แนะ นักเดินทาง สำรองยา 3-5 วัน

แนะ นักเดินทาง สำรองยา 3-5 วัน

แนะ นักเดินทาง สำรองยา 3-5 วัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปีใหม่นี้ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) แนะนำนักเดินทางควรพกยาที่จำเป็น เช่น ยารักษาโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง ยาจำเป็นพื้นฐานสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดยสำรองให้เท่ากับวันเดินทาง หรือเพิ่มอีก 3-5 วัน และขณะขับรถควรเลี่ยงยากลุ่มที่กินแล้วทำให้ง่วง

ภญ.วนิชา ใจสำราญ รักษาการผู้อำนวยการ อภ. เปิดเผยว่า การเตรียมยาในระหว่างเดินทาง ไม่ว่าจะเดินทางในประเทศหรือต่างประเทศ สำคัญที่สุดอันดับแรกคือการเตรียมยาในส่วนของผู้สูงอายุ ที่ส่วนใหญ่จะมีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว ซึ่งยาของผู้สูงอายุจะมียาที่ต้องกินเป็นประจำ ต้องเตรียมยาในปริมาณเท่ากับวันที่เดินทาง หรือสำรองเพิ่ม 3-5 วัน และควรจะติดชื่อยาไปด้วย เพราะหากยาตกหล่น สูญหายจะได้สามารถซื้อยาตัวเดิม หรือเข้าโรงพยาบาลแจ้งแพทย์ได้ว่าเดิมใช้ยาอะไร

ภญ.วนิชากล่าวว่า ส่วนยารายการอื่นๆ จะเป็นยาพื้นฐานสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน อาทิ พาราเซตามอลแก้ไข้ ทั้งชนิดเม็ดและน้ำเชื่อม ยาแก้แพ้ ซึ่งสามารถลดน้ำมูกและใช้แก้คันได้ด้วย ยาลดกรดชนิดน้ำ ซึ่งออกฤทธิ์ได้เร็วกว่าชนิดเม็ด ผงเกลือแร่ ผงถ่านกรณีท้องเสีย ยาแก้เมารถ ยาแก้ปวดเมื่อย และอุปกรณ์ทำแผล

"กรณีต้องขับรถเอง หากมีการใช้ยาในระหว่างนั้น ต้องศึกษาก่อนว่ายาที่จะกินมีตัวใดที่จะออกฤทธิ์ทำให้มีอาการง่วงนอน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเภทยาลดน้ำมูก ยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือยาในกลุ่มแก้ปวดไมเกรน ยาคลายกังวลบางชนิด ยากลุ่มนี้จะทำให้ง่วงนอน เป็นผลให้ความสามารถในการตัดสินใจช้าลง หากกินแล้วขับรถอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ในกรณีไม่สามารถเลี่ยงได้ ควรจอดรถนอนพักจนหายง่วง แล้วจึงขับต่อไป" ภญ.วนิชากล่าว และว่า ในช่วงดังกล่าวอาจจะมีโรคที่เกิดขึ้นบ่อย ได้แก่ ไข้หวัด เนื่องจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน พักผ่อนน้อย รวมถึงอยู่ในที่ที่มีคนหนาแน่น ทำให้มีโอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่าย และอีกโรคคือท้องเสีย ต้องเตรียมยาและผงน้ำตาลเกลือแร่สำรองเพิ่มสำหรับหลายคน

ส่วนผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ภญ.วนิชากล่าวว่า โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหารกเกาะต่ำ ในการเดินทางที่กระทบกระเทือนต้องระวังมาก หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยง และถ้าหากมีอาการปวดหรือมีไข้ฉับพลัน ให้เลือกใช้เฉพาะยาพาราเซตามอลเท่านั้น หรือหากมีน้ำมูก สามารถใช้คลอเฟนนิรามีนได้ แต่ที่สำคัญที่สุด ควรมีเบอร์โทรศัพท์ของแพทย์หรือพยาบาลที่ฝากครรภ์ไปด้วย เพื่อหากมีปัญหาจะได้โทรปรึกษา หรือหากมีเหตุสุดวิสัยให้เข้าพบแพทย์ที่สถานพยาบาลในพื้นที่นั้นๆ ทันที

นอกจากนี้ยังมีโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการเดินทางคือ โรคกระเพาะอาหาร เนื่องจากกินอาหารไม่ตรงเวลาและพักผ่อนน้อย อีกโรคที่จะพบมากสำหรับผู้หญิงคือ โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ เนื่องจากระหว่างการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ อาจไม่สะดวกในการเข้าห้องน้ำ ทำให้ต้องกลั้นปัสสาวะ และสุดท้าย การไปเที่ยวป่าหรือน้ำตกต้องระวังในเรื่องของไข้เลือดออกหรือมาลาเรีย ถ้ามีไข้ควรรีบพบแพทย์ทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook