“แจ็คกี้” จากช่างเสริมสวยสู่นักไตรกีฬา “ฉันเป็นนักไตรกีฬานะยะ”

“แจ็คกี้” จากช่างเสริมสวยสู่นักไตรกีฬา “ฉันเป็นนักไตรกีฬานะยะ”

“แจ็คกี้” จากช่างเสริมสวยสู่นักไตรกีฬา “ฉันเป็นนักไตรกีฬานะยะ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในสังคมที่การมีรสนิยมชอบเพศเดียวกันถือเป็นความเบี่ยงเบน เธอและเขาเหล่านั้นมักจะถูกบังคับ (ทางอ้อม) ให้ต้องพิสูจน์ตัวเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับจากคนรอบข้าง


วิถีแห่งการพิสูจน์ตัวเองนั้นแตกต่างกันออกไป บางคนเลือกที่จะสร้างรูปกายภายนอกให้งดงามตามสมัยนิยม บางคนเลือกที่จะสร้างฐานะให้มั่นคง แต่ “แจ็ค” ผู้ที่จะมาพูดคุยกับเราในวันนี้ เธอเลือกที่จะเป็นนักวิ่งและนักไตรกีฬาที่ทรหดอดทน เพื่อบอกกับทุกคนว่า

“อยากให้มองกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีศักยภาพในการเอาชนะขีดจำกัดของตัวเองเหมือนที่ทุกๆ คนมี เพราะตลอดชีวิตการเป็นกะเทย เรามักจะถูกประเมินให้ต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอ โอเค ถ้าคุณเป็นตุ๊ดที่สวยมาก คุณอาจจะเป็นพลเมืองชั้น 1.5 หรือชั้น 2 แต่ถ้าคุณไม่สวย คุณอาจจะกลายเป็นพลเมืองชั้นที่ 3, 4 หรือ 5 ในสายตาของคนบางคน”

เธออาจจะไม่สวยมาก แต่เธอแกร่งมาก!

รูปกายภายนอกไม่อาจบ่งบอกถึงความแข็งแกร่งภายใน เธอถักผมเปียพจมาน คุณอาจมองว่าท่าทางของเธอ “กระตุ้งกระติ้ง” ไม่ใกล้เคียงกับนักกีฬาชายร่างกายกำยำ แต่เชื่อเถอะว่าบนสนามแข่งขันสุดโหด เธอวิ่งทิ้งห่างหนุ่มกล้ามโตแบบไม่เห็นฝุ่นมานักต่อนัก



ขอแนะนำให้คุณผู้อ่านรู้จักกับ “แจ็ค” เจ้าของร้านเสริมสวยผู้มีสถิติการวิ่งมาราธอนและไตรกีฬาเป็นของตัวเอง ไม่ใช่แค่อย่างละครั้ง แต่เป็น 22 มินิมาราธอน (10 กิโลเมตร) 15 ฮาล์ฟมาราธอน (21 กิโลเมตร) 9 มาราธอน (42 กิโลเมตร) และ 4 รายการไตรกีฬา

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในเวลา 1 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่ออกไปวิ่งเป็นครั้งแรก

ชื่อจริงของเธอ “นายยุทธพงศ์ กุลอึ้ง” จริงๆ แล้ว คุณไม่จำเป็นต้องรู้ “มันแมนเกินไป ไม่เข้ากับลุคค่ะ” เธอว่าอย่างนั้น เพื่อนๆ ในวงการไตรกีฬาเรียกเธอว่า “แจ็คกี้” หรือ “แจ็ค แจ็ค แจ็ค” ตามชื่อที่ตั้งไว้ในเฟซบุ๊ค และเธอผ่านร้อนหนาวมาแล้ว 42 ปี



คุณอาจจะเรียกเธอว่า “สาวประเภทสอง” แต่เธอเรียกตัวเองว่า “นักวิ่ง นักไตรกีฬา” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ในขณะที่คุณยังหลับใหล เธอตื่นก่อนไก่โห่เพื่อออกไปซ้อมวิ่ง เป็นรางวัลให้กับการมีชีวิตในแบบของตัวเอง

เธอไม่ได้เกิดมาในครอบครัวนักกีฬา เธอเหมือนกับคนอีกหลายๆ คนที่ไม่เคยมีการออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

แล้วอะไรที่ทำให้ช่างเสริมสวยคนหนึ่งเริ่มออกมาวิ่ง หลังจากที่หมกตัวอยู่ในร้าน ทำผม แต่งหน้า ให้บริการลูกค้ามาตลอด 14 ปี?

