คุณแม่ฟังทางนี้! ทำไงดี...เมื่อลูกขาโก่ง
คุณแม่ฟังทางนี้! ทำไงดี...เมื่อลูกขาโก่ง
อาการขาโก่งมักพบในเด็กในวัยช่วงหัดเดิน ซึ่งขาและเข่าจะโก่งหรือโค้งงอเท่าๆ กัน ทั้งขาซ้ายและขาขวา หรือบางรายอาจจะพบว่าขาโกงข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า ขาโก่งตามสรีระ (physiologic bow legs) อย่างไรก็ตาม ขาโก่งที่ลูกเป็นอยู่นั้นต้องแยกให้ออกว่า มีลักษณะโก่งแบบธรรมชาติ ซึ่งถ้าเป็นในลักษณะนี้อาการจะค่อยหาไปเมื่อโตขึ้น แต่ถ้าเป็นโรคขาโก่งที่ไม่หาย ลักษณะขาโก่งของลูกคุณอาจจะมีอาการโก่งมากขึ้น
นายแพทย์ปวริศร สุขวนิช แผนกศัลยแพทย์กระดูกและข้อในเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี ได้ให้ข้อมูลถึงเรื่องนี้ว่า สภาวะอาการขาโก่งเก เกิดความผิดรูปของขาข้างใดข้างหนึ่งที่มีลักษณะโค้งออกด้านนอกของลำตัวคล้ายคันชน สาเหตุการเกิดนั้น มีได้หลายอย่าง ซึ่งภาวะขาโก่งที่พบตามปรกติคือ อาจเป็นภาวะการเติบโตที่ผิดปรกติของบริเวณกระดูกบริเวณขา หรือการพบโรคทางด้านร่างกาย
สำหรับภาวะขาโก่งแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ใหญ่ ๆ คือ
1. ขาโก่งตามธรรมชาติ หรือขาโก่งปกติ ซึ่งในช่วงเด็กวัยก่อน2 ขวบ จะพบว่ามีอาการขาโก่งแบบนี้ได้ เชื่อว่าเพราะขณะที่เค้าอยู่ในครรภ์มารดานั้น อาจจะมีอาการขดตัว ทำให้เกิดการตึงของเส้นเอ็น และการรั้งของกล้ามเนื้อด้านในของข้อเข่า แต่พอเค้าเริ่มยืน กล้ามเนื้อส่วนนี้มีการออกแรง ร่างกายก็จะปรับเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าที่จริงๆ ก็เมื่อเค้าอายุประมาณ 2 ขวบขึ้นไป
2. ขาโก่งที่เกิดจากความเป็นโรค หรือขาโก่งผิดปกติ สาเหตุเกิดจากเนื้อกระดูกผิดปกติ หรือเป็นอาการแสดงหนึ่งของกลุ่มโรคกระดูกอ่อน ข้อเข่าเสื่อม หรือเกิดจากความผิดปกติของข้อตะโพก เป็นต้น โดยคุณพ่อคุณแม่สังเกตได้จากเวลายืนหรือเดินเด็กมักจะหมุนขาเข้าใน ซึ่งถ้าหลังจากลูกอายุ 3 ขวบไปแล้ว ยังมีลักษณะขาโก่งอยู่ การเดินเหมือนเป็ดถือว่าผิดปกติให้นำลูกไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
ส่วนขั้นตอนการรักษาในเด็กที่เป็นโรคขาโก่งผิดปกติแพทย์จะวินิจฉัยทำการรักษาโดยใช้อุปกรณ์ในการดามขา ดามให้ขากลับมาตรง อุปกรณ์ที่ดามจะยาวจากต้นขาลงมาถึงเท้า และต้องใส่นานหลายชั่วโมงต่อวัน ซึ่งอาจจะทำให้เด็กเดินลำบากได้ หรือ การรักษาโดยการผ่าตัด ให้กระดูกตรงขึ้น ร่วมกับการใส่เฝือกขาหลังการผ่าตัดประมาณ 1 – 2 เดือน ซึ่งในเด็กเล็กกระดูกจะสามารถติดกันเร็วมาก อย่างไรก็ตามเมื่อเด็กอายุมากขึ้นการรักษาก็จะยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นจะต้องรับการรักษาให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะถ้าเด็กอายุมากเกินกว่า3ปี ส่วนใหญ่แล้วจะรักษาด้วยการผ่าตัด อย่างไรก็ตามจะมีภาวะขาโก่งบางอย่างที่รักษาค่อนข้างยาก เช่น ภาวะขาโก่งที่ปล่อยไว้นานเกินไป หรือภาวะขาโก่งที่มีผลกระทบกับโรคอื่น ๆ ของร่างกาย ลักษณะอย่างนี้ การรักษาก็จะมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีก
การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาโก่งหลักการสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังไม่ให้เด็กอ้วน เพราะภาวะนี้จะพบมากในเด็กที่อ้วน การเฝ้าสังเกตุดูอาการของลูกถ้าลูกเริ่มเดินขาโก่งแล้วรู้สึกว่ามันไม่ดีขึ้น อายุเริ่มเข้าใกล้ 2ขวบแล้ว ขายังคงโก่งมากอยู่ หรือขาโก่งไม่เท่ากันจะต้องรีบพาไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม ถ้าปล่อยให้ภาวะขาโก่งนานๆ อาจมีการเจริญของขาฝั่งด้านผิดปกติทำให้กระดูกเกิดการผิดรูปและสั้นลงด้วย ทำให้ขาโก่งมากขึ้น และข้อเข่าที่ผิดรูปจะทำให้เสื่อมได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ในช่วงเด็กเล็กคุณพ่อคุณแม่ควรเอาใจใส่ดูถึงพัฒนาการของลูกสักนิดถ้าลูกของคุณเริ่มจะมีภาวะขาโก่งแล้วต้องรีบมาปรึกษาแพทย์ให้เร็วที่สุด จะได้รักษาอย่างทันท่วงที