น้องข้าวมันไก่ จากเด็กเสิร์ฟสู้ชีวิตสู่เจ้าของอาณาจักรข้าวมันไก่ในอเมริกา
[สัมภาษณ์พิเศษ] “น้องข้าวมันไก่” จากเด็กเสิร์ฟสู้ชีวิตสู่เจ้าของอาณาจักรข้าวมันไก่ในอเมริกา
“ขอบคุณ “ความจน” และ “พ่อขี้เมา” ที่ทำให้มาไกลถึงตรงนี้” หญิงสาวผมทองวัย 34 ปี ตอบเรียบๆ เมื่อถูกถามว่าอะไรคือแรงผลักดันที่ดีที่สุดในชีวิต
ในวันนี้ เธอคือเจ้าของอาณาจักรข้าวมันไก่ในเมืองพอร์ทแลนด์ สหรัฐอเมริกา เป็นที่จับตามองของสื่อต่างประเทศในฐานะนักธุรกิจดาวรุ่งผู้ไม่ยอมแพ้ต่อชะตาชีวิต เธอไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่เริ่มจากติดลบ
เอ่ยชื่อ “น้อง ข้าวมันไก่” คนไทยอาจจะไม่รู้จัก แต่ฝรั่งที่พอร์ทแลนด์จำนวนมากปวารณาตัวเป็นลูกค้าประจำของร้านนี้มาตั้งแต่ขวบปีแรกของกิจการ
“ตอนนี้มีสามสาขา เป็นร้านแบบรถเข็นสองสาขา ร้านอาหารหนึ่งสาขา แล้วก็เป็นฟู้ดทรัคอีกหนึ่งคัน เอาไว้บริการจัดเลี้ยง สำหรับงานแต่งงาน หรืองานปาร์ตี้ แล้วแต่ลูกค้าจะจ้างไป แล้วก็มีน้ำจิ้มข้าวมันไก่ ใส่ขวดขาย ผลิตเอง ขายเอง ส่งเอง ขายในร้านซูเปอร์มาร์เก็ตค่ะ”
“น้อง พูนสุขวัฒนา” เล่าถึงความสำเร็จในวันนี้ของกิจการ “น้อง ข้าวมันไก่” ที่เป็นคนสร้างขึ้นมากับมือเมื่อ 5 ปีก่อน
...แต่ทั้งหมดนี้อาจจะไม่เกิดขึ้น หากชีวิตในวัยเด็กของเธอมีความปกติสุขเหมือนคนทั่วไป
“โตมาในครอบครัวจนๆ แม่ทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงคนทั้งครอบครัว ในขณะที่พ่ออาชีพขับรถรับจ้าง บางครั้งขับรถเมล์ แต่โดนไล่ออกเป็นประจำ เพราะเมาเหล้า อาละวาด ทั้งแม่ พี่สาว ตัวเราเอง และแม้กระทั่งหมาที่บ้าน ถูกพ่อทำร้ายร่างกายทุกวัน”
คนบ้านใกล้เรือนเคียงล้วนดูถูกครอบครัวของเธอ บางครั้งพวกเขาก็ทำร้ายพ่อของเธอเช่นกัน แต่แม่ก็เข้มแข็งพอที่จะส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรีทั้ง 2 คน
“ตอนเด็กไม่เคยกินอาหารที่ร้านอาหาร ไม่เคยได้ดื่มน้ำอัดลม ไม่เคยได้กินฮานามิ เวลาเห็นเด็กคนอื่นกินก็อยากกินนะ แต่มีเงินไปโรงเรียนวันละ 5 บาท ระหว่างเรียนพี่สาวก็จะขายเครื่องสำอางเอวอนและงานศิลปะ น้องทำงานร้านอาหาร ตอนปิดเทอม เพื่อช่วยแม่จ่ายค่าเทอม จนเรียนจบ” เธอเล่าถึงอดีตในวัยเด็ก
เมื่อเรียนจบ เธอตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้าที่อเมริกา มันคือเมืองแห่งโอกาส ถึงไม่มั่นใจว่าจะอยู่รอดแน่นอน แต่ก็เชื่อว่าความขยันและอดทนจะทำให้เธอไม่อดตายอยู่ที่นั่น