“เริ่มมาจากได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับนักวิ่งเล่มหนึ่งชื่อ “เย็นวันเสาร์ เช้าวันอาทิตย์” เป็นหนังสือที่มีพลังมาก แนะนำให้อ่านเลยนะคะ แล้วพอดีมีลูกค้าประจำชวนไปวิ่งการกุศลแถวๆ บ้าน แค่สิบกิโลเอง ตอนนั้นคิดว่าฉันวิ่งได้แน่ แล้วเป็นการกุศลด้วย เลยโอเค”



พลังของถ้อยคำ สามารถเปลี่ยนชีวิตคนบางคนได้ เธอซึมซับโลกของนักวิ่งผ่านตัวหนังสือที่เรียงร้อยกันจนเป็นเรื่องราว บางตอนตื่นเต้น เร้าใจ แล้วพลันหดหู่ เจ็บปวด ทุกข์ระทม แต่นักวิ่งก็ไม่เคยหยุดวิ่ง ดังใจความตอนหนึ่งในหนังสือว่า

"เพราะปัจจัยแห่งความกลัว เราไม่อยากเริ่มต้นอะไรหลายต่อหลายอย่าง ไม่เคยก้าวไปบนทางที่ควรไป เราตัดสินใจไม่ได้ ผ่อนผันจนฝันค้าง ด้วยความครุ่นคิดแต่เรื่องที่อาจผิดพลาดบนเส้นทางใหม่ ตรงเส้นปล่อยตัว นักวิ่งต่างไม่เคยลังเล หากตื่นเต้น กระตือรือร้น ใครเล่าจะปฏิเสธว่านั่นไม่ใช่การเริ่มต้นที่ดี"


10 กิโลเมตรแรกในชีวิต ไม่สวยงามแน่นอนสำหรับคนไม่เคยซ้อม เธอทำได้แค่เดินสลับกับวิ่ง เหนื่อยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ก็ได้เรียนรู้ในวันนั้นว่า “ชีวิต” เป็นผลมาจากการเลือกของตัวเอง ปรัชญาที่แสนจะเรียบง่ายค้นพบได้ในการวิ่งที่แสนจะทรมาน

“ด้วยเส้นทางวิ่งนะคะ มันจะผ่านหน้าบ้านเราพอดี ทีนี้ก็คิดว่าฉันเหนื่อยมาก ถึงหน้าบ้านเมื่อไรจะกลับเข้าบ้านนอนเลย ไม่ว่งไม่วิ่งมันแล้ว แต่พอถึงตรงนั้นจริงๆ เรากลับคิดว่าน่าจะทำให้มันจบนะ เส้นชัยมันก็อยู่ที่เดิม ก้าวไปเรื่อยๆ ก็ต้องถึง สุดท้ายก็จบสิบกิโลเมตรแรกได้ค่ะ วันนั้นมีความสุขที่สุดในชีวิต เพราะเอาชนะตัวเองได้”

โลกของนักวิ่งมันเป็นแบบนี้นี่เอง

เธอบอกว่าถ้าวันนั้นเลือกที่จะออกนอกเส้นทางวิ่ง เธอจะเป็นช่างเสริมสวยเหมือนที่เคยเป็นมาตลอด 14 ปี แต่ทันทีที่ผ่านเส้นชัยแรกในชีวิต เหมือนตีตั๋วเที่ยวเดียวเข้าสู่โลกของนักวิ่ง และไม่รู้ว่าจะได้ตีตั๋วเที่ยวกลับเมื่อไร เพราะเธอบอกว่า
“จะวิ่งไปจนวิ่งไม่ไหว วิ่งจนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง”



หลังจากนั้น เธอก็มีกิจวัตรประจำวันเพิ่มขึ้นมา เธอออกไปซ้อมวิ่งทุกเช้ามืด ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะลงสมัครรายการวิ่งอีกครั้งเมื่อไร แต่เธอก็ไม่หยุดวิ่ง เพียงเพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้การเริ่มวันใหม่มีความหมายมากขึ้น

ขึ้นชื่อว่าเป็นนักวิ่ง จิตวิญญาณของพวกเขาจะถูกปลุกอยู่เสมอด้วยการท้าทายตัวเองให้ก้าวข้ามขีดจำกัด การออกไปวิ่งในตอนเช้าทุกวันทำให้เธอฝันอยากจะเป็น “นักวิ่งมาราธอน” กับเขาบ้าง

มาราธอนที่แปลว่า 42.195 กิโลเมตร...

เธอต้องวิ่งให้ไกลที่สุด เพราะสัญญากับตัวเองไว้แล้วเมื่อ 27 ปีก่อน

กิจกรรมเดินทางไกลของลูกเสือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เด็กผู้ชายในกลุ่มหลายคนหันมาล้อเลียนเธอ พวกเขาว่า “กะเทยอ่อนแอๆๆๆ” อ่านจากสายตาของพวกเขา เธอรู้ดีว่าการมีเธอเป็นเพื่อนร่วมกลุ่มทำให้พวกเขาลำบากใจ แม้จะไม่รู้เหตุผลที่แน่ชัด แต่ก็พอเดาได้

ตั้งแต่วันนั้น เธอบอกกับตัวเองว่า “ฉันจะเดินทางไกลให้สุดทาง” และอยากให้คนรอบข้างมองเห็นว่าเธอดูแลตัวเองได้ ไม่ใช่ภาระหรือตัวถ่วงของใคร

มาราธอนครั้งแรกมาถึงแบบไม่ทันตั้งตัว เธอไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับการวิ่ง 42 กิโลเมตรมากนัก แต่เธอบอกว่า “ความไม่รู้นั้นมีเสน่ห์” มันกระตุ้นให้เราลงมือทำ เรียกร้องให้เราท้าทาย ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเข้าหามันด้วยความเคารพ

“เดือนกรกฎาปีที่แล้ว ซื้อทัวร์ไปวิ่งที่เกาะพะงัน ฟูลมูนมาราธอน ตั้งใจว่าจะวิ่งแค่ 10 โลนะ ตามปกติของมือใหม่ แต่พี่ที่ไปด้วยกันบอกว่า “ถ้าอยากเป็นนักวิ่งมาราธอน ทำไมไม่วิ่งมาราธอน” มันเป็นคำที่ทำให้เรากลับมาคิด”

โดยทฤษฎี การจะวิ่งในระยะมาราธอนต้องมีการเตรียมตัวและวางแผนซ้อม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว “หัวใจ” ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

ถ้าใจอยู่ที่เส้นชัย สองขาจะพาไปจนถึง แต่จะถึงแบบไหนก็เป็นอีกเรื่อง

เธอตัดสินใจเปลี่ยนไปวิ่งระยะมาราธอน เย็นวันนั้น เธอวิตกอย่างรุนแรง ในใจคิดกังวลว่าบ้าไปแล้ว ทำอะไรไม่คิด จะไปวิ่งอย่างไรได้ ตั้ง 42 กิโลเมตรเชียวนะ ความฟุ้งซ่านอาจส่งเสียงดังเกินไป จนใครคนหนึ่งบอกกับเธอว่า
“มาราธอนไม่ใช่กีฬาของคนใจเสาะ ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ อย่าไปยืนที่จุดสตาร์ทให้เสียเวลา ถอนตัวไปซะ”

ถ้อยคำหนักหน่วง แต่ได้ผล ถ้าคิดจะทำแล้ว ต้องไปให้สุด

ก่อนที่เธอจะรู้ว่าการวิ่งมาราธอนต้องทำอย่างไร เธอก็วิ่งผ่านมันมาแบบไม่ทันตั้งตัว

เกาะพะงัน ฟูลมูนมาราธอน เป็นงานที่เริ่มปล่อยตัวนักวิ่งตอนเที่ยงคืน มีพระจันทร์เต็มดวงเป็นสักขีพยาน เวลาผ่านไปเกือบ 7 ชั่วโมง นับตั้งแต่สัญญาณปล่อยตัวดัง “แจ็ค” ประคองตัวข้ามเส้นชัยมาอย่างเปลี้ยๆ หลังจากโดน “ตะคริว”เล่นงานมาตั้งแต่กิโลเมตรที่ 20 เธอพิชิตมาราธอนแรกในชีวิตได้สำเร็จ

มองย้อนกลับไปในเส้นทางที่วิ่งผ่านมา มันเจ็บปวดจนเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ แต่ก็พิสูจน์แล้วว่า “ฉันไม่ได้อ่อนแอ”

บรรณาการแด่มาราธอนแรกที่ไม่มีการเตรียมตัวคือแผลเสียดสีที่เกิดตามข้อพับ ไม่นับรวมอาการปวดร้าวทั้งร่างกายที่จะติดตัวไปอีกหลายวัน

“ทรมานบันเทิง” นั่นคือนิยามที่เธอมีให้กับมาราธอนครั้งแรก ถึงจะเจ็บปวดมาก แต่บอกกับตัวเองไว้แล้วว่า “มันต้องมีครั้งต่อไป”

“ถ้าคุณอยากวิ่ง ให้วิ่งสักหนึ่งไมล์ก็พอ แต่ถ้าคุณอยากพบชีวิตใหม่ก็จงวิ่งมาราธอน” กล่าวไว้โดย Emil Zatopek นักวิ่งชาวเชโกสโลวาเกีย ปี 1952 ประโยคนี้ถูกนำมาใช้ในภาพยนตร์เรื่อง “รัก 7 ปี ดี 7 หน”

เป็นอันรู้กันว่าใครก็ตามที่ผ่านการวิ่งมาราธอนครั้งแรกมาแล้ว ชีวิตจะไม่เหมือนเดิม ไม่ได้หมายถึงอาการขากะเผลกเป็นเวลาเกือบสัปดาห์ที่เป็นของแถมจากมาราธอน

หากแต่วิธีมองโลกของเขาเหล่านั้นที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เธอบอกว่าการเป็นนักวิ่งมาราธอนจะทำให้รู้สึกได้ถึงศักยภาพของตัวเองทุกหยาดหยดที่มี และไม่มีอะไรที่ต้องกลัวอีกแล้ว เหลือแค่เป็นอมตะกับบินได้เท่านั้นที่อยู่นอกเหนือความสามารถของร่างกาย

“ฉันทำได้” คือประโยคที่จะเล่นซ้ำๆ อยู่ในสมอง ทันทีที่สองขาก้าวผ่านเส้นชัยแห่งมาราธอน

เป็นอันว่ามาราธอนแรกสร้างโลกใบใหม่ให้เธอ และมาราธอนครั้งต่อๆ มา ก็นำเอา “พฤติกรรมแมนๆ” ที่เธอร้างลาไปนานแล้วกลับมาด้วย

“ตอนงานกรุงเทพมาราธอนปีก่อน วิ่งบนถนนบรมราชชนนี ไม่กล้ายืนฉี่ข้างถนนเหมือนผู้ชายเขาเเหละ พอวิ่งมาเรื่อยๆ จะมีปั๊มน้ำมัน รีบวิ่งเข้าไปเลย คนเยอะมาก เลยยืนฉี่ที่โถฉี่กับพวกผู้ชายเลย เพราะปวดมาก จะราดอยู่เเล้ว เลยทำพวกผู้ชายงง ยิ่งพวกที่เดินเข้ามาทีหลังยิ่งงง เห็นสภาพเราถักผมเปียยืนฉี่”

เธอสะสมสถิติมาราธอนของตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า พร้อมๆ กับที่เธอเริ่มเข้าสู่วงการไตรกีฬา อันประกอบไปด้วย ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง

ล่าสุด เธอบอกว่าเธอคือกะเทยคนแรกที่พิชิตไตรกีฬาระยะฮาล์ฟจากรายการชาเลนจ์ ลากูน่า ภูเก็ต การแข่งขันบนเส้นทางสุดโหดที่แม้แต่ชายอกสามศอกยังต้องขอผ่าน

เริ่มจากว่ายน้ำในทะเลเปิด 1.9 กิโลเมตร ปั่นจักรยานบนเขาที่เต็มไปด้วยทางชันและโค้งหักศอก 90 กิโลเมตร และปิดท้ายด้วยวิ่งกลางแดด 21 กิโลเมตร ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในเวลา 7 ชั่วโมงครึ่ง

“ตกลงยังเป็นกะเทยอยู่ไหม” ใครคนหนึ่งเอ่ยปากถาม หลังจากที่เห็นรูปเธอวิ่งกลางแดดเปรี้ยงในเมืองภูเก็ต ด้วยว่าเขาคงไม่เห็นประโยชน์อะไรที่ “กะเทย” คนหนึ่งจะลุกขึ้นมาท้าทายขีดจำกัดของตัวเอง หรือไม่ เขาก็คงเชื่ออย่างสนิทใจว่ากะเทยเป็นเพศที่รักสวยรักงาม

“ชีวิตคนเราต้องมีหลายๆ มุม เราแค่เป็นกะเทยที่หลงใหลเสน่ห์ของการวิ่งและไตรกีฬาเท่านั้นเอง มันคือจุดที่เรายอมรับในสิ่งที่เราเป็น โอเค ฉันเป็นตุ๊ด เป็นนักวิ่ง เป็นนักไตร เป็นช่างทำผม มันก็คือตัวเราทั้งหมด” เธอตอบอย่างเรียบง่าย
ไม่ใช่ว่าเธอไม่เคยลังเล ก่อนหน้านี้เธอก็เหมือนกับอีกหลายๆ คน ที่เชื่อว่ารูปกายภายนอกคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เธอเคยกลัวว่าอดีตแฟนจะนึกรังเกียจที่เธอซ้อมว่ายน้ำจนไหล่ใหญ่ขึ้น หรือผิวเป็นรอยไหม้แดด อันเป็นเรื่องปกติของนักไตรกีฬา

“เคยคิดว่าถ้ามีเงิน 100,000 บาท จะเอาไปแปลงเพศ แต่เราจะได้ความงามที่มาพร้อมกับภาระ ต้องปรับฮอร์โมน ต้องไปตรวจสภาพเรื่อยๆ ตอนนี้อยากเอาเงินจำนวนนั้นมาซื้อจักรยานคันใหม่สำหรับแข่งไตรมากกว่า เพราะมันเป็นสิ่งที่เราภูมิใจ ได้ออกกำลังกายมันจะดีเองจากภายใน”

“ชีวิต” คือสิ่งที่เราออกแบบได้ วันนี้เธอเลือกแล้วว่าจะเป็นนักวิ่ง นักไตรกีฬา และเมื่อต้องสละบางสิ่ง เธอก็ยินดี

“ตอนไปแข่งไตร เราเห็นคนว่ายน้ำตามเรามา แต่เขาปั่นจักรยานแซงเราได้ เพราะรถเขาแรงกว่า จักรยานดีๆ มันช่วยได้มาก ขอเลือกแบบนี้ดีกว่า”

“นักวิ่ง” ถูกสองขาของตัวเองสอนว่าอย่าหยุดนิ่ง จงก้าวไปข้างหน้า ดังนั้น เป้าหมายต่อไปของเธอคือรายการ “North Face 100 km” ซึ่งเป็นงานวิ่งระดับอัลตร้ามาราธอน จัดขึ้นที่เขาใหญ่ ระยะทาง 100 กิโลเมตร ในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2558

อีกหนึ่งความฝันของเธอคือการได้เข้าแข่งขันไตรกีฬา “มนุษย์เหล็ก” หรือ IRONMAN ที่ลังกาวี ประเทศมาเลเซีย อันประกอบด้วย ว่ายน้ำ 3.8 กิโลเมตร ปั่นจักรยาน 180 กิโลเมตร และวิ่ง 42.195 กิโลเมตร

“จะบอกว่าไฮไลท์มันอยู่ที่ตอนเข้าเส้นชัย เพราะจะมีคนตะโกนชื่อเรา ประเทศของเรา พร้อมกับคำว่า “You are Iron man” (คุณคือมนุษย์เหล็ก) อยู่ที่นั่น อยากให้มันเป็นชื่อของเรา ถ้าได้ยินคงจะมีความสุข ฉันคือ “ไออ้อน เทย” จากไทยแลนด์”

แค่ฟังก็ยังดูยาก ไม่ใช่ว่าเธอไม่กลัว การกลัวเป็นสิ่งดี เพราะหัวใจของการวิ่งและไตรกีฬาก็คือ “การเอาชนะความกลัว” นั่นคือสิ่งที่เธอคิด

“อยากสวยก็แต่งหน้าทาปาก แต่ถ้าอยากเป็น Iron Man ต้องโยนตัวตนที่อ่อนแอทิ้งไป” เธอสรุป

ทุกความฝันล้วนมีต้นทุนที่ต้องจ่าย การจะเป็นนักวิ่งอัลตร้ามาราธอน 100 กิโลเมตร หรือการเป็น “มนุษย์เหล็ก” นั้นไม่ง่าย นอกเหนือจากเงินจำนวนหนึ่งที่ต้องใช้ แรงกายแรงใจ ความอดทน ความมีวินัยในการฝึกซ้อมล้วนเป็นสิ่งจำเป็น
หลายคนอาจเกิดคำถามว่า เมื่อต้นทุนสูงขนาดนี้ สิ่งที่ได้กลับมาจะคุ้มค่าหรือไม่

เธอเล่าว่า ทันทีที่เข้าสู่เส้นชัย ผู้เข้าแข่งขันจะได้เหรียญและเสื้อผู้พิชิต (Finisher) เป็นของรางวัล คนทั่วไปอาจมองเห็นมันเป็นเพียงวัตถุ ผู้เป็นเจ้าของเท่านั้นที่จะสัมผัสได้ถึงหยาดเหงื่อและความพยายามที่อยู่เบื้องหลัง มันคือชัยชนะส่วนตัวอย่างแท้จริง

“ต้นทุนสูงก็จริงนะ ไตรกีฬาเนี่ยค่าสมัครหลายพัน ไหนจะค่าเดินทาง ค่าโรงแรม เราก็ไม่ใช่คนมีเงินอะไรนะ แต่ถามว่าขาดทุนมั้ย ไม่เลย ได้กำไรตั้งแต่ออกไปวิ่งแล้ว”

สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา มีแต่เธอที่รู้ว่าการแข่งขันเหล่านั้นนำมาซึ่งประสบการณ์ที่สอนให้เธอมีความมุ่งมั่น อดทน มีวินัย และเหนือสิ่งอื่นใด มันคือเครื่องหมายแห่งความเท่าเทียม

เธอวิ่งเคียงบ่าเคียงไหล่กับคู่แข่งที่เป็นชายร่างกายกำยำได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ที่จุดปล่อยตัว พวกเขาอาจเยาะเย้ยผู้ชายที่ถักผมเปียพจมาน แต่เมื่อออกวิ่ง พวกเขาอาจทำได้แค่ไล่ตามแผ่นหลังของเธอเท่านั้น

ไม่ว่าเธอจะเลือกเป็นเพศอะไร เธอก็มีจิตวิญญาณแห่งนักวิ่งเท่าเทียมกันกับพวกเขา

ไม่ว่าบทบันทึกชีวิตหน้าต่อไปของเธอจะเป็นอย่างไร เราเชื่อว่าเธอได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า เธอเคารพการมีชีวิตด้วยการออกไปใช้ชีวิต นั่นคือเรื่องที่น่านับถือเป็นที่สุด

จากวันที่เธอรู้จักการวิ่งเข้าโดยบังเอิญ จนถึงวันที่ค้นพบว่ามันคือคำตอบของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เธอแสวงหามาตลอด นับว่ามาไกลมากแล้ว แต่เธอยังคงเลือกที่จะไปต่อ

เพราะ “นักวิ่ง” เชื่อมั่นในการก้าวไปข้างหน้า และไม่เคยละสายตาจากเส้นชัย

ขอบคุณภาพประกอบจาก Onareephotography และ Refill

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook