เวียนศีรษะ บ้านหมุน โคลงเคลง
เวียนศีรษะ บ้านหมุน โคลงเคลง : สัญญาณบ่งชี้ความผิดปกติของอวัยวะการทรงตัว
‘เวียนศีรษะ’ (dizziness) เป็นอาการที่ทุกคนไม่อยากประสบกับตนเอง เป็นคำที่มีความหมายกว้าง อาจหมายถึงมึนเวียนศีรษะ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติได้หลากหลายสาเหตุ กับคำว่า เวียนศีรษะแท้ (vertigo) ที่มักจะมีอาการหมุนร่วมด้วย ซึ่งประการหลังนี้เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของอวัยวะการทรงตัว
ในที่นี้จะขอกล่าวเพียง เวียนศีรษะแบบหมุน อาจมีความรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมหมุน หรือตัวเองหมุน ร่วมกับอาการโคลงเคลง บางรายเป็นเพียงระยะสั้น ๆ อยู่เพียงไม่กี่วินาทีแล้วหายไป หรือ อาจจะนานเป็นหลายนาทีจนถึงหลายชั่วโมง บางรายจะมีอาการหูอื้อ มีการได้ยินบกพร่อง หรือมีเสียงผิดปกติในหู สาเหตุของความผิดปกตินี้ เกิดได้ตั้งแต่ความผิดปกติของระบบการทรงตัวส่วนปลาย (หูชั้นในและเส้นประสาทการทรงตัว) หรือ ระบบการทรงตัวในระบบประสาทส่วนกลาง
สำหรับอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่เกิดจากอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นในหรือประสาทหู มีโรคพบบ่อย ๆ ได้ดังนี้
หินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign paroxysmal position vertigo - BPPV) เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากหินทรงตัว (Calcium Carbonate – otolithic crystal) ในหูชั้นในเคลื่อนหลุดออกจากที่อยู่เดิม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะเป็นระยะสั้น ๆ ขณะเปลี่ยนท่า เช่น ขณะล้มตัวลงนอน หรือลุกขึ้นนั่ง
น้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease) เกิดจากความแปรปรวนของน้ำในหูชั้นใน (endolymphatic hydrop)ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะนานหลายนาทีหรืออาจต่อเนื่องเป็นหลายชั่วโมง อาการจะหายไปแล้วกลับมาเป็นอีกได้ โดยอาจจะห่างเป็นเดือนหรือเป็นปี เมื่อโรคเป็นรุนแรงขึ้นอาการจะเป็นถี่ขึ้น และหูข้างที่มีปัญหาจะได้ยินเสียงน้อยลงเรื่อย ๆ ร่วมกับเสียงผิดปกติในหู
เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ (Vestibular neuritis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตรงเส้นประสาทการทรงตัว ทำให้สัญญาณประสาทการทรงตัวที่ส่งไปสู่สมองไม่สมดุล ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะนานหลายวัน โดยไม่มีอาการทางระบบประสาทสมอง หลังจากหายเวียนศีรษะแบบหมุนแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการโคลงเคลง และทรงตัวไม่ดีไปอีกระยะหนึ่ง
เนื้องอกประสาทหู (Acoustic neuroma) ผู้ป่วยจะมีอาการเสียงผิดปกติในหู การได้ยินลดลง ร่วมกับเวียนศีรษะแบบโคลงเคลง ซึ่งเกิดจากการที่มีเนื้องอกจากประสาทหู หากปล่อยไว้นาน ก้อนเนื้องอกจะโตขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถไปกดเส้นประสาทสมองและเนื้อสมองได้
นอกจากนี้ยังมีโรคอื่น ๆ ได้แก่ โรคประสาทหูถูกทำลายจากยา (ototoxicity), โรคประสาทหูดับฉับพลัน (Sudden sensorineural hearing loss) หรือ การเสื่อมถอยของอวัยวะการทรงตัว เป็นต้น
สำหรับขั้นตอนการรักษา ในระยะแรกแพทย์จะทำการรักษาตามอาการ โดยผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะมากร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน ควรได้รับการรักษาตามอาการโดยแพทย์ใกล้ตัว หรือแพทย์ประจำตัว เพื่อให้อาการทรมานจากการเวียนศีรษะลดลง และไม่ขาดสารน้ำ ขั้นตอนต่อไป ในรายที่สงสัยว่าสาเหตุน่าจะมาจากความผิดปกติของอวัยวะการทรงตัว แพทย์จะทำการตรวจทดสอบต่าง ๆ เพื่อให้ได้คำวินิจฉัยและวางแผนการรักษา
ในการรักษาจำเพาะต่อโรคชนิดต่าง ๆ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาการรักษาขึ้นมากตามลำดับ ตั้งแต่การทำ Canalith Repositioning Maneuver, การผ่าตัด Posterior Semicircular canal occlusion ในรายที่เป็น BPPV, การรักษาโดยการฉีดยาเข้าไปสู่หูชั้นใน (Intratympanic injection) ในรายโรคน้ำในหูชั้นใน หรือโรคหูดับ เป็นต้น
ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือการฟื้นฟู ผู้ป่วยบางรายถึงแม้จะหายเวียนศีรษะแบบฉับพลันแล้ว พยาธิสภาพของโรคยังคงทำให้มีการเสียสมดุลของการทรงตัว มีอาการโคลงเคลงเรื้อรัง จึงทำให้คุณภาพชีวิตด้อยลงไป ในรายเหล่านี้สามารถช่วยได้โดยการฝึกฝนหรือทำกายภาพบำบัด (Rehabilitation) เพื่อให้การทำงานและสมดุลของการทรงตัวดีขึ้น
ผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจมีอาการเข้าข่ายโรคในกลุ่มที่เกี่ยวกับระบบประสาทหู สามารถเข้ารับการตรวจโดยละเอียด ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ช่วยในการตรวจวินิจฉัยเฉพาะทาง ตั้งแต่เครื่องมือที่ใช้ตรวจความผิดปกติทั่วไป เช่น เครื่องตรวจการได้ยิน (audiogram) และ เครื่องตรวจภาวะแรงดันของหูชั้นกลาง (tympanogram) จนถึงเครื่องมือที่สามารถตรวจการทำงานของระบบประสาทหูได้ลึกไปถึงระดับก้านสมอง (Auditory brain stem response, ABR) เครื่องทดสอบการทำงานของเซลล์ขนในหูชั้นใน (Otoacoustic emission, OAE) และเครื่องตรวจการได้ยินในระดับก้านสมอง (Auditory steady state response, ASSR)
ส่วนการตรวจระบบประสาทการทรงตัว ทำได้โดย เครื่องมือเฉพาะสำหรับตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวในหูชั้นใน (Videonystagmography, VN6) เครื่องตรวจแรงดันน้ำในหูชั้นใน (Electrocochleography, ECOG) และเทคโนโลยีใหม่ที่ทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์นำมาใช้ในคลินิกเกี่ยวกับผู้มีปัญหาด้านการทรงตัว ที่เรียกว่า Posturography ซึ่งครอบคลุมการทำงานตั้งแต่การตรวจหา การวินิจฉัย และการฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการทรงตัว ด้วยระบบการทดสอบ 6 ระดับ ทำให้สามารถวินิจฉัยแยกได้ว่าความผิดปกติของอาการมาจากระบบการทรงตัว สายตา สมอง หรือเกิดจากสาเหตุใด เพื่อการรักษาที่ตรงจุด พร้อมขั้นตอนการฟื้นฟูมากกว่า 20 โปรแกรมตามลำดับอาการ
อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน แม้ได้รับการรักษาแล้วผู้ป่วยบางรายก็ยังต้องได้รับการฟื้นฟูในระยะยาว หรือในบางโรคอาจส่งผลเรื้อรังและแสดงอาการมากขึ้นหากไม่ได้รับการรักษา ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำให้ผู้ที่เคยมีประวัติการเวียนศีรษะบ้านหมุน โคลงเคลง หรือสงสัยว่าตนเองอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัว ควรเข้ารับการตรวจร่างกายและตรวจทดสอบจากแพทย์ เพื่อการรักษาและการฟื้นฟูเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์