ต้ม-ตุ๋นนาน เสี่ยงคุณค่าอาหารลด
ด้วยความเร่งรีบบวกกับไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่ไม่ค่อย มีเวลาสักเท่าไร ทำให้หลายคนชอบซื้ออาหารสำเร็จรูปหรืออาหารที่ปรุงสุกแล้วมากักตุนไว้เป็นจำนวนมาก และเมื่อทาน ไม่หมดก็นำไปเก็บไว้ในตู้เย็น แล้วนำมาอุ่นรับประทานในมื้อ ต่อไป ‘ดร.น.พ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์’ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงอันตรายจากอาหารค้างคืนที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพว่า
“อาหารที่มีการอุ่นซ้ำซากหรือต้มตุ๋น เป็นระยะเวลานานเกิน 4 ชั่วโมงขึ้นไป จะมีโอกาสทำให้คุณค่าด้านโภชนาการลดลง ดังนั้น ควรปรุง อาหารแต่พอกินในแต่ละมื้อ เพราะอาหารที่ปรุง สุกใหม่ คุณค่าทางโภชนาการจะมีมากกว่าอาหาร ที่ผ่านการอุ่นหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะอาหารประเภทเป็ดพะโล้ ห่านพะโล้ หมูสามชั้น ซึ่งในขณะปรุงจะมีการเคี่ยวด้วยน้ำตาลเพื่อให้รสชาติที่อร่อย ข้อควรระวังคือ เมื่อโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ถูกความร้อนจากการเคี่ยว ต้มตุ๋นเป็นเวลานาน อาหารพวกนี้มักถูกตรวจพบสารกลุ่มเฮ็ตเตอโร- ไซคลิกเอมีน ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง อาหารประเภทผักสด ผัดผัก ผักลวก นึ่ง ต้ม ถ้าเหลือแล้วนำไปเก็บไว้รับประทานมื้อต่อไป คุณค่าทางโภชนาการจะลดลง หากเก็บรักษาไม่ดีพอ จุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในระหว่างเก็บก็จะทำให้ ท้องเสียได้
ส่วนการรับประทานเนื้อแดงมากๆ จะมี แนวโน้มทำให้การรับประทานผักและผลไม้ลดลง ทำให้ป้องกันเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายไปจากกระบวนการ Oxidation หรือการเกิดอนุมูลอิสระ เมื่อเกิดขึ้น อย่างต่อเนื่องก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น โรคมะเร็งบางชนิด ดังนั้น จึงควรกินผักสดเป็นประจำ อย่างน้อยมื้อละ 2 ทัพพี เพราะในผักมีวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ดีต่อร่างกาย”
การปฏิบัติตนให้มีสุขภาพดีด้วยการกินอาหาร ที่ถูกต้อง ทั้งปริมาณ คุณภาพ ตามหลักโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดีคือ
1. กินอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
2. กินผักชนิดต่างๆ อย่างน้อยมื้อละ 2 ทัพพี
3. กินผลไม้อย่างน้อยมื้อละ 1-2 ส่วน เช่น กล้วยน้ำว้าหรือส้ม
4. เลือกวัตถุดิบในการปรุงอาหารที่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนของสารเคมีและสิ่งเจือปน
5. ลดการกินอาหารมัน ได้แก่ อาหารทอด น้ำมัน เช่น ไก่ทอด หมูทอด อาหารที่มีกะทิ เช่น แกงกะทิ หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันทอดซ้ำ
6. ลดการกินอาหารหวาน
7. ลดการกินเค็ม โดยเฉพาะเครื่องปรุงรสเค็ม
8. ลดการกินอาหารแปรรูป หลีกเลี่ยง อาหารที่มีสีเกินความเป็นสีธรรมชาติ เช่น เนื้อสัตว์ แปรรูปสีแดง
9. หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไว้ค้างคืน
10. ดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ผู้ชาย รอบเอวไม่เกิน 90 ซม. ผู้หญิงรอบเอวไม่เกิน 80 ซม.
11. ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน
12. ทำใจให้สบาย คิดบวกเสมอ