รู้ทัน′โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง′ ภัยร้ายที่คุณสร้างเอง
รู้ทัน′โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง′ ภัยร้ายที่คุณสร้างเอง
โดย สรวิศ รุ่งเลิศมณีพงศ์
เมื่อพูดถึง "โรคร้าย" ภาพจำที่ฝังติดหัวผู้คนมักจะนึกถึงการ "ติดเชื้อ" จากภายนอก ไม่ว่าจะจาก มนุษย์ สัตว์ หรือแมลง
"ซาร์-ไข้หวัดนก-เอดส์-ไข้เลือดออก-อีโบลา" เหล่านี้คือสิ่งที่แวบเข้ามาในหัวเป็นรายชื่อแรกๆ
แต่ ความเป็นจริงแล้ว "โรคไม่ติดต่อ" หรือ Non-Communicable Diseases (NCDs) กลับเป็นปัญหาที่ลุกลามและสร้างความกังวลให้กับประชาชนทั่วโลก รวมไปถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทยด้วย
ไม่ใช่เพียงปัญหาธรรมดา แต่เป็นปัญหา "ใหญ่" ที่ไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง
เพราะ ราว 71 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย เกิดจาก "ฆาตกร" ที่มีสังกัดเดียวกัน คือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน จนทำให้ถูกขนานนามในอีกชื่อหนึ่งว่า "โรคแห่งศตวรรษที่ 21"
ดังนั้น เครือข่ายป้องกันโรคไม่ติดต่ออาเซียนจึงได้มีเป้าหมายหลักที่จะช่วยหาทาง ป้องกัน และหาสาเหตุของการเกิดโรคที่ไม่ติดต่อ เพื่อที่จะลดจำนวนผู้ป่วย และไม่ให้เกิดผู้ป่วยใหม่
เช่นเดียวกับในประเทศไทย ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และจัดงานประชุมวิชาการในหัวข้อ "กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคที่เราสร้างเอง" เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากกลุ่มแพทย์ สามารถที่จะนำไปเผยแพร่และรักษาผู้ป่วยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อ โดยมีบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกันอย่างคับคั่ง
เริ่มที่การปาฐกถาเกียรติยศศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร เรื่อง "คนไทยพ้นภัยจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง" โดยมี ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นผู้กล่าวปาฐกถา
โดย พญ.วรรณีได้อธิบายว่า Non-Communicable Diseases (NCDs) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อ ปัจจุบันเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย ได้แก่ โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคระบบหายใจผิดปกติเรื้อรัง เมื่อเป็นโรคเหล่านี้จะทำให้สมรรถภาพในการทำงาน และคุณภาพชีวิตด้อยลง มีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงในการรักษา
ทั้งนี้ กลุ่มโรคไม่ติดต่อ เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจาก 3 องค์ประกอบ คือ ความเสื่อม พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม
"สรุปว่า NCDs เป็นโรคจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตไม่ถูกต้อง อาจเป็นปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่ก่อโรค หรือร่วมกับอายุที่มากขึ้น และ/หรือพันธุกรรรม การปรับเปลี่ยนปัจจัยแวดล้อมจึงสามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคไม่ติดต่อ เรื้อรังได้"
"ต้องปรับให้มีพฤติกรรมการบริโภคที่ดีและถูกต้อง ไม่เกิดผลเสียต่อสุขภาพ มีกิจกรรมออกแรงอย่างเหมาะสมทุกวัน ไม่ใช้ยา ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ไม่เครียด และมีจิตแจ่มใส วิถีดำรงชีวิตจะต้องมีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ทารก วัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุ จึงจะทำให้การป้องกันโรคไม่ติดต่อมีประสิทธิภาพ และเกิดผลสูงสุด" พญ.วรรณีทิ้งท้าย
อีกหนึ่งกิจกรรม คือ เวทีเสวนา "การดูแลและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)" นำโดย นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, นพ.บุญเรียง ชูชัยแสงรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม และ รศ.ดร.สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ต่างได้นำเสนอในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป
2 สาเหตุใหญ่ แก้ไม่ได้ก็ไม่มีวันจบ
"ขอบคุณครับที่เชิญจากหอคอยงาช้างลงมาเสวนาในวันนี้"
นพ.สุริยะ ได้เริ่มต้นด้วยการหยอกแซวพิธีกร เรียกเสียงหัวเราะได้ทั้งห้องประชุม ก่อนที่จะเริ่มต้นว่า เวลาเราพูดเรื่องโรคไม่ติดต่อจะมีอยู่สองมิติด้วยกัน คือ เรื่องโรค ยา การรักษา และเรื่องพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ซึ่งแพทย์จะต้องจัดการสร้างความสมดุลกับทั้งสองมิตินี้มาโดยตลอด ทั้งสองมิตินี้นับว่าเป็นหัวใจสำคัญ ในการป้องกันกลุ่มโรคไม่ติดต่อ
(จากซ้าย) รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล, นพ.บุญเรียง ชูชัยแสงรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม, นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และรศ.ดร.สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล
นพ.สุริยะ ยังบอกอีกว่าสิ่งสำคัญคือแพทย์ต้องทำให้ผู้ป่วยรู้จักที่จะดูแลตนเอง รู้จักที่จะควบคุมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ควบคู่ไปกับการรักษา
หนึ่งทางเลือกการรักษา ลดยา ดูแลตนเอง
ต่อจากนั้น นพ.บุญเรียงได้เดินขึ้นมาบนเวที พร้อมกับฝ่าเท้าที่เปลือยเปล่า
"ใครว่าวันนี้เรามาถูกทางบ้างครับ"
นพ.บุญเรียงเริ่มตั้งคำถามกับกระบวนการรักษา และวิธีการทำงานที่ "ตึง" เกินไป
"วันนี้ เราต้องยอมรับว่าเรามาผิดทางหรือไม่ ขนาดแพทย์บางคนที่ดูแลเรื่องโรคพวกนี้ ก็ยังเป็นโรคจำพวกนี้เสียเอง และวันนี้เราสูญเสียบุคลากรหลายคนที่มีความสามารถไปเพราะโรคไม่ติดต่อเช่น เดียวกัน"
จากนั้น นพ.บุญเรียงได้เชิญชวนที่ประชุมและอธิบายถึงหนึ่งในแพทย์ทางเลือกอย่าง "หมอเขียว" หรือ นายใจเพชร กล้าจน ที่จะเน้นเรื่องการพึ่งตนเอง ด้วยการปรับสมดุลของร่างกายทำให้อาการดีขึ้น ลดการใช้ยาแผนปัจจุบัน นอกจากจะเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อ โดยเฉพาะในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาที่น้อยกว่า ที่สำคัญคือมุ่งเน้นให้ผู้คนรู้จักที่จะดูแลตนเองอีกด้วย
"หากสุขภาพพึ่งตนเองไม่ได้ หมอและคนไข้จะป่วยตายกันหมด" นพ.บุญเรียงย้ำ
แพทย์ต้องรู้เท่าทัน-ระวังอย่าเป็นผู้ป่วยเอง
เช่น เดียวกับ รศ.ดร.สมพร ที่ได้นำเสนออีกทางเลือกหนึ่งให้แก่ผู้ป่วย คือ "สมาธิบำบัด SKT" ที่ประกอบไปด้วย 7 เทคนิค หรือเรียกว่า SKT 1-7 ที่ช่วยเยียวยาผู้ป่วยโรคเรื้อรังให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ โดยการมุ่งเน้นในด้านสมาธิ ผ่อนคลายความตึงเครียด พร้อมยกตัวอย่างจากผู้ป่วยที่มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น หลังจากเข้ารับการรักษา
ด้าน นพ.สรนิตได้เน้นไปอีกประเด็นหนึ่งคือ การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมของแพทย์ที่ทำการรักษา ที่ควรจะต้องหมั่นหาความรู้เพื่อให้เท่าทันกับกลุ่มโรคไม่ติดต่อ และเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาเพิ่มมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ของแพทย์ต่างประเทศ รวมไปถึงข้อมูลเพิ่มเติมต่างๆ
ทั้งนี้เพื่อจะได้ลดอัตราผู้ป่วยที่ต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
นอก จากนี้ สิ่งที่ นพ.สรนิตฝากเป็นข้อคิดสำหรับแพทย์ด้วยกันเอง คือ การรักษาสุขภาพของผู้รักษาหรือตัวแพทย์เองก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน
"ก่อนที่จะรักษาคนอื่นบางครั้งแพทย์จำเป็นที่จะต้องดูแลตัวเองให้ได้ก่อน เพราะหากแพทย์ไม่สามารถที่จะดูแลตัวเองได้แล้ว สุดท้ายแล้วตัวแพทย์ก็จะกลายเป็นผู้ป่วยเสียเอง" เป็นประโยคที่เรียกเสียงฮือฮาให้กับแพทย์ที่เข้าร่วมงานได้เป็นอย่างดี
เสร็จสิ้นงานเสวนาแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมอื่นๆ ทั้งในด้านวิชาการ โดยมีการเปิดเวทีนำเสนอบทความทางวิชาการ และวิพากษ์โดยแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงการแสดงนิทรรศการและการเสนอผลงานทางวิชาการซึ่งมีคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล และจากสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
อีกทั้ง ยังมีการให้ความรู้เพื่อรับมือกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ต่างๆ เช่น "อ้วนเกินไปลดอย่างดี" "เบาหวาน เค็ม มัน รู้ทัน NCD" และกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ และหัวเราะบำบัด
ทั้งหมดเพื่อทำให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ทั้งแพทย์และประชาชนได้รับรู้ เข้าใจ เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ถึงสาเหตุที่แท้จริงที่มาจาก "พฤติกรรม" และเรียนรู้วิธีป้องกัน ตระหนักถึงความสำคัญในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ทั้งในเรื่องการรับประทานอาหาร รู้จักผ่อนคลายความเครียด และออกกำลังกายเป็นประจำ
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งการประชุมทางวิชาการที่ครบถ้วนทั้งบู๊-บุ๋น ติดอาวุธให้เรา "รู้ทัน" โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
เพื่อที่ในอนาคต เราจะไม่เสียทีด้วยน้ำมือของตัวเราเอง