งในแง่ของการจับจองพื้นที่ และทำเลทองในศูนย์การค้าหลักเช่นเดียวกับภาพหลังเปิดอาเซียน ซึ่งเมืองไทยจะเป็นฮับของภูมิภาคที่ดูดคนเข้ามาจากทั่วทุกมุมโลก

ปัจจุบันยังมีแบรนด์อีกจำนวนมากที่ยังไม่เคยมา และต้องการที่จะเข้ามาเมืองไทย ด้วยเห็นศักยภาพการเติบโตของแบรนด์ที่เปิดมาก่อนแล้วตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

แม้กระทั่ง "แคมเปญ" ของสินค้าหลาย ๆ อย่างยังต้องแจกกระเป๋าหลุยส์ วิตตอง เพื่อดึงดูดและยิงตรงใจกลุ่มเป้าหมาย เห็นได้จากแคมเปญการตลาดตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา ต่างโหนกระแสแจก "หลุยส์ วิตตอง" ท่วมทั้งตลาด อาทิ ผงขจัดคราบแวนิช, บี-อิ้ง บิวตี้ หรือแม้กระทั่งกระดาษทิสชู่คลีเน็กซ์ ต่างก็ล้วนไม่พลาดที่จะมอบ "หลุยส์ วิตตอง" เข้ามาสร้างสีสันและดูดยอดขายจากกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้

แล้วอย่างนี้...ทำไมจะไม่เป็น "หลุยส์ วิตตอง"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook