เรื่องควรรู้ก่อนเลือกวิธีการคลอด
เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณแม่ส่วนใหญ่จะกังวลในเรื่องของการคลอดทั้งกลัวเจ็บ กลัวมีเหตุฉุกเฉิน กังวลว่า ลูกคลอดออกมาจะปลอดภัยหรือไม่ ลูกน้อยจะสมบูรณ์แข็งแรงดีหรือไม่ เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 9 เดือนที่คุณเฝ้าทะนุถนอมดูแลร่างกาย หาข้อมูลอย่างดิบดีก็เพื่อรอวันนี้เท่านั้น....วันที่คุณจะได้พบหน้าเจ้าตัวน้อยสักที
แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่คุณแม่ต้องตัดสินใจก็คือ การเลือกวิธีคลอด แม้ว่าจะพอทราบอยู่แล้วว่าวิธีคลอด มีอะไรบ้าง แต่ว่าที่คุณแม่หลายๆ ท่านอาจยังไม่รู้ว่าในกระบวนการคลอดด้วยวิธี ที่ต่างกันนั้นจะต้องพบเจออะไรบ้าง ดังนั้น เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ Pregnancy Knowledge เลยนำเรื่องราวของวิธีการคลอดมาให้คุณแม่ได้ศึกษาเพื่อตัดสินใจเลือกว่า การคลอดแบบไหน จะเหมาะกับเราที่สุดค่ะ
วิธีคลอด...ใครเลือก
แม้ว่าส่วนใหญ่ว่าที่คุณแม่จะสามารถเลือกวิธีคลอดได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ด้วยค่ะ คุณแม่บางรายตั้งใจดิบดีว่าจะคลอดธรรมชาติ แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่สามารถทำได้ ด้วยเหตุผลหลายประการเช่น ลูกไม่กลับหัว หรือลูกตัวใหญ่มาก ความตั้งใจที่จะคลอดธรรมชาติก็อาจต้องเปลี่ยนเป็ผ่าท้องคลอด หรือในกรณีที่คุณแม่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีโรคประจำตัว หรือตั้งครรภ์เมื่ออายุมากแล้ว แพทย์ก็มักจะแนะนำให้ผ่าท้องคลอด ซึ่งจะปลอดภัยมากกว่า
อย่างไรก็ตาม หากคุณมีวิธีการคลอดที่ต้องการอยู่ในใจ ก็ควรปรึกษาแพทย์ที่รับฝากครรภ์ ตั้งแต่เนิ่นๆ นะคะ เพื่อคุณหมอจะได้แนะนำว่า คุณสามารถเลือกวิธีคลอดที่ต้องการได้หรือไม่ และควรเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้พร้อมสำหรับการคลอด
คลอดธรรมชาติ...เจ็บมาก แต่หายเร็ว
การคลอดธรรมชาติ โดยไม่ใช้ยาใด ไม่ใช้การบล็อกหลัง ช่วยบรรเทาการปวดระหว่างคลอด เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด หากคุณแม่ต้องการจะให้ร่างกายตัวเองอยู่ในการควบคุม และออกจากช่วงพักฟื้นได้เร็ว แต่ทั้งนี้ก็เท่ากับว่าคุณต้องพร้อมที่จะเผชิญกับความเจ็บปวดในการคลอด รวมทั้งต้องมีการเตรียมตัวคลอดมาอย่างดีด้วย ข้อดีของการคลอดธรรมชาติ มีดังนี้
การคลอดธรรมชาติ ที่ไม่ได้ใช้ยาใดๆ ช่วยทำให้คุณแม่และลูก ไม่ต้องได้รับผลข้างเคียงใดๆ ภายหลังการคลอด คุณแม่ส่วนใหญ่ที่เลือกวิธีนี้ รู้สึกเข้มแข็ง และมีอำนาจระหว่างการคลอด และรู้สึกภูมิใจหลังการให้กำเนิดเจ้าตัวน้อยสำหรับคุณแม่บางราย การได้ควบคุม การคลอดด้วยตัวเอง เฝ้าดูจังหวะการหายใจ ทำให้รู้สึกว่าช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดสั้นลงมีโอกาสที่จะต้องใช้วิธีการเร่งคลอดน้อยกว่า การคลอดธรรมชาติที่ใช้การบล็อกหลัง
อย่างไรก็ตาม การคลอดธรรมชาติ โดยไม่ใช้ยา ไม่ใชช้การบล็อกหลัง มีข้อเสียคือ คุณต้องทนกับความเจ็บปวดอย่างมาก ซึ่งหากคุณเตรียมตัวมาไม่ดี ไม่มีการฝึกหายใจ ก็อาจทำให้คุณต้องรอ ขอที่จะใช้ยาช่วยลดความเจ็บปวดในที่สุด ดังนั้นหากไม่มั่นใจจริงๆ แล้ว ลองมองหาทางเลือกอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจอีกครั้งก็ดีนะคะ
บล็อกหลัง...ยังนิยม
การคลอดด้วยการฉีดยาบล็อกสันหลังนั้นค่อนข้างได้รับความนิยม เพราะไม่เพียงคุณแม่จะสามารถคลอดธรรมชาติได้เองแล้ว ก็ยังไม่ต้องทนกับความเจ็บปวดมากมายนักอีกด้วย โดยการคลอดวิธีนี้ คุณแม่จะต้องนอนตะแคง ขดตัวบริเวณขอบเตียง เพื่อให้คุณหมอฉีดยาชาเข้าไปบริเวณไขสันหลัง ซึ่งการบล็อกหลังมี 3แบบคือ แบบ Epidural แบบSpinal Block และแบบผสม
การบล็อกหลังแบบ Epidural แพทย์จะทำการแทงเข็มที่มีหลอดนำยาขนาดเล็กเข้าไปในกระดูกสันหลังของคุณแม่ หลอดนำยาจะค้างอยู่ข้างใน และค่อยๆ ปล่อยยาชาออกมาอย่างต่อเนื่องไปที่ชิ้นผิวหนังของไขสันหลัง ทำให้ค่อยๆ หมดความรู้สึก ข้อดีของการบล็อกหลังแบบนี้คือคุณแม่ที่เลือกคลอดธรรมชาติ โดยไม่ใช้ยาชา แล้วทนความเจ็บปวดไม่ไหวสามารถขอให้แพทย์ใช้วิธีนี้ช่วงใดก็ได้ระหว่างการคลอด โดยหลังจากฉีดยาเข้าไขสันหลัง ประมาณ 5-10 นาที ร่างกายจากช่วงเอวลงไปจะค่อยๆ หมดความรู้สึก ทำให้คุณแม่ไม่รู้สึกเจ็บจากการรัดตัวของมดลูก ข้อเสียคือ ความสามารถในการควบคุมอุ้งเชิงกรานของคุณจะลดลง มีโอกาสให้ต้องใช้คีมช่วยคลอด และคุณแม่อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน คัน และสั่นตามร่างกาย ซึ่งจะหายไปเองเมื่อหมดฤทธิ์ยา แต่ถ้ายาหมดฤทธิ์แล้วอาการเหล่านี้ยังไม่หายไป คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ในทันที
การบล็อกหลังแบบ Spinal Block เป็นการฉีดยาเข้าไขสันหลังทันที โดยเจาะผ่านกระดูกไขสันหลังเข้าไป ทำให้ตัวยาออกฤทธิ์เร็วภายใน 1-2 นาที คุณแม่จะรู้สึกชาตั้งแต่ช่วงเอวลงไป ซึ่งวิธีนี้มักใช้ช่วงใกล้คลอดจริงๆ เพราะฤทธิ์ยาอยู่ได้เพียง 2-3 ชั่วโมง ข้อเสียวิธีนี้คือ ยาออกฤทธิ์ได้ไม่นาน และแพทย์จะไม่ฉีดยาให้ซ้ำเป็นครั้งที่สอง ดังนั้น หากยาหมดฤทธิ์แต่ทารกยังไม่ยอมคลอด ก็จะทำให้คุณแม่กลับมาเจ็บปวดอีก รวมทั้งอาจทำให้คุณแม่ปวดศีรษะซึ่งเป็นผลจากการแทงเข็มไปในแนวไขสันหลังระดับลึกได้
การบล็อกหลังแบบผสมระหว่าง Epidural และ Spinal Block โดยแพทย์จะแทงเข็มขนาดใหญ่ ซึ่งข้างในมีเข็มขนาดเล็กอยู่อีกอันหนึ่งเข้าไปที่กระดูกไขสันหลัง เข็มเล็กข้างในจะแทงลึกตรงเข้าไปที่แนวไขสันหลังคือ Spinal เพื่อให้ยาออกฤทธิ์แบบเฉียบพลันหากทารกยังไม่คลอดในช่วงที่ยาจากเข็มเล็กออกฤทธิ์ แพทย์ก็จะใช้ยาชาบล็อกหลังอีกครั้งในระดับ Epidural แทงเข็มใหญ่โดยไม่ต้องแทงเข็มซ้ำ ข้อดี คือ มั่นใจได้ว่าการบล็อกหลังจะป้องกันการเจ็บปวดจากการคลอดได้ แต่ก็มีข้อเสีย คืออาการข้างเคียง ทั้งปวดหัวคลื่นไส้ ตัวสั่น และอาการคัน
C-Sectionคลอดด้วยการผ่า...เลือกได้ว่าวันไหน
