คุณแม่ต้องรู้! เทคนิคจัดการน้ำนมแม่ ให้ลูกน้อยอิ่มหนำสำราญ

คุณแม่ต้องรู้! เทคนิคจัดการน้ำนมแม่ ให้ลูกน้อยอิ่มหนำสำราญ

คุณแม่ต้องรู้! เทคนิคจัดการน้ำนมแม่ ให้ลูกน้อยอิ่มหนำสำราญ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นมแม่ สุดยอดอาหารจากอกแม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก สำหรับคุณแม่มือใหม่หลายคนที่ยังกังวลเกี่ยวกับการให้นมบุตร บางคนกลัวน้ำนมน้อยไม่พอให้ลูกดื่มกิน บางคนไม่รู้วิธีการกระตุ้นน้ำนม บางคนเจอเหตุการณ์ลูกปฏิเสธเต้านม และอีกหลายเหตุการณ์ที่ทำให้คุณแม่มือใหม่หมดกำลังใจในการให้นมลูก

พ.ญ.วิมล เสกธีระ กุมารแพทย์ กุมารเวชศาตร์ด้านทารกแรกเกิด-ปริกำเนิด โรงพยาบาลเวชธานี แนะนำเทคนิคดีๆ เกี่ยวกับการจัดการน้ำนมแม่ให้ลูกน้อยได้ดื่มกินอย่างอิ่มหนำสำราญมาฝากกัน

กรณีที่น้ำนมน้อยสามารถกระตุ้นได้โดยการผลิตน้ำนมของแม่เป็นกระบวนการอุปสงค์อุปทาน ถ้าลูกดูดเยอะ ดูดบ่อย น้ำนมก็จะผลิตเยอะ แต่ถ้าลูกดูดน้อย น้ำนมก็ผลิตน้อย ทำให้คุณแม่อาจเข้าใจผิดคิดว่าที่น้ำนมไม่ค่อยออกเพราะมีน้ำนมน้อย พอน้ำนมน้อยก็ไม่ยอมให้ลูกดูด แล้วน้ำนมก็จะแห้งไปในที่สุด เมื่อไม่มีการดูดกระตุ้น น้ำนมก็ไม่ผลิต ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติ

วิธีการกระตุ้นน้ำนมที่ดีที่สุด คือการใช้เทคนิค ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดนาน ดังนี้

ดูดเร็ว คือ เมื่อลูกคลอดออกมาภายใน 15 - 30 นาที ควรให้ลูกดูดนมเลย เพื่อกระตุ้นน้ำนมครั้งแรก

ดูดบ่อย คือ ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ วันละ 8 -12 ครั้ง หรือตามที่ลูกต้องการ ถ้าลูกร้องงอแง หรือหิวก็ให้ดูดทันที

ดูดนาน คือในแต่ละครั้งที่ลูกดูดนมให้ดูดนานๆ ประมาณข้างละ 15 นาที หรือดูดจนกว่าลูกจะเลิกดูดไปเอง แต่ละข้างไม่ควรเกิน 30 นาที ควรสลับเต้าซ้าย - ขวา

คุณหมอกล่าวอีกว่าจะ รู้ได้อย่างไรว่าน้ำนมเพียงพอต่อความต้องการของลูก ซึ่งคุณแม่อาจกังวลว่าลูกต้องการกินนมมากเท่าไหร่ กินอิ่มหรือยัง จึงให้นมตลอดเวลาแม้ลูกอิ่มแล้ว พอถึงเวลาให้นมก็ปลุกขึ้นมาดูด ซึ่งทำให้ลูกอารมณ์หงุดหงิด ร้องไห้งอแง คุณแม่สามารถสังเกตว่าลูกอิ่มแล้วได้โดย ลูกจะนอนหลับง่าย หลับสบาย ไม่ร้องกวนงอแง อึบ่อย ฉี่บ่อย น้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์

ทั้งนี้ ก่อนให้ลูกดูดนมจะมีอาการคัดเต้านม แต่พอลูกดูดเสร็จเต้านมจะนิ่ม ขณะที่ลูกดูดนม เต้านมอีกข้างหนึ่งจะมีน้ำนมไหลซึมออกมา ถือเป็นกลไกที่บอกว่าเรามีน้ำนมเพียงพอให้ลูก

หากบางครั้งน้ำนมน้อย ไม่ค่อยไหล การบีบน้ำนมด้วยมือจะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมไหลได้ โดยล้างมือให้สะอาด และอยู่ในภาวะที่สบาย ผ่อนคลาย และจัดท่านั่งให้อยู่ในท่าที่สบาย อยู่ในห้องที่เป็นส่วนตัว มิดชิด จะช่วยให้คุณแม่ไม่รู้สึกอายที่จะบีบ และถ้ามีลูกอยู่ด้วยจะยิ่งดีเพราะการที่แม่ได้โอบกอดลูก เป็นการกระตุ้นให้คุณแม่มีความสุข มีผลให้น้ำนมไหลดีขึ้น

โดยใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้กดลงไปบริเวณลานหัวนม ห่างจากหัวนมประมาณ 3 เซนติเมตร ให้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้อยู่ตรงกันข้ามกัน แล้วกดเข้าหาตัวเบาๆ กดแล้วบีบให้เป็นจังหวะ เหมือนเป็นการรีดน้ำนมจากบริเวณท่อน้ำนมให้ไหลออกมาตรงปลายสุด อีกมือหนึ่งใช้ประคองเต้าไว้ด้านล่าง เพราะเต้านมมีขนาดขยายใหญ่ มีน้ำหนัก ต้องช่วยประคองไว้

เมื่อบีบจนรู้สึกว่ามุมนี้ไม่มีน้ำนมออกแล้ว ให้ขยับเปลี่ยนมุม โดยหมุนนิ้วชี้และนิ้วโป้งไปยังมุมอื่นๆ ตามขอบลานหัวนม จนไม่มีน้ำนมออกมาแล้วก็ให้พอ ควรใช้เวลาบีบน้ำนมไม่เกิน 30 นาที เพื่อลดอาการเมื่อยล้า

สำหรับคุณแม่ที่มีน้ำนมน้อย การนวดเต้านมอาจช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้นได้ โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบทิ้งไว้ 3-5 นาที ใช้นิ้วมือ 3 นิ้ว ค่อยๆ คลึงเบาๆ ที่เต้านม โดยคลึงเป็นวงกลมจากบริเวณฐานเต้านมไปถึงตรงปลายใกล้หัวนม นวดคลึงเบาๆ จะช่วยให้น้ำนมไหลออกมาได้ง่ายขึ้น

ส่วนคุณแม่ที่มีน้ำนมเยอะ อาจคัดตึงเต้านมได้ ดังนั้น ก่อนให้นมควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบไว้ 3-5 นาที แล้วนวดคลึงเบาๆ ก่อนบีบน้ำนมออก จะช่วยให้รู้สึกสบาย น้ำนมไหลกระจายดี บีบออกมาได้เยอะขึ้น

ทั้งนี้ อาการคัดเต้านม เกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งมีสาเหตุมาจากลูกดูดนมไม่ถูกวิธี เช่น ลูกอ้าปากไม่กว้าง งับไม่ถึงลานนม ทำให้น้ำนมไม่ออก พอน้ำนมไม่ออก เมื่อมีการผลิตออกมาใหม่ แต่ของเดิมยังคงมีอยู่ก็ทำให้คัดตึงเต้านมได้ นอกจากนี้คุณแม่บางคนเคร่งครัดต่อการกำหนดเวลาในการให้นมมากเกินไป เช่น ต้องให้ลูกกินเป็นเวลาทุก 3 ชั่วโมง แม้ลูกจะหิวแต่ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็ไม่ให้ ซึ่งอาจเป็นเวลาที่น้ำนมมีการผลิต พอไม่ได้มีการดูดออก จึงเกิดคัดตึงเต้านมขึ้น

"การให้นมต้องให้ตามความต้องการของลูก ลูกอยากกินตอนไหนก็ให้ตอนนั้น การปล่อยให้ลูกหิวจัดอาจทำให้ลูกไม่มีแรงดูด พอจะให้ดูดกลายเป็นว่าลูกไม่ยอมดูด เกิดการปฏิเสธเต้า ไม่ยอมดูดนมได้ ในช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรให้ลูกกินนมตามที่ลูกต้องการ อย่ากังวลเรื่องวินัยในการกิน ควรฝึกเรื่องนี้หลัง 6 เดือนไปแล้ว หรือเมื่อลูกเริ่มกินอาหารเสริม"

คุณแม่ที่น้ำนมเยอะอาจทำให้เวลาที่ลูกดูดแล้วกลืนไม่ทันหรือน้ำนมพุ่งลงไปที่คอหอย ทำให้เกิดการสำลักได้ สัญญาณบอกว่าคุณแม่มีน้ำนมเยอะ ดูได้จากการดูดนมของลูก ว่าลูกดูดนมทันหรือไม่ ดังนี้ ดิ้นทุรนทุรายระหว่างดูดนม เพราะอาจจะดูดและกลืนไม่ทัน เกิดการสำลักได้

และหลังจากลูกดูดนมเสร็จแล้ว ให้สังเกตที่หัวนม ถ้ามีสีซีดขาว หัวนมเป็นรอยพับ แสดงว่าน้ำนมเยอะ ทำให้ลูกเอาลิ้นดันไว้ เพราะกลืนไม่ทัน ดังนั้นถ้าน้ำนมเยอะคุณแม่ควรบีบเก็บเป็นสต็อกไว้ หรือปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกกิน เพื่อให้น้ำนมเหลืออยู่ในเต้าไม่เยอะเกินไป ป้องกันการสำลักนมแม่ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook