ชาวจีนสุดเหงา! หันเลี้ยงสุนัขควักเงินดูแลไม่อั้น
อุตสาหกรรมธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยงในจีนเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกพนักงานธนาคารในเซี่ยงไฮ้คนหนึ่งที่ได้พูดคุยมาใช้เงินเดือน 1 ใน 5 ต่อเดือนเป็นค่าอาหาร ขนมให้กับสุนัขสัตว์เลี้ยง และยังพาไปอาบน้ำแต่งขนในสุดสัปดาห์ และค่าอาหาร ที่มีต้นทุน 2,000 หยวน หรือราว 320 เหรียญสหรัฐฯต่อเดือน
"ฉันต้องการให้เค้าได้สิ่งที่เยี่ยมที่สุด"Frances Chen สาวแบงก์วัย 26 กล่าวกับรอยเตอร์ โดยปัจจุบันเธออาศัยอยู่กับพ่อแม่
"สุนัขก็เหมือนลูกของเรา จะต่างก็แค่พูดภาษามนุษย์ไม่ได้"
ครั้งหนึ่งที่การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงถูกห้ามโดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ โดยประธานเหมาเจ๋อตุง เพราะเป็นการแสดงสัญลักษณ์ของการเป็นงานอดิเรกของชนชั้นกลาง แต่เมื่อเวลาผ่านไป การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จทางการเงินของจีน
Luisaพุดเดิ้ลวัย6 ปี ที่เพิ่งผ่านการทำสีขนเดินตามหลังเจ้าของที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งเจ้าของบอกว่า ค่าทำสีขนสุนัขของเธออยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐฯ (Photo Reuters)
ยูโรมอนิเตอร์ คาดการณ์ว่าภายในปี 2019 ธุรกิจภาคการดูแลสัตว์เลี้ยงในจีนจะเติบโตระดับไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แซงหน้าตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯที่คาดการณ์อัตราเติบโตปีนี้เพียง 4 เปอร์เซ็นต์
ถือเป็นโอกาสของบริษัทข้ามชาติ อาทิ Mars Inc, Nestle S.A. Procter & Gamble Co. และ Colgate-Palmolive Co. ที่จะเข้ามาเจาะตลาดสัตว์เลี้ยงในประเทศจีนที่ถือว่าใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
สุนัขเป็นสัตว์ยอดนิยมที่ถูกเลี้ยงมากที่สุด เฉพาะการขายอาหารสุนัขเพียงอย่างเดียวคาดว่าในปี 2019 มูลค่าการค้าจะพุ่งถึง 760 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยยูโรมอนิเตอร์แสดงข้อมูลความนิยมดูแลสุนัขแบบหรูหราเพิ่มขึ้น และผู้คนยอมมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นกับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะในหลายเมืองที่พัฒนาแล้วของจีน
ยูโรมอนิเตอร์ยังวิเคราะห์ว่าความเหงาและความเครียดในวิถีชีวิตคนเมืองยังผลักดันให้มีกระแสการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นเฉพาะปีที่แล้วกว่า 30 ล้านครัวเรือน หรือราว 7เปอร์เซ็นต์ของทั่วประเทศจีนที่เลี้ยงสุนัขไว้
แมทเทียส เบอร์นิงเกอร์ หัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศของ Mars Inc มองว่า ยังมีที่เหลือให้กับธุรกิจตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีน เพราะธุรกิจนี้ขยายตัวเกินกว่าที่คาดคิด
"ส่วนแบ่งตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีนยังมีตัวเลขที่ต่ำมาก คนที่เคยไม่เชื่อว่าขนมอย่างช็อคโกแลตจะกลายมาเป็นสิ่งที่คนจีนนิยมบริโภค ก็ต้องถูกปล่อยให้อยู่โดดเดี่ยว เช่นที่ไม่เคยคิดว่าผู้บริโภคชาวจีนจะหลงใหลในการกลายมาเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้"เขาระบุ
ขณะที่สหรัฐฯมีแบรนด์อาหารสัตว์ที่เป็นบริษัทในสหรัฐฯที่มีชื่อเสียง อาทิ Pedigree และ Whiskas แต่ในจีน บริษัท Mars Inc เป็นหัวขบวนในตลาดนี้ของประเทศจีนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโดยมีส่วนแบ่งที่ 2 ใน 3
ส่วนบริษัท Nestle มาเป็นอันดับสอง ที่ส่วนแบ่งราว 16 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยบริษัทของจีน Nory Pet (Shanghai) Co. Ltd ที่มีส่วนแบ่งตลาดเกือบ 7 เปอร์เซ็นต์
"มีความต้องการมากสำหรับตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงจากที่เจ้าของให้สุนัขกินข้าว หรือเนื้อ ก็เปลี่ยนมาให้กินอาหารสัตว์ที่เหมาะสม" Chen Xiuqiang ผู้จัดการฝ่ายขายของ Guangzhou Mudi Trading Co. Ltd บริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายอาหารสัตว์ในจีนกล่าว และว่า ชาวจีนนิยมที่จะซื้ออาหารสัตว์คุณภาพดีให้คู่ควรกับสายพันธุ์สุนัขระดับมีใบเพ็ดดีกรี (ใบรับรองพันธุ์ประวัติ) รวมถึงการซื้อสิ่งของและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงของตน
(Photo Reuters)
"ในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้คนจำนวนมากรู้สึกว้าเหว่และดูแลสัตว์เลี้ยงราวกับคนในครอบครัวเดียวกันดังนั้นพวกเขาจึงยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อสัตว์เลี้ยงพอๆกับที่ใช้จ่ายเงินให้กับพ่อแม่ของเขาเช่นกัน"ZhaoHuanhuan ผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงกล่าว
ขณะที่ธุรกิจถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงในปักกิ่งก็มีการต่อยอดมีการเสนอแพคเก็จให้ลูกค้าตั้งแต่ชุดเสื้อผ้าและการออกแบบสไตลิสต์ให้กับสัตว์เลี้ยงมีราคาตั้งแต่388-8,888 หยวน หรือตั้งแต่63-1,430 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ธุรกิจคอร์สฝึกสุนัขมีค่าใช้จ่ายที่ราว 5,000 หยวนต่อเดือน
หรือบรรดาร้านค้าปลีกแนวหรูหราเกี่ยวเนื่องกับสุนัขสามารถทำรายได้ได้เป็นกอบเป็นกำ อาทิ บริษัทของสหรัฐอเมริกา Chrome Bones ซึ่งเปิดแฟรนไซส์แรกที่เซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว (2557) ระบุว่าสามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ต่อเดือน
แม้กระทั่งแบรนด์ดังเชี่ยวชาญคริสตัลอย่าง Swarovski ก็ถูกสั่งทำปลอกคอคริสตัลให้สัตว์เลี้ยง ที่ราคา 260 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปลอกคอหนังงูราคาจะเริ่มที่ 3,800 เหรียญสหรัฐ งยังรวมไปถึงบรรดาโซฟาหนัง ที่นอน และจานอาหารหรูหราของสุนัขก็เช่นกัน ซึ่งเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นโอกาสที่ดีมากของธุรกิจที่เกี่ยวข้องจากการนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของชาวจีนในเมือง
ขณะเดียวกันในด้านธุรกิจสร้างความผ่อนคลายให้สัตว์เลี้ยงยังกลายมาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ColeZhang เจ้าของร้าน BlueBone ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นจุดที่เป็นแหล่งช้อปปิ้งแหล่งบันเทิงที่เรียกกันว่า The Bundมีธุรกิจให้บริการหรูหราแก่สุนัข และสัตว์เลี้ยง เช่น มีโชเฟอร์ที่จะให้บริการขับรถรับส่งสัตว์เลี้ยงบนรถซุปเปอร์คาร์ทั้งเฟอรารี่ มาเซราติ โดยมีค่าใช้จ่าย 500 หยวนต่อหนึ่งกิโลเมตร ซึ่งเจ้าของร้านบอกว่ามีการจองเข้ามาใช้บริการอยู่บ่อยๆด้วย
"โดยเฉลี่ยแล้วเรามีลูกค้าติดต่อเข้ามามากกว่า100 คน ต่อสัปดาห์ และต้องทำงานล่วงเวลาและในวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะดูแลสุนัขเขาเป็นอย่างดีและยินดีจะใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อดูแลสุนัขของพวกเขา"เจ้าของธุรกิจกล่าวสรุปให้เห็นภาพรวมของความนิยมนี้
อย่างไรก็ตามแม้จะมีความนิยมเลี้ยงสุนัขในเมืองแต่ด้านหนึ่งยังคงมีเทศกาลกินเนื้อสุนัขที่เมืองหยูหลินเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงประเทศจีนซึ่งจัดขึ้นในช่วงหน้าร้อนของทุกปี
ภาพสุนัขที่อยู่ในกรงริมท้องถนนแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งที่อยู่ระหว่างส่งต่อไปยังโรงฆ่าสัตว์ซึ่งเป็นช่วงที่มีเทศกาลกินเนื้อสุนัขและแมวในช่วงฤดูร้อนของทุกปี(PhotoAP)
แปลและเรียบเรียง โดย ประชาชาติฯออนไลน์