6 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการลดน้ำหนัก

6 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการลดน้ำหนัก

6 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการลดน้ำหนัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่อง : เชฟตั้ม ภาพ : ณฐาภพ


ใน ยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีการเคลื่อนไหว และถูกส่งต่อกันอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน ทั้งที่ผ่านทางหน้าจอทีวี ผ่านทางระบบโซเชียลต่างๆ ทำให้บางครั้งเราผู้เป็นฝ่ายรับสารไม่ทันได้หยุดคิด กลั่นกรอง หรือตรวจสอบ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ เพียงเห็นว่ามีการแชร์ต่อๆ กันมาจึงทำให้หลงเชื่อได้โดยง่าย สำหรับคอลัมน์อาหารลดน้ำหนักฉบับนี้ เรามาลองพิจารณากันถึง 6 ความเชื่อที่เกี่ยวกับการลดน้ำหนัก ที่ถูกเผยแพร่ผ่านสายตาในระบบโซเชียลต่างๆ กันครับ

ความเชื่อที่ 1 มะนาวดองแช่อิ่มในน้ำผึ้ง ช่วยทะลายพุง ลดน้ำหนัก และลดไขมันในเส้นเลือดได้

มี การแชร์ความเชื่อนี้อย่างหลากหลายบนโลกออนไลน์ ด้วยการนำผลมะนาวสดมานวดกับเกลือเพื่อกำจัดความขม ฝานเป็นชิ้นบางๆ ใส่ลงในโหลแก้วและดองด้วยน้ำผึ้งแท้ รับประทานเป็นประจำช่วยลดน้ำหนัก ทะลายพุง ลดไขมันในเส้นเลือด และลดไขมันที่เกาะอยู่ตามอวัยวะได้ ถ้าลองทำด้วยความเชื่อที่ว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ทำแล้วสบายใจก็ลองดูนะครับ

แต่ตามหลักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับกลไกการลดน้ำหนักแนะนำไว้เพียงว่าให้ ฝานมะนาว หรือบีบน้ำมะนาวสัก 1 ช้อนชากับน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา ชงกับน้ำอุ่นๆ ผสมแล้วดื่มหลังตื่นนอนทันทีขณะท้องว่างเพื่อช่วยในการดีท็อกซ์ หรือดื่มหลังอาหารมื้อที่มีไขมันสูง เพื่อช่วยในระบบการย่อยอาหาร หรือชงดื่มระหว่างมื้ออาหารเพื่อช่วยผ่อนคลายความหิวได้ ซึ่งถือเป็นตัวช่วยเล็กๆ ในการลดน้ำหนักเท่านั้น

ความเชื่อที่ 2 การงดรับประทานอาหารเช้าช่วยลดน้ำหนัก ลดพุงได้

หลักการง่ายๆ ของการลดน้ำหนักก็คือ การลดพลังงานที่ได้รับต่อวัน แล้วจะลดมื้อไหนดีจึงจะง่ายต่อชีวิตประจำวันที่สุด คำตอบก็คือ มื้อเช้านั่นเอง บางคนก็เลือกที่จะงดรับประทานมื้อเที่ยง อันที่จริงแล้วอาหารทุกมื้อมีความจำเป็นต่อช่วงการลดน้ำหนักและจำเป็นมากๆ ต่อชีวิตประจำวันของเรา ไหนจะต้องเดินทาง ไหนจะต้องทำงาน จะมาอดมื้อเช้า หิวมื้อเที่ยง โหยมื้อเย็น จัดเต็มมื้อดึก หมดไปอีกหนึ่งวัน พรุ่งนี้ค่อยเริ่มลดใหม่ไม่ไหวนะครับ

ลดน้ำหนักทั้งทีต้องลดด้วยสมอง ตามหลักวิทยาศาสตร์ การอดอาหารช่วงแรก ๆ ช่วยให้น้ำหนักลดได้แน่นอน แต่เป็นระยะแรกเท่านั้น สิ่งที่ตามมาระยะยาวคือ อัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกายก็ลดลง เนื่องจากร่างกายปรับสมดุล เรียนรู้ว่าร่างกายเราใช้พลังงานน้อยลง พอวันใดวันหนึ่งกลับมารับประทานอาหารเหมือนเดิมก็จะเกิดภาวะคุ้นหูที่เรียก ว่าโยโย่เอฟเฟ็กต์สปริงน้ำหนักที่เคยลดลงมาแบบทบต้นทบดอก กลับขึ้นไปหนักกว่าเดิม

ความเชื่อที่ 3 รับประทานเนื้อสัตว์ไม่ทำให้อ้วน เนื่องจากเป็นอาหารกลุ่มโปรตีน

โดยปกติแล้ว สารอาหารกลุ่มโปรตีนให้พลังงาน 4 Kcal ต่อน้ำหนัก 1 กรัมคาร์โบไฮเดรตให้พลังงาน 4 Kcal ต่อน้ำหนัก 1 กรัม และไขมันให้พลังงาน 9 Kcalต่อน้ำหนัก 1กรัม ซึ่งพลังงานจากไขมันคิดเป็นสองเท่าของพลังงานที่ได้จากโปรตีน และคาร์โบไฮเดรต เนื้อสัตว์ไม่ได้ให้พลังงานแค่ 4 Kcal ต่อน้ำหนัก 1 กรัมเนื่องจากเนื้อสัตว์ไม่ใช่ก้อนโปรตีนในเนื้อสัตว์มีชั้นไขมันแทรกอยู่