คุณแม่ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะคุณแม่ชาวไทย (ที่เชื่อเรื่องฤกษ์งามยามดี มักนิยมการคลอดด้วยวิธี C-Section (cesarean section) หรือการคลอดโดยการผ่าท้อง เพื่อนำทารกออกมา เพราะวิธีการนี้ คุณแม่สามารถเลือกวัน และเวลาคลอดได้สำหรับคุณแม่ที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง แพทย์ก็มักแนะนำให้คลอดด้วยการผ่าคลอดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ก่อนการผ่าท้องคลอด คุณแม่มักจะต้องได้รับการฉีดยาเข้าไขสันหลัง หรือที่เรียกว่าการบล็อกหลังด้วย หลังจากนั้น แพทย์จะทำการผ่าตามแนวขวางบริเวณที่เรียกว่า bikini cut และค่อยๆ ผ่าลึกผ่านเนื้อเยื่อชั้นต่างๆ ลงไป เมื่อถึงบริเวณกล้ามเนื้อหน้าท้อง แพทย์จะค่อยๆ แหวกกล้ามเนื้อออกแทนการผ่า เมื่อไปถึงมดลูกจึงจะเลาะเยื่อบุช่องท้องที่คลุมมดลูกส่วนล่างออกตามแนวขวางเพื่อดันกระเพาะปัสสาวะให้ต่ำลงไปแล้วจึงกรีดมีดผ่านเนื้อมดลูกจนเข้าไปในโพรงมดลูก ก่อนจะแหวกแผลให้กว้างพอที่จะให้ทารกคลอดได้ แล้วแพทย์จึงนำมือเข้าไปช้อนหัวของทารก ขณะที่ให้ผู้ช่วยทำคลอดดันยอดมดลูกลงมา โดยแพทย์จะช้อนส่วนหัวของลูกออกมาก่อน ตามด้วยลำตัว และเท้าตามลำดับ เมื่อรกกออกมา คุณแม่จะมีโอกาสได้เห็นหน้าลูกในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่คุณหมอจะนำเจ้าตัวน้อยไปตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก และทำความสะอาด ขณะเดียวกันคุณหมอก็จะทำการคลอดรก และเริ่มเย็บแผลบริเวณหน้าท้องของคุณแม่
ข้อดีของการผ่าท้องคลอดนอกจากความปลอดภัยของคุณแม่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หรือไม่สามารถคลอดเองได้ด้วยเหตุผลต่างๆ ก็มีเพียงการเลือกฤกษ์งามยามดีในการคลอดได้เท่านั้น นอกเหนือไปจากนี้ การผ่าท้องคลอด ทำให้คุณแม่ต้องเสียเลือดมากกว่าการคลอดธรรมชาติถึง 2 เท่า และมีโอกาสติดเชื้อมากกว่า รวมทั้งมีโอกาสที่กระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ได้รับบาดเจ็บจากการผ่าคลอดได้ แม้ว่าขณะคลอดคุณแม่แทบจะไม่รู้สึกอะไร แต่หลังจากคลอดเสร็จแล้วคุณแม่จะรู้สึกเจ็บแผล และมีอาการอ่อนเพลียมาก บางรายอาจเจ็บแผลจนไม่สามารถอุ้มลูกได้หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วคุณแม่บางรายอาจมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง เพราะพังผืดที่เกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัดคลอด เนื่องจากมีการขัดติดกันของมดลูกกับกระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ บางครั้งพังผืดที่เกิดขึ้นทำให้มดลูก และปีกมดลูกยึดแน่นตึงส่งผลให้มีอาการปวดประจำเดือนหรือเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ได้
สำหรับคุณแม่ที่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การผ่าท้องคลอดอาจเป็นอุปสรรคประการหนึ่ง เพราะคุณแม่อาจอ่อนเพลียจากการเสียเลือดมาก หรือเจ็บแผลจนอุ้มให้นมลูกไม่ไหว ดังนั้น จึงควรวางแผนการคลอดและการให้นมลูกอย่างดี อาจปรึกษาแพทย์ที่ดูแลครรภ์แต่เนิ่นๆ หากเป็นไปได้ควรให้นมลูกทันทีหลังคลอด
คลอดในน้ำ ...ตามธรรมชาติ
คุณแม่ที่เลือกการคลอดในน้ำส่วนใหญ่ เชื่อว่าวิธีนี้ช่วยลดความเครียดของทารกจากการปรับตัวจากครรภ์มารดาออกมาสู่โลกใบใหญ่ได้ เพราะเมื่อทารกคลอดออกมาในน้ำ ซึ่งมีสภาพใกล้ เคียงกับการอยู่ในครรภ์มารดา ทำให้หนูน้อย มีโอกาสได้ปรับตัวมากกว่าการคลอดออกมาสู่สภาพแวดล้อมภายนอกในทันทีนอกจากนี้ การคลอดในน้ำยังช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย เพราะนํ้าอุ่นๆ จะช่วยรองรับนํ้าหนักของคุณแม่รวมทั้งการแช่ในน้ำอุ่นจะทำให้คุณรู้สึกสงบหายใจได้ลึกยาวขึ้น ซึ่งช่วยให้การเจ็บปวดลดลงได้ โดยทารกที่คลอดในน้ำ จะไม่สำลักน้ำ เพราะตามธรรมชาติทารกจะไม่หายใจจนกว่าเส้นประสาทบนใบหน้า ปาก และจมูก จะถูกกระตุ้นโดยอากาศ และอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เมื่อทารกคลอดออกมาอยู่ในน้ำทันที และอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ จึงไม่เป็นอันตราย
สำหรับคุณแม่ที่ต้องการเลือกใช้วิธีนี้ในการคลอด ควรแน่ใจว่าตนเองไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งมีความเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่
ติดเชื้อง่าย หรือมีภาวะเลือดไหลไม่หยุด
ไม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
ไม่เป็นโรคเริม เพราะเชื้อโรคนี้ติดติอไปยังลูกผ่านทางน้ำได้
การตั้งครรภ์ของคุณครบกำหนด และไม่เป็นการคลอดก่อน 37 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรรู้ด้วยว่าการคลอดในน้ำ มีความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้
• สมองได้รับบาดเจ็บเนื่องจากได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
• ลูกอาจสำลักน้ำ ได้รับอันตรายได้
• การติดเชื้อจากน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
ดังนั้น การคลอดในนํ้าจึงจำเป็นจะต้องทำภายใต้ การดูแลของผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเท่านั้น
ทำความรู้จักกับเครื่องมือช่วยคลอด
เครื่องดูดสูญญากาศ หรือ Vacuum Extractor
มีลักษณะเป็นเครื่องปั้มอากาศ มีส่วนท่อยาวเชื่อมโยงไปยังส่วนหัวที่มีลักษณะคล้ายถ้วย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร ใช้ในกรณีที่คุณแม่ไม่มีแรงเบ่งมากเพียงพอ เมื่อนำส่วนถ้วยไปวางบริเวณศีรษะของทารก ถ้วยสูญญากาศจะดูดศีรษะทารกเพื่อให้แพทย์ดึงถ้วยดูดช่วยเป็นแรงเสริมการเบ่งในขณะมดลูกเริ่มมีการหดรัดตัว ซึ่งจะใช้ได้ในกรณีที่ทารกคลอดโดยนำส่วนหัวออกมาก่อนเท่านั้น โดยวิธีนี้อาจทำให้ลูกมีรอยช้ำที่ศีรษะบ้างแต่จะหายได้เองภายใน 2-3 วัน
คีมช่วยคลอด
มักใช้ในกรณีที่แม่มีแรงแบ่งไม่มากพอ หรือจำเป็นต้องเร่งคลอดเพราะความผิดปกติของทารกขณะคลอด เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ ลูกไม่คว่ำหน้า หรือกรณีที่ทารกไม่กลับตัว และต้องคลอดในท่าก้น โดยคีมช่วยคลอดจะมีรูปร่างคล้ายช้อนขนาดใหญ่ 2 อันไขว้กัน เมื่อสอดเข้าไปด้านข้างของช่องคลอดจะแนบสนิทกับแก้มทั้งสองข้างของทารกพอดี โดยก่อนใช้แพทย์จะแพทย์จะฉีดยาชาบริเวณอุ้งเชิงกราน และตัดฝีเย็บก่อนจะสอดคีมเข้าไปในช่องคลอดให้แนบกับศีรษะลูกทีละข้าง แล้วค่อยๆ ดึงศีรษะลูกออกมาการใช้คีมช่วยคลอดถือเป็นวิธีที่ปลอดภัย หากทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยทารกอาจทำให้มีรอยกดทับของคีมบริเวณแก้มและหางตาซึ่งจะหายไปเองไม่กี่วันหลังคลอด
ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.istockphoto.com/