เพิ่มศักยภาพสมองให้ลูกน้อย ด้วยการพัฒนาประสาทสัมผัสทั้ง 7!!
เพิ่มศักยภาพสมองให้ลูกน้อย ด้วยการพัฒนาประสาทสัมผัสทั้ง 7 !!
ประสาทสัมผัสทั้ง 7 นั้น มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองของลูกน้อยอย่างมากมาย ซึ่งสมองของเด็กจะประมวล และประเมินสิ่งที่ร่างกายได้รับเข้ามาผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 7 ส่งผลให้เด็กๆ เกิดการจดจำ เรียนรู้ และวางแผนจัดการได้อย่างเป็นระบบ รวดเร็วและเหมาะสม ดังนั้นการบูรณาการประสาททั้ง 7 อย่างเหมาะสมนั้น จึงมีส่วนสำคัญในการกำหนดลักษณะเฉพาะของแต่ละคน และความสามารถอันจำเป็นอย่างยิ่งกับการดำรงชีวิตของลูกน้อยที่เติบโตมาในโลกยุคปัจจุบัน
มาทำความรู้จัก ประสาทสัมผัสทั้ง 7 และการสร้างเด็กฉลาดด้วยการฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 7
ดร.วสุนันท์ ชุ่มเชื้อ หัวหน้าหน่วยวิจัยคลินิกคอกนิทีฟ ศูนย์วิจัยวิชาการด้านการพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เล่าว่าจากการศึกษาค้นคว้า ประสาทสัมผัสมีด้วยกัน 7 ด้าน พ่อแม่ต้องคอยส่งเสริมให้ลูกฝึกฝนประสาทสัมผัสทุกด้านผ่านกิจกรรมต่างต่าง
1. การสัมผัส เป็นการรับรู้ที่เกิดขึ้นจากตัวรับสัมผัสที่อยู่ทั่วร่างกายซึ่งถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้า ความร้อน ความเย็น การจับ สัมผัส หรือการแตะผ่านทางผิวหนัง สามารถฝึกประสาทสัมผัสด้านนี้ง่ายๆ อย่างการเล่นปั้นดินน้ำมัน ทราย หรือให้ลูกได้ลองจับวัสดุหลายๆ แบบที่มีผิวสัมผัสต่างกัน ก็เป็นการพัฒนาทักษะทางด้านนี้แก่ลูกน้อยได้เช่นเดียวกัน
2. การมองเห็น เช่น การอ่าน การเขียน การนับจำนวน การกะระยะ การแยกแยะความชัด มัว สว่าง แสง และสีต่างๆ คุณพ่อคุณแม่อาจลองฝึกด้วยการเล่นเกมฝึกสายตา อาทิ เล่นเกมหาภาพที่ซ่อนอยู่ใต้ภาพ หรือจับคู่ภาพหรือสิ่งของ
3. การฟัง ช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านการสื่อสาร ทำให้ลูกน้อยสามารถรับรู้และจำแนกเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ การฝึกทักษะด้านการฟังอาจทำได้โดยการฝึกทักษะการฟัง และจับคู่เสียงที่เหมือนกัน หรืออาจให้ลูกน้อยลองเดินและเคลื่อนไหวตามเสียงเคาะ
4. การรับรส เป็นการรับรู้ที่มีผลต่อความสุขและยังช่วยเตือนถึงสิ่งที่เป็นพิษที่อาจเป็นอันตรายหากกินเข้าไปอีกด้วย อาจลองฝึกทักษะทางด้านนี้โดยให้ลองชิมรสชาติต่างๆ เช่น รส หวาน เค็ม เปรี้ยว ขม เป็นต้น หรือจะพูดคุยเกี่ยวกับอาหารและรสชาติก็มีส่วนช่วยได้เช่นกัน
5. การรับรู้กลิ่น เช่น กลิ่นสารเคมี หรือกลิ่นโมเลกุลในอากาศ ซึ่งการฝึกฝนประสาทรับรู้กลิ่นของลูกน้อยโดยการให้ดมกลิ่นต่างๆ หรืออาจจะเล่นเกมปิดตาดมกลิ่นต่างๆ
6. การทรงตัว ระบบการเคลื่อนไหวและการทรงตัวเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยประสานการเคลื่อนไหวของตาและศีรษะ และส่งผลต่อความสามารถในการทรงตัว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถฝึกฝนทักษะด้านนี้ให้แก่ลูกน้อยได้ โดยผ่านกิจกรรมการเคลื่อนไหวในทิศทางต่างๆ เช่น การกระโดด การนอนกลิ้ง เล่นวิ่งกระต่ายขาเดียว ยืนบนกระดานทรงตัว เป็นต้น
7. การรับรู้ตำแหน่งบนร่างกาย ช่วยให้เรารับรู้ถึงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และสามารถควบคุมและวางแผนการเคลื่อนไหวอย่างราบรื่น ซึ่งการส่งเสริมให้เด็กได้บูรณาการประสาทสัมผัสทั้ง 7 นั้น เด็กจะมีศักยภาพสมองพร้อมที่จะเรียนรู้ และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ งานวิจัยทางประสาทวิทยาศาสตร์ ระบุว่า สมองเด็กในช่วงแรกเกิดถึง 3 ปีนั้น เป็นช่วงเวลาทองที่สมองมีพัฒนาการการเรียนรู้ และการเชื่อมโยงของใยประสาท หรือการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทที่ดีที่สุด เป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ ต้องส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยผ่าน ประสาทสัมผัสทั้ง 7 ใยประสาทที่ถูกส่งเสริมจะพัฒนาและคงอยู่ต่อไป ส่วนใยประสาทที่ไม่ได้รับการกระตุ้นหรือใช้งานก็จะ หายไป เมื่อเข้าสู่ช่วง 6 – 10 ปี
การที่เซลล์สมองของลูกน้อยจะสามารถทำการเชื่อมโยงได้อย่างมีประสิทธิผลนั้น นอกจากจะเกิดจากการเลี้ยงดูที่ดีแล้ว ยังต้องมาจากโภชนาการที่ดีด้วย
สร้างเด็กฉลาดด้วยโภชนาการที่ดี
คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายควรให้ความสำคัญกับการเลือกโภชนาการที่เหมาะสมให้กับลูกในวัยระหว่าง 1-6 ปีหรือวัยก่อนเรียน โดยเด็กควรได้รับอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ ที่มีคุณค่าสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่และหลากหลาย อาหารว่างไม่เกินวันละ 2 มื้อ และที่สำคัญควรให้เด็กๆ ดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว ทั้งนี้ก็เพราะการได้รับสารอาหารที่เพียงพอจะส่งผลให้เด็กสามารถเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์ สังคม และ สิ่งแวดล้อมผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 7 ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพสมองของลูกน้อยได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งหากเด็กๆ ได้รับการชี้แนะ และส่งเสริมการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 7 แล้วนั้น ก็จะทำให้เด็กมีร่างกาย จิตใจ และระบบประสาทที่ทำงานร่วมกันได้อย่างบูรณาการ เด็กก็จะเติบโตมาอย่างมีคุณภาพและมีศักยภาพที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จในที่สุด
[Advertorial]