ที่สำคัญที่สุด เธออยากไปให้พ้นจากบ้านหลังนี้ หาเงินให้ได้มากๆ เพื่อที่แม่จะได้ไม่ต้องทำงานหนักอีก มันคือเดิมพันครั้งใหญ่ของครอบครัว ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางคือทั้งหมดเท่าที่แม่และพี่สาวรวบรวมมาได้
ระหว่างทาง เธอแวะซื้อน้ำหอมกับบรัชออนปัดแก้ม เครื่องสำอางที่เคยเป็นแค่ความฝันในวัยเด็ก แต่ในวันนี้เธอตัดสินใจจะเป็นเจ้าของมัน เพื่อเตือนตัวเองว่าชีวิตต้องดีขึ้นดั่งความฝัน
เธอเหยียบแผ่นดินอเมริกาโดยมีเงินติดตัว 70 ดอลลาร์ จนกระทั่ง 3 สัปดาห์ผ่านไป เธอได้งานแรกเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารบุฟเฟ่ต์
“ตอนแรกก็คิดว่าเราพูดภาษาอังกฤษได้ แต่พอพูดจริงๆ คนฟังเราไม่รู้เรื่อง และต้องนั่งรถเมล์ไปเอง ทั้งๆ ที่นั่งไม่เป็น โดนคนที่ทำงานแกล้ง เพราะน้องเป็นคนไทยคนเดียวในร้าน พูดกับเขาก็ไม่รู้เรื่องเป็นการเริ่มชีวิตจากศูนย์”
เธอทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ รับงานเข้ากะเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารไทยทุกร้านที่มีในพอร์ทแลนด์ เพราะไม่เคยลืมว่ามาที่นี่เพื่ออะไร
“อยากจะเก็บเงินเพื่อสร้างอนาคต และทุกอย่างแพงมาก ต้องทำงานหนักมากกว่าคนอื่น ถ้าอยากช่วยแม่ และมีบ้านเป็นของตนเอง ซึ่งมันเป็นความฝันตั้งแต่เด็กๆ”
6 ปีผ่านไปในฐานะเด็กเสิร์ฟ เธอบอกว่ารู้สึกไม่มีความสุข และเริ่มหมดหวัง กับชีวิต รู้สึกเป็นเหมือนเทียน ที่กำลังจะดับ ถ้าไม่อยากเป็นเด็กเสิร์ฟไปจนตาย ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต นั่นคือจุดเริ่มต้นของ “น้อง ข้าวมันไก่” หรือ NONG’S KHAO MAN GAI ที่ชาวพอร์ทแลนด์รู้จักกันดี
ที่ประเทศไทย การขายอาหารจานเดียวข้างถนนสามารถเลี้ยงชีพได้ แต่สำหรับที่นี่ เธอไม่รู้ว่ามันจะเวิร์คหรือเปล่า ยิ่งเป็นข้าวมันไก่ที่ฝรั่งไม่รู้จัก มันเป็นทั้งความแตกต่างและความเสี่ยงที่ชวนให้ลอง
นับตั้งแต่วันนั้น เธอใช้เงินทั้งหมดที่มีไปกับการพัฒนาสูตรข้าวมันไก่ ทดลองทำครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะรสชาติที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยง เธอทุ่มหมดหน้าตัก ถ้าไปไม่รอดก็ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่เหมือน 6 ปีก่อน
“ข้าวมันไก่” ในดินแดนอาหารขยะ ไม่ต่างอะไรจากตัวเธอเองในวันแรกที่ไปเหยียบแผ่นดินอเมริกา มันดูผิดที่ผิดทางและแปลกแยก นั่นคืออุปสรรคในช่วงเริ่มทำธุรกิจของตัวเองอย่างจริงจัง
