ปกติเราไม่ได้เป็นแบบนี้นะ สงสัยประจำเดือนใกล้จะมาน่ะ

ปกติเราไม่ได้เป็นแบบนี้นะ สงสัยประจำเดือนใกล้จะมาน่ะ

ปกติเราไม่ได้เป็นแบบนี้นะ สงสัยประจำเดือนใกล้จะมาน่ะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ โดย พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล doctorpin111@gmail.com
ปกติเราไม่ได้เป็นแบบนี้นะ สงสัยประจำเดือนใกล้จะมาน่ะ
คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ
พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล
email:doctorpin111@gmail.com

สวัสดีค่ะ เคยไหมคะ เวลาที่เราอารมณ์ไม่ดี เหวี่ยงวีนหรือกินอย่างบ้าคลั่ง พอเราได้สติ เราก็จะปลอบใจตัวเองเบาๆ หรือหันไปแก้ตัวกับคนรอบข้าง พร้อมกับยิ้มอ่อนๆ ว่า "ปกติเราก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ สงสัยประจำเดือนเราใกล้จะมาน่ะ"

ในเมื่อโทษอะไรไม่ได้ ก็หันไปโทษฮอร์โมนไว้ก่อนน่ะค่ะ วันนี้เราจะมาคุยกันในหัวข้อ กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนหรือ Premenstrual Syndrome กันนะคะ ขอเรียกชื่อเล่นว่า PMS ละกันนะคะว่าเราจะรู้ได้ยังไงว่ามันคือ PMS จริงๆ หรือเป็นข้ออ้างกันแน่

PMS คือกลุ่มอาการที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและอารมณ์ของคุณผู้หญิง ก่อนที่ประจำเดือนจะมา

บางคนเป็นนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ไม่เป็นไร ถ้าเป็นมากเข้า อาจส่งผลกระทบต่อชีวิต การงานหน้าที่ หรือความสัมพันธ์ในครอบครัวกันเลยทีเดียว ซึ่งกรณีนี้ควรได้รับการรักษาด้วยยาค่ะ

-อารมณ์เปลี่ยนที่ว่า ที่พบบ่อยคืออาการซึมเศร้า กังวลใจ บางคนก็ร้องไห้ง่าย หงุดหงิด ไม่อยากเข้าสังคม ไม่อยากออกสื่อ สมาธิน้อยลง นอนไม่หลับความต้องการทางเพศเปลี่ยนแปลง

- ส่วนทางกาย อาจมีอาการอยากกินนู่นกินนี่ หรือกินมากผิดปกติ หิวน้ำบ่อยเจ็บเต้านม ตัวบวม มือเท้าบวม น้ำหนักขึ้นปวดศีรษะ ปวดตามตัว อ่อนเพลีย ปวดท้อง บางคนมีผื่นขึ้นผิวหนัง

แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าอารมณ์ที่เกิด เป็น PMS (ไม่ใช่นิสัยส่วนตัว หรือเป็นภาวะซึมเศร้าทั่วไป)

PMS จะมีอาการ "ภายใน 5 วัน" ก่อนประจำเดือนจะมาค่ะ อย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน และอาการจะสิ้นสุดลงภายใน 4 วันหลังจากประจำเดือนมาวันแรก และอาการเหล่านั้นรบกวนชีวิตประจำวันของคุณ

ถ้าหงุดหงิดทั้งเดือน ซึมเศร้าทั้งเดือน หรือกินจุทั้งเดือน อย่าไปโทษ PMS นะคะ เพราะน่าจะเกิดจากสาเหตุอื่นมากกว่าถ้าเราสงสัยว่าเราจะเป็น PMS รึเปล่า ให้ลองจดอาการที่มีลงในแต่ละวันดูค่ะ ควบคู่ไปกับการจดประจำเดือน อย่างน้อย 3 เดือนนะคะ อาการ PMS ถ้าเป็นไม่มาก ไม่ได้กระทบการงานหรือครอบครัวมาก การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน อย่างการออกกำลังกายและการทานอาหารก็สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ค่ะ

- การออกกำลังที่ว่า คือการออกกำลังแบบแอโรบิก (ไม่ได้หมายถึงการเต้นแอโรบิกอย่างเดียว) การเดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ถือเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิกเช่นกัน เพราะเป็นการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการทำงานของปอด ควรออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ออกกำลังเฉพาะวันที่มีอาการ PMS

- การฝึกการผ่อนคลาย อย่างการฝึกลมหายใจ การนั่งสมาธิ การเล่นโยคะ สามารถช่วยบรรเทาอาการ PMS ได้ค่ะ ที่สำคัญคือ คุณผู้หญิงควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอด้วยนะคะ

- อาหาร ควรทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน อย่างข้าวหรือแป้งที่ไม่ขัดสี ถั่ว ธัญพืช ผลิตภัณฑ์โฮลวีต โฮลเกรนทั้งหลาย ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน น้ำตาล และลดกาแฟ แอลกอฮอล์ด้วยค่ะ

- ควรทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม อย่างนม โยเกิร์ต ผักใบเขียว

- ยาบางชนิดสามารถลดอาการ PMS ได้เช่นกันค่ะ เช่น ยาคุมกำเนิด ถ้าอาการ PMS รุนแรง หรือมากถึงขั้นกระทบชีวิตประจำวัน การงานหรือครอบครัว ควรปรึกษาแพทย์ เพราะกรณีนั้น ควรรักษาด้วยยาค่ะ

PMS พบได้ทั่วไปในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์นะคะ เป็นมากหรือเป็นน้อย ควบคุมได้ หรือควบคุมไม่ได้

แต่ถ้าเราเองควบคุมไม่ได้ อย่าลืมปรึกษาคุณหมอกันนะคะ สวัสดีค่ะ

 

อ้างอิงจาก acog.org

ขอบคุณภาพประกอบ : http://www.istockphoto.com/

อัพเดทเรื่องราวมากมายที่ผู้หญิงห้ามพลาดได้ที่ อินสตาแกรม :  sanookwomen

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook