รู้ไว้...ห่างไกลโรคไม่ติดต่อ เพชฌฆาตแห่งศตวรรษ 21

รู้ไว้...ห่างไกลโรคไม่ติดต่อ เพชฌฆาตแห่งศตวรรษ 21

รู้ไว้...ห่างไกลโรคไม่ติดต่อ เพชฌฆาตแห่งศตวรรษ 21
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้ไว้...ห่างไกลโรคไม่ติดต่อ เพชฌฆาตแห่งศตวรรษ 21

กลุ่มโรคไม่ติดต่อ หรือ Non-Communicable Diseases (NCDs) เป็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน เป็นกลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ จนมีการเรียกโรคกลุ่มนี้ว่า "โรคแห่งศตวรรษที่ 21" ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อราว 71 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในประเทศ ซึ่งโรคไม่ติดต่อที่เป็นสาเหตุการตายของคนไทยมากกว่าโรคอื่น ๆ ถึง 3 เท่า คือ โรคหลอดเลือดและหัวใจ ส่วนโรคที่พบมาก 4 อันดับแรกคือ โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคระบบหายใจผิดปกติเรื้อรัง

ในการประชุมวิชาการประจำปีศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ประจำปี 2558 จึงได้ชูประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักในการเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ความรู้เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้รู้เท่าทันและป้องกันก่อนจะเกิดโรค

แพทย์หญิงวรรณีนิธิยานันท์อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลกล่าวว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเกิดจาก 3 องค์ประกอบ คือ 1.ความเสื่อม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและเปลี่ยนแปลงไปตามวัย เกิดขึ้นกับอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย โดยทั่วไปความเสื่อมไม่ใช่โรค แต่ความเสื่อมที่มากเกินหรือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะแสดงออกเป็นโรค 2.พันธุกรรม เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดมาจากบิดามารดา หรือเกิดจากการดัดแปลงของสายพันธุกรรมในบุคคลใดบุคคลหนึ่งภายหลัง ซึ่งพันธุกรรมไม่สามารถแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนได้ 3.สิ่งแวดล้อม สิ่งรอบตัวที่คนเราสัมผัสหรือใช้ชีวิตอยู่แต่ละวัน

นั่นหมายถึงกลุ่มโรคไม่ติดต่อเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นผู้ที่อยากป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนปัจจัยแวดล้อม ปรับพฤติกรรมการบริโภคที่ดีและถูกต้อง มีกิจกรรมการออกแรงอย่างเหมาะสมทุกวัน ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ ไม่เครียด การดำรงชีวิตที่ถูกต้องควรเริ่มตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา ต่อเนื่องไปถึงวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน จนถึงวัยสูงอายุ จึงจะทำให้การป้องกันโรคไม่ติดต่อมีประสิทธิภาพสูงสุด

ด้าน นายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือพฤติกรรมของผู้ป่วย ดังนั้นในการรักษาผู้ป่วยโรคกลุ่มนี้ซึ่งทางการแพทย์รักษามีสูตรสำเร็จแบบตายตัวจึงอาจไม่เห็นผล เพราะพฤติกรรมของคนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน

ยกตัวอย่าง คนไข้โรคเบาหวานแต่ละคนกินอาหารไม่เหมือนกันในปริมาณไม่เท่ากัน หรือแม้แต่คนไข้คนเดิม แต่ละวันก็กินอาหารไม่คงเส้นคงวา แต่แพทย์ให้ยาแบบคงเส้นคงวาในขนาดเท่าเดิม จึงไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ หรือถ้าคนไข้เบาหวานมีอาชีพเป็นกรรมกรต้องใช้แรงงานเยอะ ก็จำเป็นต้องกินอาหารเยอะ แพทย์จะสั่งให้คนไข้กินข้าวไม่เกิน 2 ทัพพีไม่ได้ การรักษาจึงต้องปรับไม่ให้เป็นไปตามสูตรสำเร็จเดิม ๆ ต้องปรับให้สิ่งที่พูดกันในทางวิชาการแพทย์มาเจอกับชีวิตจริงของคนไข้ให้ได้

ดังนั้นการรักษาโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ ส่วนใหญ่ตัดสินโดยพฤติกรรมของบุคคล ไม่ใช่ตัดสินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คนไข้ต้องมีระบบการดูแลตัวเองที่ดี แพทย์ไม่สามารถสั่งให้คนไข้กลับไปออกกำลังกายได้ หรือสั่งให้ลดอาหารหวาน มัน เค็ม พฤติกรรมเหล่านี้ขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคล ส่วนทางการแพทย์ต้องมีระบบบริการปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพ ต้องเข้าใจคนไข้ ส่งเสริมให้คนไข้ใช้ชีวิตอยู่กับความพอดี และสอนให้คนไข้ประเมินตนเองให้เป็น ให้รู้จักสังเกตตนเองโดยไม่ต้องรอมาตรวจที่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว คนไข้ต้องปรับพฤติกรรมตัวเอง เพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนคนที่ยังไม่เป็นโรคถ้าปรับพฤติกรรมได้ก็จะลดความเสี่ยงได้อีกเยอะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook