จังก์ฟู้ด ต้นตอ โรคอ้วน-หัวใจ-มะเร็ง

จังก์ฟู้ด ต้นตอ โรคอ้วน-หัวใจ-มะเร็ง

จังก์ฟู้ด ต้นตอ โรคอ้วน-หัวใจ-มะเร็ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทิม สเปคเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านพันธุกรรมระบาดวิทยาจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทดลองให้ลุกชายอายุ 23 ปี ที่เป็นนักศึกษาทางด้านพันธุศาสตร์ ใช้ชีวิตอยู่ด้วย "อาหารขยะ" เพียงอย่างเดียวเป็นระยะเวลา 10 วัน แล้วพบว่าการรับประทานอาหารขยะเพียงไม่กี่อย่างส่งผลให้จำนวนแบคทีเรียในกระเพาะอาหารที่เป็นปัจจัยในการป้องกันหลายๆ โรค อย่างเช่น โรคอ้วน เบาหวาน มะเร็ง และโรคหัวใจ ลดลงเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้บริโภคอาหารเหล่านั้นเป็นประจำเสี่ยงต่อการเป็นโรคเหล่านี้

ศาสตราจารย์สเปคเตอร์ระบุว่า ภายในกระเพาะและลำไส้ของคนเรามีแบคทีเรียที่แตกต่างกันอยู่มากถึง 3,500 ชนิด ในปริมาณที่มีน้ำหนักรวมกันกว่า 1 กิโลกรัม แบคทีเรียหลายชนิดทำหน้าที่ช่วยในการย่อย ส่วนบางชนิดช่วยให้ร่างกายดูดซึมอาหารได้ดีขึ้น และมีอีกหลายๆ อย่างที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้มีอาการของโรคอ้วน เบาหวาน มะเร็ง โรคหัวใจ โรคอันเกิดจากการอักเสบในช่องท้อง เรื่อยไปจนถึงอาการออทิสติก

ในการทดลอง ศาสตราจารย์ผู้นี้ขอให้ทอม ลูกชาย กินแต่อาหารขยะ ประเภทแฮมเบอร์เกอร์, มันฝรั่งทอดกรอบ, นักเก็ตไก่ และเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม ในทุกมื้ออาหารต่อเนื่องเป็นเวลา 10 วัน จากการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องพบว่า จำนวนแบคทีเรียในลำไส้ของทอม ซึ่งมีแบคทีเรียเฟอร์ไมคิวเตสมากที่สุด ลดลงอย่างรวดเร็ว ในที่สุดก็หายไปราว 1,300 ชนิด หรือราวครึ่งหนึ่งของชนิดของแบคทีเรียในระบบย่อยอาหารของทอมทั้งหมด

ศาสตราจารย์สเปคเตอร์ชี้ว่า ผลจากการทดลองครั้งนี้ ไม่เพียงแสดงให้เห็นว่าแบคทีเรียสำคัญในระบบย่อยอาหารของคนเราอาจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โรคอ้วนระบาดในหลายประเทศ ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าความสมดุลของจุลชีพในระบบย่อยอาหาร หากสูญเสียไปจะส่งผลให้เกิดโรคมากมายตามมาด้วย

ศาสตราจารย์สเปคเตอร์ระบุสาเหตุว่า ในทางหนึ่งแบคทีเรียจำนวนหนึ่งในระบบย่อยอาหารจะทำหน้าที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอันตรายหรือก่อให้เกิดโรคเจริญเติบโต ในขณะที่แบคทีเรียอีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกำกับการย่อยและดูดซึมอาหารของร่างกาย ด้วยการปล่อยเอนไซม์หลายชนิดออกมาทำหน้าที่ร่วมกับวิตามินเอและวิตามินเค เพื่ออำนวยให้ร่างกายสามารถดูดซึมแร่ธาตุที่สำคัญ อย่างเช่นแคลเซียมและเหล็กเข้าสู่ร่างกายได้

ในขณะที่โรคอ้วนซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคจำพวกโรคหัวใจ โรคเบาหวานเพิ่มขึ้นมาก การขาดสมดุลของแบคทีเรียในระบบย่อยอาหารยังส่งผลให้มีโอกาสที่จะมีอาการลำไส้ใหญ่อักเสบและอาการอักเสบในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น และมีหลักฐานที่เชื่อมโยงเช่นกันว่าอาการออทิสซึมเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของแบคทีเรียในลำไส้ตอนล่างของคนเรา

ในกรณีของโรคอ้วนนั้น เคยมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโคโลราโด ในสหรัฐอเมริกา ทดลองถ่ายโอนแบคทีเรียในช่องท้องของผู้ป่วยเป็นโรคอ้วนไปสู่หนูทดลอง พบว่าหนูทดลองเกิดอาการโรคอ้วนตามมาเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์สเปคเตอร์ระบุว่า ชนิดและปริมาณของแบคทีเรียในระบบย่อยอาหารนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ แต่การรับประทานอาหารจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ชนิด เช่น อาหารขยะ ทำลายความแตกต่างดังกล่าวและทำให้โรคอ้วน "ระบาด" ได้

คำแนะของศาสตราจารย์ผู้นี้ก็คือ การลดการบริโภคไขมันและน้ำตาล ยังมีความสำคัญน้อยกว่าการทำให้แน่ใจว่าเรากินอาหารได้หลากหลายและเป็นอาหารที่ได้จากธรรมชาติโดยตรงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ พืชบางอย่าง อาทิ กระเทียม, ต้นหอม และเซเลอรี ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับจุลชีพในลำไส้ เช่นเดียวกับเครื่องดื่มบางอย่าง เช่น เบลเยียมเบียร์ และกาแฟ เป็นต้น

ศาสตราจารย์สเปคเตอร์ระบุว่า คนยุคก่อนกินอาหารหลากหลาย มีส่วนประกอบแตกต่างกันถึง 150 ชนิด ใน 1 สัปดาห์

ในขณะที่อาหารขยะทุกวันนี้เกิดจากส่วนผสมเพียง 4 อย่างเท่านั้น คือ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี และเนื้อเท่านั้นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook