เบื่อจัง...วันจันทร์อีกแล้ว "เรามีความสุขกับการทำงาน"หรือเปล่า?
ใครเคยตกอยู่ในอารมณ์นี้บ้าง? เบื่อจัง...วันจันทร์อีกแล้ว ไม่อยากมาทำงานเลย!!
ถ้าเกิดอารมณ์นี้บ่อยๆ ในวันแรกของการทำงาน นั่นคือสัญญาณที่กำลังบอกว่าเราไม่มีความสุขในการทำงานหรือเปล่า? จากเหตุผลข้างต้น บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ บีดี (ประเทศไทย) จำกัด จึงเผยผลสำรวจล่าสุดในหัวข้อ "ความสุขในการทำงานปี 2558" เพื่อให้ได้ทราบปัจจัยที่ทำให้พนักงานมีความสุขและไม่มีความสุขในการทำงาน พร้อมแคมเปญการตลาดใหม่ "Happy is a better job" หรือใช้ชีวิตให้สุขสนุกกับงานที่ใช่ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนวัยทำงานมองเห็นความสุขในการทำงานและสร้างแรงจูงใจให้รู้สึกอยากทำงานประจำในบริษัทต่างๆ
นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ บีดี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากการสำรวจดัชนีความสุขของพนักงานจำนวน 1,452 คน ระบุว่า 58.3% ของคนทำงานมีความสุขกับงานที่ทำในปัจจุบัน โดย 9.7% "มีความสุขมาก" ขณะที่ 49% "ค่อนข้างมีความสุข"
ขณะที่อีก 41.6% ของคนทำงานไม่มีความสุขกับงานที่ทำ โดย 6% "ไม่มีความสุขเลย" และ 35.7% "ไม่ค่อยมีความสุข"
โดยตำแหน่งงานที่มีความสุขที่สุด
อันดับ 1 ผู้บริหาร 69%
อันดับ 2 คือ ระดับเจ้าหน้าที่ที่เริ่มทำงานในปีแรก และระดับพนักงานที่มีประสบการณ์ 1-4 ปี 60% ขณะที่ระดับหัวหน้างานและระดับพนักงานที่มีประสบการณ์ 5 ปีขึ้นไปอยู่ใน
อันดับ 3 คิดเป็น 58% และมีความสุขอันดับสุดท้าย ระดับผู้จัดการ 56%
"เราจะเห็นว่าระดับพนักงานที่เพิ่งเริ่มทำงาน1-4ปี มีความสุขถึง 60% เพราะระดับนี้เพิ่งเริ่มต้นเข้าทำงาน ความรับผิดชอบยังน้อยอยู่ ทำให้เขามีความสุขกับการทำงานค่อนข้างเยอะ ขณะที่ระดับผู้บริหารแม้ความรับผิดชอบจะสูง แต่เพราะมีพนักงานระดับผู้จัดการช่วยในการทำงานจึงยังมีความสุขในการทำงานสูง ส่วนระดับผู้จัดการซึ่งเป็นคนที่อยู่ตรงกลาง ได้รับทั้งความกดดันความคาดหวังจากเจ้านายที่อยากให้งานออกมาดี รวมทั้งลูกน้องก็มองเราขึ้นมา ซึ่งคนที่อยู่ตรงกลางยากที่สุด เขาจึงมีความสุขน้อยกว่าคนอื่น"
นอกจากนี้ จากกลุ่มตัวอย่าง ตำแหน่งงานด้านธุรการและการบริหารบุคคลมีความสุขมากที่สุด เมื่อเทียบกับงานการตลาด งานพีอาร์ งานบัญชี งานขาย งานบริการลูกค้า และงานพัฒนาธุรกิจและงานไอที
ส่วน "ปัจจัย" ที่ทำให้คนทำงาน "มีความสุข" คือ
1."บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบ" ได้ทำงานที่ถนัด รักและชอบ มีผลต่อความสุข 2."ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย" ซึ่งการเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงานส่งผลถึงการทำงานเป็นทีมได้เป็นอย่างดี 3."เงินเดือน" ได้รับความตอบแทนที่เหมาะสมมีการปรับฐานเงินเดือนที่สูง 4."ช่วงเวลาการทำงานที่สร้างเวิร์ก ไลฟ์ บาลานซ์" มีเวลาอยู่กับครอบครัว ได้ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ และ 5."สิทธิประโยชน์และผลตอบแทนอื่นๆ" ได้รับความคุ้มครองทั้งตนเองและครอบครัว มีสิทธิรักษาพยาบาล
ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้ "ไม่มีความสุข" คือ
1."ระบบการทำงานขององค์กร" ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในการทำงาน
2."เงินเดือน" ทำงานมานานแต่เงินเดือนไม่ขยับ
3."บทบาทและหน้าที่รับผิดชอบ" ทำงานจำเจรับคำสั่งอย่างเดียว ไม่เคยได้ออกความคิดเห็นของตนเอง
4."ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย" ทำงานผิดก็ว่า ทำงานดีไม่เคยชม คอยจ้องจับผิดตลอดเวลา และ
5."สิทธิประโยชน์และผลตอบแทน" ไม่มีค่าทำงานล่วงเวลา เจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ ไม่สามารถเบิกได้
นพวรรณบอกอีกว่า แม้การทำงานจะไม่ค่อยมีความสุขก็ไม่ได้แปลว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ลาออกเพียงแค่การทำงานจะไม่มีประสิทธิภาพ แต่ปัจจัยที่ทำให้คนทำงานตัดสินใจ "ลาออก" คืออันดับ 1 ร้อยละ 18.6 "ไม่มีโอกาสในการเติบโตในองค์กร" ทำงานมา 10 ปี ยังคงย่ำอยู่กับที่ 2.ร้อยละ 10.6 "เข้ากับเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชาไม่ได้" เข้าทำนองเพื่อนไม่คบ เจ้านายไม่รัก 3.ร้อยละ 10.5 "ได้รับการปรับเงินเดือน แต่ไม่เพียงพอ" เงินเดือนขึ้นทุกปี แต่ทำไมยังคงเป็นหนี้อยู่ 4.ร้อยละ 9.6 "องค์กรไม่มีระบบที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานให้สำเร็จและมีประสิทธิภาพ" ระบบล้าหลัง งานกว่าจะอนุมัติผ่านหลายขั้นตอน 5.ร้อยละ 9.4 "ไม่ชอบงานที่รับผิดชอบอยู่" เรียนจบอีกอย่าง แต่ต้องทำงานที่ไม่ใช่ตัวตน
"ถ้าแบ่งตามระดับตำแหน่งงานเหตุผลที่ทำให้คนทำงานลาออกแบ่งได้เป็นผู้บริหารระดับสูงเหตุผลเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน, ผู้จัดการ เหตุผลองค์กรไม่มีระบบที่เอื้อต่อการทำงานให้สำเร็จ, หัวหน้างาน, พนักงาน เหตุผลจากไม่มีโอกาสในการเติบโตในองค์กร"
ปิดท้าย นพวรรณแนะนำวิธีการสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้แก่คนทำงานที่เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับงานที่รับผิดชอบอยู่ดังต่อไปนี้
1.HappinessCheck Up - สำรวจว่าทุกวันนี้มีความสุขกับการทำงานหรือไม่
2.Goal & Passion - ตั้งเป้าหมายและแรงบันดาลใจ คนทำงานต้องมีเป้าหมายที่ใหญ่และระยะเวลาเพื่อไปถึงเป้าหมายนั้นๆ รวมถึงตั้งรางวัลชีวิต ว่าหากเราทำได้ตามเป้า เราจะมอบรางวัลอะไรให้กับตัวเอง
3.Challenge - กำจัดความเบื่อหน่ายด้วยการมองหาสิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจและท้าทาย
4.Learn - เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ เพื่อพัฒนาชีวิต เรียนรู้คนรอบข้าง เพื่อนำสิ่งที่ดีมาปรับใช้
5.Helpful - ช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่าเพื่อกระจายความสุขต่อสังคม
เปลี่ยนจากเบื่อจัง "วันจันทร์" มาเป็นเบื่อจัง"วันศุกร์" อีกแล้ว "ยังทำงานสนุกอยู่เลย"