ดังนั้นถ้าใครลดน้ำหนักและรับประทานเนื้อลายหินอ่อนย่างเพื่อเพิ่มโปรตีน เป็นความเชื่อที่ผิดแหล่งของอาหารโปรตีน ที่เราควรรับประทานในช่วงของการลดน้ำหนักควรมีปริมาณไขมันต่ำ โปรตีนสูง ยกตัวอย่าง เช่น เนื้ออกไก่ต้ม นมไร้ไขมัน หรือไข่ขาวต้ม เป็นต้น

ความเชื่อที่ 4 ดื่มน้ำมากๆไม่ได้ช่วยให้น้ำหนักลดลงได้

เพื่อ สุขภาพที่ดี มนุษย์เราควรดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว (แก้วละ 200 มิลลิลิตร) จริงๆ แล้วการดื่มน้ำเปล่านั้นไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับการลดน้ำหนัก แต่ในทางอ้อมถ้าเราดื่มน้ำเปล่าปริมาณมากพอในแต่ละวัน จะทำให้ความอยากที่จะดื่มเครื่องดื่มอื่นๆ ที่ให้พลังงานสูงในระหว่างวันลดลงไปด้วย

แต่ถ้าใครไม่ชอบรสจืดสนิทของน้ำเปล่า ลองฝานมะนาวและเด็ดใบสะระแหน่สดลงผสมกับน้ำและน้ำแข็ง เติมน้ำโซดาสักนิดเพิ่มความซ่าให้กับชีวิต ใช้จิบแทนน้ำอัดลม ช่วยลดพลังงานจากน้ำตาลที่ปกติได้รับจากน้ำอัดลมได้มากโขเลยทีเดียว

ความเชื่อที่ 5 รับประทานเร็ว-ช้ามีค่าเท่ากัน ความเร็วในการรับประทานไม่ได้ส่งผลต่อการลดน้ำหนัก

การรับประทานอาหารให้ช้าลง รวมถึงการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดขึ้น ทำให้เราใช้เวลาในการรับประทานอาหารนานขึ้น การเคี้ยวและการรับประทานช้าๆ จะช่วยกระตุ้นและส่งสัญญาณไปยังสมองส่วนกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมความหิวความอิ่ม บางครั้งอาหารยังเหลืออยู่ในจาน แต่เรารู้สึกอิ่มแล้วจากการเคี้ยวนานและรับประทานช้า วิธีนี้ยังช่วยให้ระบบการย่อยอาหารของเราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย

ความเชื่อที่ 6 ในช่วงของการลดน้ำหนัก ไม่ควรนับพลังงานที่ได้รับจากอาหาร

เป็นความเชื่อที่ไม่ควรจะเชื่อเลยจริงๆ สำหรับผู้ที่เริ่มต้นเรียนรู้ว่าอาหารแต่ละชนิดให้พลังงานมากน้อยแค่ไหนเป็นสิ่งสำคัญ แต่สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายและดูแลสุขภาพของตนเองเปน็ ประจำจะทราบดีอยู่แล้วว่าอาหารใดที่ตนเองควรรับประทานและอาหารใดที่ควรหลีกเลี่ยง ดังนั้นสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี ให้ลองเริ่มจากการหาค่า BMR(Basal Metabolism Rate) เป็นค่าพลังงานที่ร่างกายต้องการขณะพัก หรือขณะที่ไม่ได้มีกิจกรรมใดๆ จากสมการ BMR (kcal) = น้ำหนัก (กิโลกรัม) x 0.9x 24 เมื่อได้ค่า BMR มาแล้วให้ทำการบวกเพิ่มไปอีกประมาณ 300-400 Kcal เป็นค่า เผื่อพลังงานที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ก็จะได้จำนวนพลังงานที่ควรได้รับจากอาหารต่อวัน

ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นช่วยนับพลังงานที่ได้จากอาหาร สามารถโหลดได้ฟรี ยกตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่าCalorie Counter and Diet Tracker by Calorie Count ซึ่งช่วยบอกแคลอรีจากอาหารและมีรูปแบบที่สวยงามใช้งานง่าย หรืออีกสองแอพพลิเคชั่นของไทยชื่อว่า“จด Calorie” และ “แคลอรี ไดอารี่” ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นภาษาไทย ใช้งานง่ายและมีค่าพลังงานจากอาหารเมนูไทยๆ ที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้การนับค่าพลังงานไม่ได้ช่วยให้การลดน้ำหนักเห็นได้ชัดมากนัก แต่ต้องผสมผสานกับการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อร่วมกันด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook