คุยกับหมอพิณ : 2 เต้า...ที่เราต้องดูแล
2 เต้า...ที่เราต้องดูแล
คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ
พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล
email:doctorpin111@gmail.com
สวัสดีค่ะ สัปดาห์ที่แล้วคุยกันเรื่องทำนมกันไปแล้ว
สัปดาห์นี้ เราจะมาคุยกันเรื่อง ดู (แล) นม กันนะคะ ว่าเราจะดูแลกันยังไง
ก่อนอื่น "ทำไมต้องดูแล"
นั่นก็เพราะโรคมะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของคุณผู้หญิงเลยน่ะสิคะ
รู้หรือไม่คะ ว่าความเสี่ยงหลัก ๆ ของโรคมะเร็งเต้านมนั้น ได้แก่...ได้แก่...การเป็น "ผู้หญิง" ค่ะ
คือ แค่เป็นผู้หญิงก็เสี่ยงแล้วนั่นเอง โดยในช่วงชีวิตหนึ่งของคุณผู้หญิง สามารถเจอโรคมะเร็งเต้านมได้ 1 ใน 8 ราย ทีนี้ลองหันไปมองรอบ ๆ ตัว นับผู้หญิงที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา 7 คน แล้วมโนต่อไปว่า อาจจะมีใครซักคนในที่นี้ ที่สามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้ในอนาคต (ซึ่ง 1 ใน 8 ที่ว่า ก็มีโอกาสที่จะเป็นตัวเราเองใช่ไหมคะ)
ในเมื่อที่มันเสี่ยงกันซะขนาดนี้ในเมื่อที่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้การตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ในขณะที่ก้อนยังเล็ก ๆ
มะเร็งในระยะต้น ๆ จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ พยากรณ์โรคดีกว่านั่นเองค่ะ
แต่ถ้าไม่ดูแล ไม่ตรวจ แล้วเกิดเป็นผู้โชคร้ายขึ้นมา ปล่อยก้อนมะเร็งทิ้งไว้ จนก้อนใหญ่ ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ การรักษาอาจยากขึ้นและอาจจะสายไปนะคะ พยากรณ์โรคก็จะแย่กว่าด้วยค่ะ
"ดูแลอย่างไร"
โดยในผู้หญิงทุกคน ควรจะดู คลำ และสังเกต อาการที่เปลี่ยนแปลงไปของเต้านมอย่างสม่ำเสมอ
ควรตรวจเองทุกเดือนแนะนำช่วงหลังหมดประจำเดือนใหม่ๆค่ะ เพราะจะตรวจได้ง่าย
จะเป็นตอนอาบน้ำหรือแต่งตัวก็ได้ค่ะ อาจจะสละเวลา ก่อนที่จะพยายามโกยเนื้อนมขึ้นจากตาตุ่มขึ้นมา หันมาดูและคลำเต้านมอย่างละเอียดสักเล็กน้อย ดูบ่อย ๆ คลำบ่อย ๆ ก็คล่องค่ะ
เริ่มจาก "การดู" ก็คือ ดูว่าผิวของเต้านมมีรอยบุ๋ม หรือรอยแดง หรือผิวส้มหรือไม่
หัวนมบุ๋มลง หรือมีน้ำหนองหรือเลือดไหลออกมาจากเต้านมหรือเปล่า
"การคลำ" ควรจะคลำทุกเดือน แนะนำให้คลำหลังประจำเดือนเพิ่งหมดค่ะ เพราะจะสามารถคลำได้ง่าย
หากคลำได้ก้อน ไม่ควรนิ่งนอนใจ ไม่ว่าจะเจ็บหรือไม่เจ็บควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมค่ะ
เพราะบางคนคิดว่าอ๊ะ!ก้อน แต่ฉันไม่เจ็บนี่ ไม่ต้องไปหาหมอหรอก
หารู้ไม่ว่า ก้อนมะเร็งส่วนใหญ่ มันจะไม่มีอาการเจ็บหรอกค่ะ อาการเจ็บส่วนใหญ่จะเกิดจากซีสต์ในเต้านมมากกว่า ซึ่งซีสต์ส่วนใหญ่ไม่ใช่มะเร็ง คือไม่ร้ายแรง (แต่ก็ควรมาให้แพทย์ตรวจอยู่ดีนะคะ เพราะมะเร็งบางชนิดมันก็ปวดได้เช่นกัน) ก้อนมะเร็งส่วนใหญ่มักแข็งและมีผิวขรุขระค่ะ
นอกจากการดู คลำ สังเกตอาการตนเองแล้ว
- ในสตรีอายุ 20-39 ปี ควรจะให้แพทย์ตรวจเต้านมทุก 3 ปีค่ะ
- ส่วนในคุณผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรให้แพทย์ตรวจเต้านมทุกปี และทำแมมโมแกรมทุกปีด้วยค่ะ
สละเวลาตรวจเองเดือนละครั้ง ให้หมอตรวจปีละครั้ง เครื่องตรวจปีละครั้งกันนะคะ
ถ้าเจอโรคก่อน จะได้รักษาก่อน หายก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ
ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.istockphoto.com/