“เก๋ ชลลดา” มูลนิธิเดอะวอยซ์ สรรพเสียงเพื่อสรรพสัตว์

“เก๋ ชลลดา” มูลนิธิเดอะวอยซ์ สรรพเสียงเพื่อสรรพสัตว์

“เก๋ ชลลดา” มูลนิธิเดอะวอยซ์ สรรพเสียงเพื่อสรรพสัตว์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เพราะสัตว์ทุกชนิดพูดไม่ได้ ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ เราก็ขออนุญาตเป็นสรรพเสียงแทนสรรพสัตว์ทุกชีวิตแล้วกันค่ะ” นั่นคือคำประกาศจุดยืนของเธอ “เก๋ ชลลดา เมฆราตรีผู้หญิงเก่งที่ขอเป็นกระบอกเสียงให้เพื่อนสี่ขา

เธอคือคนในวงการบันเทิง ใช้ชีวิตท่ามกลางแสงสปอตไลท์ และมีชีวิตอีกด้านหนึ่ง ในฐานะผู้ก่อตั้งและประธาน “มูลนิธิเดอะวอยซ์ เสียงจากเรา” เพราะการได้ช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตที่ด้อยโอกาสคือความฝันของเธอ

เส้นทางสายจิตอาสาของคุณเก๋เริ่มต้นมาก่อนหน้านี้ เธอเคยรับหน้าที่อ่านหนังสือให้ผู้พิการทางสายตาฟัง ลงพื้นที่สอนหนังสือเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล รวมไปถึงการช่วยเหลือผู้อพยพบริเวณชายแดนทางเหนือ แต่ตัวเธอเองกลับรู้สึกว่าอยากทำอะไรได้มากกว่านี้

“รู้สึกว่ามันยังน้อยเกินไป มันยังไม่เหนื่อยขนาดนั้น มันมีคนที่ทำมาก่อนแล้ว และเขาเป็นคนเก่งๆ กันทั้งนั้น เรามีหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์เท่านั้นเอง เลยคิดว่าถ้าเราแบ่งเวลาได้มากกว่านี้ก็อยากทำอะไรๆ ให้มากขึ้น”

จนกระทั่งได้มาเป็นหัวเรือใหญ่ของมูลนิธิฯ เธอบอกว่านี่เป็นงานที่ตรงกับเป้าหมายในใจมากที่สุด เพราะได้ทำตั้งแต่รากฐาน คือจับสุนัขบาดเจ็บตามข้างทางเพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น พาส่งโรงพยาบาล ไปเยี่ยมไข้ จดบันทึก จ่ายค่ารักษา ไปจนถึงหาผู้อุปการะ เพื่อให้สัตว์เหล่านั้นมีชีวิตที่ดีขึ้น

“เราไม่ใช่มูลนิธิอาชีพ ทุกคนมีงานประจำ คนที่มาช่วยก็จะเป็นลักษณะจิตอาสา ตัวเก๋เองเป็นประธานแต่ก็ทำทุกอย่างค่ะ ไปจับสุนัขบาดเจ็บทั้งชุดพิธีกรหน้าผมแต่งเต็มก็ทำมาแล้ว ตอนนั้นมีคนโทรมาแจ้งว่ามีสุนัขโดนฟันที่คอ แผลเหวอะหวะมีหนองเต็มตัว เพราะไม่มีใครไปช่วยมา 10 วันแล้ว อยู่แถวๆ เมืองทอง เราก็รับงานพิธีกรแถวนั้นพอดี เลยไปช่วย จนชาวบ้านตกใจว่ามาถ่ายรายการทีวีหรือเปล่า” เธอเล่าอย่างขำๆ

จุดเริ่มต้นของมูลนิธิเดอะวอยซ์มาจาก “เจ้าดำ” สุนัขจรจัดที่คุณเก๋ได้ช่วยไว้โดยบังเอิญ หลังจากเจ้าดำถูกเจ้าถิ่นรุมกัด ปฏิบัติการยื้อชีวิตก็ดำเนินมาถึง 2 สัปดาห์ “เพราะสุนัขพูดไม่ได้ เวลาเขาเจ็บป่วยอะไร เราไม่ได้รักษาได้ทันที กว่าจะรู้ว่าเขาเจ็บตรงไหน ก็ต้องตรวจทั้งร่างกาย” เธออธิบาย

เธอเล่าย้อนไปว่า มีอยู่คืนหนึ่งที่อาการของเจ้าดำทรุดหนัก จนคุณหมอต้องโทรมาตามเพื่อให้เธอตัดสินใจว่าจะปล่อยให้มันไป หรือยื้อชีวิตมันไว้

ในคืนนั้น คุณหมอพูดกับเธอว่า “เหมือนเก๋เป็นกระบอกเสียงแทนเขา ถ้าเจ้าของชีวิตบอกว่าให้ไปได้แล้ว หมอก็ห้ามไม่ได้ ยิ่งช่วงนั้นยังไม่มี พรบ. คุ้มครองสัตว์ ก็เท่ากับว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงคือเจ้าของชีวิต คุณอยากให้เขาไปเวลาที่คุณไม่ต้องการเขาแล้ว คุณจะอุ้มเขาไปฉีดยาให้นอนหลับไปเลยก็ได้ บางคลินิกก็ทำให้”

ถึงแม้ว่าดำจะเป็นหมาจร แต่ก็นับเป็นหนึ่งชีวิตสำหรับเธอ สุดท้ายก็เลือกที่จะให้คุณหมอลองใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าชีพจรของเจ้าดำกลับมา แปลว่ามันยังพร้อมที่จะสู้ไปกับเธอ บวกกับคำพูดของคุณหมอ ทำให้เธอตัดสินใจว่าจะต้องเลือกทางที่ดีที่สุดสำหรับเจ้าดำ

“ปรากฏว่าชีพจรเต้นขึ้น เหมือนปาฏิหาริย์ที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ พอเจ้าดำสู้ไหว เก๋ก็ถอยออกมาให้คุณหมอไปจัดการผ่าเย็บหัวใจ กว่าจะรู้ว่าเป็นเพราะอะไรก็ตีสองกว่า แล้วทุกอย่างก็เป็นปกติ”

นาทีแห่งชีวิตของเจ้าดำ คือจุดเริ่มต้นของมูลนิธิฯ ในคราวเดียวกัน เพราะหลังจากวันนั้น เราก็รู้จักเธอในฐานะประธานมูลนิธิเดอะวอยซ์ องค์กรช่วยเหลือสัตว์แห่งแรกในไทยที่มีคนไทยเป็นผู้ก่อตั้ง เธอตั้งใจว่าจะเป็นกระบอกเสียงให้กับสิ่งมีชีวิตที่สื่อสารกับมนุษย์ไม่ได้ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ตามที่มันสมควรจะได้รับ

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลาเกือบ 3 ปีที่เธอได้ช่วยเหลือสัตว์จำนวนมากในนามมูลนิธิฯ มันเปลี่ยนความเชื่อที่เธอเคยมีไปอย่างสิ้นเชิง เธอเพิ่งรู้ว่า บางครั้งสถานะ “จรจัด” ก็เกิดขึ้นเพราะเจ้าของยัดเยียดให้ โดยที่ตัวมันเองไม่มีสิทธิ์เลือก
“ไม่เคยคิดมาก่อนว่าบ้านเรามีสัตว์เลี้ยงที่ถูกเจ้าของทอดทิ้งและทำร้ายมากขนาดนี้ เคยคิดว่าจะมีแต่สุนัขหรือแมวพเนจรเท่านั้นที่ถูกทำร้าย แต่สัตว์เลี้ยงบางตัวที่มีเจ้าของก็โชคร้ายไม่แพ้กัน ขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีพหลายๆ อย่างเหมือนกัน”

ในชีวิตของมนุษย์แวดล้อมไปด้วยผู้คนและเรื่องราวที่หลากหลาย จนอาจลืมไปว่าชีวิตของสัตว์เลี้ยงมีแต่นายของมันเท่านั้น เมื่อไม่เป็นที่ต้องการ ก็เท่ากับว่าชีวิตของมันต้องเปลี่ยนไป พร้อมๆ กับอาการซึมเศร้าที่ถูกเจ้าของทอดทิ้ง

สุนัขสายพันธุ์อิงลิช ค็อกเกอร์ ตัวหนึ่ง อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ มาได้ 3 เดือน ด้วยโรครุมเร้าสารพัด ทั้งมะเร็ง มดลูกอักเสบ โรคหัวใจ และภาวะไตวายเฉียบพลัน ถือเป็นบั้นปลายชีวิตที่ไม่สวยงามสำหรับสุนัขที่เคยได้รับความรักจากเจ้าของมานานกว่า 10 ปี คุณเก๋จึงตั้งชื่อให้มันใหม่ว่า “ลัคกี้”

ความโชคร้ายของสุนัขที่มีชื่อว่า “โชคดี” คือเมื่อนายของมันรู้ถึงอาการป่วย ลัคกี้ก็กลายเป็นหมาจรจัดทันที

ถึงแม้ในวันนี้ ลัคกี้จะอยู่ในสภาพไม่ค่อยดีนัก แต่สัตวแพทย์ประจำมูลนิธิฯ บอกว่า มันยังดูดีกว่าวันแรกที่คนของมูลนิธิฯ ไปพบ

“ตอนที่มีคนมาแจ้งแล้วเราไปเจอ สภาพแย่มากๆ โดนเจ้าของเอามาปล่อย ตามตัวมีแต่ฝุ่นกับเศษใบไม้ ซึมมาก ไม่ยอมกิน นอนนิ่งเป็นวันๆ เราต้องให้น้ำเกลืออยู่ตลอด จน 1 สัปดาห์ผ่านไปถึงจะลุกขึ้นมากินได้บ้าง เราก็รักษามาเรื่อยๆ”

กรณีของเจ้าลัคกี้เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างเท่านั้น ยังมีอีกหลายกรณีที่มูลนิธิฯ ต้องแบกรับเอาไว้ เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น ความรับผิดชอบที่ตามมาก็มากขึ้นเช่นกัน เพราะที่นี่เปรียบเสมือนศูนย์กลางของความช่วยเหลือสัตว์ยากไร้

“การจะปฏิเสธหนึ่งชีวิตมันยากมากๆ เก๋กล้าพูดเลยนะคะว่าเราทำมูลนิธิมา เก๋ไม่เคยปฏิเสธสักเคสเลย ถึงไม่ได้ช่วยมาทั้งหมดตั้งแต่แรก เราก็จะยื่นมือเข้าไปช่วย จะมากจะน้อยเราก็ให้ ตอนนี้ความสมดุลทางบัญชีก็มีน้อยลง”

ในปัจจุบัน มูลนิธิฯ รับเพื่อนสี่ขามาเป็นผู้ป่วยในอุปถัมภ์เดือนละ 20 – 30 เคส ในบางเดือนอาจสูงถึง 50 เคส ยังไม่นับรวมค่าอาหาร เพื่อไม่ให้สัตว์เหล่านี้ต้องมีชีวิตแบบอดมื้อกินมื้ออีกต่อไป

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิฯ ต้องขออนุญาตปิดรับการขอความช่วยเหลือ เนื่องจากเป็นช่วงที่รับเคสเข้ามามากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งเป็นมูลนิธิฯ รวมๆ แล้วยังมียอดค้างจ่ายอยู่มากกว่า 1 ล้านบาท ส่วนมากเกิดจากการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาสุนัขและแมวกว่า 100 ชีวิต

โดยปกติแล้ว คุณเก๋จะนำรายได้ส่วนหนึ่งของตัวเองและครอบครัวมาเป็นค่าใช้จ่ายของมูลนิธิฯ ซึ่งก็พอชำระหนี้กับทางโรงพยาบาลไปได้บ้าง แต่ต้องยอมรับว่าเงินบริจาคคือส่วนสำคัญที่ทำให้ความช่วยเหลือของมูลนิธิดำเนินต่อไปได้

การให้ความช่วยเหลือสรรพสัตว์เหล่านี้ ต้องใช้ทั้งพลังกายและพลังใจ เพราะต้องอยู่กับความเศร้าสลดที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกัน บ้างก็เป็นสัจธรรมที่สิ่งมีชีวิตต้องพบเจอ และที่จะขาดไปไม่ได้ก็คือ “พลังทรัพย์” ที่เกิดจากความช่วยเหลือของทุกๆ คน

“ทุกบาททุกสตางค์ที่ให้เรามา ต้องขอบคุณมากๆ ค่ะ คุณช่วยเราให้เรามีกำลังไปต่อชีวิตอื่นๆ ได้ เราไม่ได้ช่วยแค่สุนัขและแมวนะคะ ตอนนี้ช้าง ม้า ลิง หมี วัว ควาย มีคนขอความช่วยเหลือมา เราก็ไปค่ะ”

หากจะถามว่าอะไรคือแรงผลักดันให้เธอเลือกทำสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็นอยู่? คงต้องยกเครดิตให้กับความเชื่อจากหัวใจของผู้หญิงคนนี้

เธอเชื่อว่าทุกชีวิตมีความสำคัญเท่าเทียมกัน และในฐานะที่เราได้เกิดเป็นมนุษย์ มีความสามารถในการสื่อสาร มีมันสมอง มีสองแขน สองขา ช่วยเหลือตัวเองได้ ทำมาหากินได้ นับว่าเราโชคดีกว่าสัตว์เหล่านี้มากนัก ดังนั้น มนุษย์จึงควรละเว้นการเบียดเบียนสัตว์ทุกชนิด

“แค่นี้มนุษย์เราก็กินสัตว์ทุกประเภทอยู่แล้วนะคะ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ทานเนื้อสัตว์เป็นอาหารมากที่สุดในโลก ถ้ามีอะไรที่พอจะช่วยพวกเขาได้ ก็ช่วยกันเถอะค่ะ” เธอยิ้มพร้อมกับคำกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเพื่อช่วยเหลือค่าอาหารและค่ารักษาสัตว์ยากไร้ได้ที่นี่
ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก The Voice (เสียงจากเรา)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook