ใช้ไมโครเวฟให้ปลอดภัย ต้องปรุงอาหารให้ถูกวิธี
ยุคนี้บ้านไหนๆ ก็มี “ไมโครเวฟ” กันแล้วทั้งนั้น เพราะช่วยให้ชีวิตที่เร่งรีบดูง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่การใช้ไมโครเวฟนั้นก็ไม่ได้ง่ายเสมอไป เพราะยังต้องคำนึงถึงภาชนะที่ใช้ใส่อาหารและข้อควรระมัดระวังด้วย ซึ่งวิธีง่าย ๆ ก็เพียงสังเกตฉลาก สัญลักษณ์รูปไมโครเวฟ และการใช้คำ Microwave Safe, Oven Safe, Dishwasher Safe ที่อยู่ด้านข้าง และไม่ควรใช้ภาชนะที่มีส่วนประกอบของโลหะ เพราะอาจทำให้เกิดประกายไฟได้ ซึ่งภาชนะที่ใช้กับไมโครเวฟได้มี ดังนี้
ภาชนะที่ทำด้วยแก้ว (Glass) เป็นภาชนะที่นำเข้าไมโครเวฟได้ดีและปลอดภัยที่สุด เพราะแก้วมีทรายเป็นองค์ประกอบหลัก โดยผ่านกระบวนการหลอมในอุณหภูมิที่สูงมาก จะทำให้แก้วโปร่งใสและไม่มีรูพรุน เมื่อนำมาใช้กับไมโครเวฟภาชนะแก้วจึงไม่ดูดซึมน้ำและสารอาหาร หากภาชนะแก้วที่มีคุณภาพดี เนื้อหนา ก็นำมาใส่อาหารแช่เย็นและนำเข้าไมโครเวฟได้ทันที ทั้งนี้ภาชนะแก้วจะต้องไม่ตกแต่งขอบหรือลวดลายด้วยสีทองและสีเงิน
เซรามิก (Ceramic) เป็นภาชนะที่เหมาะจะใช้กับไมโครเวฟได้เป็นอย่างดีและปลอดภัย แต่ต้องเลือกใช้ภาชนะเซรามิกที่มีคุณภาพดี เพราะภาชนะเซรามิกมีอย่หู ลายประเภทมีทั้งที่ทนความร้อนได้สูงจนถึงต่ำ ตามแต่กระบวนการผลิต ทั้งนี้ไม่ควรเลือกใช้ภาชนะเซรามิกที่ตกแต่งลวดลายบนเครือบด้วยสีสันต่าง ๆ เพราะจะทำให้สารตะกั่วและแคดเมียมละลายออกมาปนเปื้อนกับอาหาร
พลาสติกเมลามีน (Melamine) เป็นภาชนะที่ใช้งานได้กับไมโครเวฟเพียงแค่อุ่นอาหารเท่านั้น และอาหารจะต้องมีความชื้นสูง เช่น แกงส้มก๋วยเตี๋ยว อุ่นในอุณหภูมิที่ไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-3 นาทีหากใช้พลาสติกเมลามีนปรุงอาหาร หรือใช้ในอุณหภูมิสูงและนานเกินอาจทำให้พลาสติกเมลามีนแตกและไหม้ได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่ออาหารที่จะรับประทาน ทั้งนี้ต้องดูคุณภาพของพลาสติกเมลามีน
ภาชนะที่ทำด้วยกระดาษ รวมทั้งกระดาษที่เคลือบด้วยแวกซ์ นำมาใช้กับไมโครเวฟได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงภาชนะกระดาษที่มีลวดลายตัวอักษรต่างๆ เพราะความร้อนจะทำให้สารที่อยู่ในตัวหมึกพิมพ์ปนเปื้อนกับอาหาร และควรเลือกใช้ระดับอุณหภูมิให้เหมาะสม
ทดสอบภาชนะใส่อาหารก่อนเข้าไมโครเวฟ : การทดสอบภาชนะที่นำมาใช้ให้มั่นใจอีกครั้งด้วยวีธีง่าย ๆ คือ นำภาชนะเปล่าและแก้วน้ำที่มีน้ำอยู่ 250 มิลลิลิตร โดยวางใกล้ ๆ กันในไมโครเวฟ ใช้ความร้อนสูงสุด ประมาณ 1 นาที จากนั้นตรวจดูภาชนะและแก้วน้ำ หากภาชนะเปล่าร้อนแต่น้ำในแก้วอุ่น ๆ แสดงว่าภาชนะดูดกลืนคลื่นไมโครเวฟ จึงไม่เหมาะที่จะนำไปใช้กับไมโครเวฟ เพราะจะทำให้อาหารสุกช้า และสิ้นเปลืองพลังงานทั้งนี้ควรเลือกภาชนะที่ทนความร้อน ทนการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิได้ดี
อาหารสุกไม่ทั่ว : การปรุงอาหารด้วยไมโครเวฟ คือการทำอาหารให้สุกด้วยความร้อนในช่วงเวลาสั้น ๆ จึงอาจทำให้อาหารสุกไม่ทั่ว ดังนั้นในการปรุงอาหารเราไม่ควรเลือกใช้วัตถุดิบที่มีชิ้นหนา หรือใหญ่จนเกินไป เพราะจะทำให้ความร้อนเข้าไปไม่ถึงตรงกลางของอาหาร นอกจากนี้การจัดอาหารก็ควรจัดให้กระจายห่างกัน ไม่ควรรวมเป็นกระจุกเดียว บางครั้งอาจต้องปรุง 2 รอบเพื่อกลับด้านให้อาหารสุกทั่วกัน แต่หากปริมาณอาหารมีน้อยจนเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อไมโครเวฟ เพราะเมื่ออาหารมีน้อย พื้นที่ในการดูดซับคลื่นไมโครเวฟก็มีน้อยด้วย จึงทำให้คลื่นไมโครเวฟส่วนที่เหลือสะท้อนกลับ ทำให้ไมโครเวฟร้อน และเสียหายได้
ระเบิดน้ำ : การต้มน้ำในไมโครเวฟ อาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้งานได้ เพราะการต้มน้ำในไมโครเวฟเมื่อถึงจุดเดือดจะไม่มีฟองอาการผุดขึ้นมาเพื่อช่วยลดความดัน และช่วยลดอุณหภูมิให้อยู่ที่จุดเดือดปกติ จึงทำให้น้ำที่ต้มในไมโครเวฟมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ และเมื่อถูกรบกวน เช่น นำภาชนะออกมาจากเตา ใส่กาแฟ หรือถุงชาลงไป อาการน้ำเดือดก็จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หรือที่เรียกว่า “ระเบิดน้ำ” แต่หากต้องการต้มน้ำในไมโครเวฟควรใส่แท่งไม้สำหรับคนกาแฟหรือถุงชา ลงไปด้วยเพื่อกระจายพลังงาน หรือต้มน้ำไม่เกิน 2 นาที และหลังจากต้มเสร็จแล้วควรรอประมาณ 30 วินาที ก่อนนำออกจากไมโครเวฟ หรือก่อนใส่อะไรลงไปในน้ำร้อน
ฟอยล์ห่ออาหาร : ในปัจจุบันฟอยล์ห่ออาหารมักทำมาจากอะลูมิเนียมบาง ๆ เมื่อนำเข้าไมโครเวฟจึงทำให้ลุกไหม้ได้ง่าย ดังนั้นก่อนนำอาหารเข้าไมโครเวฟทุกครั้งควรนำฟอยล์ที่ห่อหุ้มอาหารอยู่ออกให้หมดเสียก่อน จึงนำเข้าไมโครเวฟ