“คนไม่รู้จัก ข้าวมันไก่คืออะไร?” เธอเล่า เพราะถ้าพูดถึงอาหารไทย คนต่างชาติจะรู้จัก “ต้มยำกุ้ง” มากกว่าอาหารจานเดียวที่อยู่ในวิถีชีวิตคนไทยจริงๆ แต่เธอก็ผ่านปัญหานั้นมาได้ด้วยคุณภาพของสินค้าและบริการ
“มันไม่ใช่แค่ไก่และข้าว แต่ต้องมั่นใจว่าลูกค้าแฮปปี้ ได้รับบริการที่ดีและรวดเร็ว แม่สอนมาว่า จงเป็นผู้ให้ก่อน แล้วจะได้รับ ต้องให้ความเคารพลูกค้า และอย่าลืมยิ้ม”
เธอบอกว่า คำสอนของแม่ทำให้เธอได้รับความช่วยเหลือจากหลายๆ คน เพราะนอกจากรสชาติแล้ว ความอ่อนน้อมและซื่อสัตย์แบบไทยๆ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากอยากอุดหนุนข้าวมันไก่ของเธอ
“ยังจำวันที่ขายข้าวมันไก่ห่อแรกได้ จริงๆ ร้านต้องเปิดสิบโมง แต่วันนั้นฉุกละหุกมาก ข้าวก็หุงไม่ทัน กว่าจะเปิดได้ก็บ่ายโมง มีพี่คนไทยและเพื่อนที่รู้จักกันมารอซื้อ รวมถึงลูกค้าที่ดูเหมือนจะเป็นศิลปินด้วย เราก็บอกว่ายังไม่เสร็จ พี่ๆ เขาก็กลับมาซื้อตอนบ่ายโมง วันแรกขายหมดเกลี้ยง ดีใจมาก”
ยิ่งเวลาผ่านไป เธอยิ่งมั่นใจว่ากิจการ “น้อง ข้าวมันไก่” อยู่รอดแน่นอน แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็เรียนรู้ว่า แค่ทำข้าวมันไก่ดีๆ ยังดีไม่พอ เพราะในวันนี้ เธอมีพนักงานอีก 19 คนที่ต้องดูแล ทุกคนเรียกเธอว่า “เชฟน้อง”
“สำหรับความท้าทายในตอนนี้คือการบริหารงาน บริหารคน การคงคุณภาพสินค้า และบริการ ต้องเรียนรู้เรื่องธุรกิจ ต้องเป็นผู้นำ เพราะวันนี้มีทีมมาช่วยงานแล้ว ยอมรับว่าถ้าไม่มีพวกเขา คงไม่ได้มายืนอยู่ตรงนี้”
ในขณะที่เธอวุ่นวายกับการทำธุรกิจในต่างแดน สถานการณ์ที่บ้านก็ดีขึ้นเป็นลำดับ เธอได้ทำงานหาเลี้ยงครอบครัวตามที่ฝันไว้ แม่ไม่ต้องทำงานหนักอีกแล้ว นี่คือสิ่งที่เธอภูมิใจที่สุด
“ที่บ้านดีขึ้นมากแล้ว พ่อหยุดกินเหล้า แต่พูดไม่ได้ เพราะเส้นเลือดในสมองแตก เป็นผลจากการกินเหล้า แต่แม่ก็ยังดูแลพ่อทุกวัน”
ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายแค่ไหน มันก็ยังคงมีอะไรบางอย่างให้รู้สึกขอบคุณ เพราะหากไม่มีความจน ความลำบาก และเสียงดูถูกดูแคลน ก็อาจจะไม่มี “น้อง ข้าวมันไก่” ในวันนี้
เธอบอกว่า ความฝันจะกลายเป็นความจริงเมื่อเชื่อในตัวเอง เชื่อว่าทำได้ ลงมือทำ และทำให้ดีกว่าที่คนอื่นคาดหวัง...11 ปีผ่านไป เธอยังใช้น้ำหอมและบรัชออนตลับนั้นอยู่
ได้รับอนุญาตให้ใช้ภาพประกอบบทความจาก NONG’S KHAO MAN GAI