ล้วงลึก ′พฤติกรรมคนทำศัลยกรรม′

ล้วงลึก ′พฤติกรรมคนทำศัลยกรรม′

ล้วงลึก ′พฤติกรรมคนทำศัลยกรรม′
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     "ศัลยกรรมความงาม" ยังคงเป็นเทรนด์ฮอตฮิตที่แรงต่อเนื่องไม่มีวันหยุด โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ เรื่องของศัลยกรรมทุกจุดบนร่างกาย กระหน่ำโปรโมตกันจนตามอ่านตามดูกันแทบไม่ทัน...อิทธิพลจากสื่อต่างๆ และสื่อออนไลน์ที่มากมายขณะนี้ เชื่อหรือไม่ว่า ได้กลายเป็นข้อมูล ข่าวสารที่หล่อหลอมให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตได้อย่างไม่น่าเชื่อ!! 

นายแพทย์ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย และศัลยแพทย์ผู้คร่ำหวอดในวงการศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าได้ลิสต์พฤติกรรมของผู้บริโภค

มองศัลยแพทย์เหมือนช่างเสริมสวยใน "บิวตี้ซาลอน"
        พฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าการพบศัลยแพทย์เพื่อทำศัลยกรรมความงามนั้นก็เหมือนๆ กับการเดินเข้าร้านเสริมสวย อยากจะตัดผมทรงไหน ทำสี หรือดัดผม ก็แค่มีภาพศิลปินดาราที่ชื่นชอบติดกระเป๋ามาก็สวยได้แล้ว ซึ่งในความจริง "ศัลยกรรมความงาม" นั้นไม่ใช่การก็อบปี้รูปหน้า ตา ปาก จมูกของใครๆ มาวางไว้บนใบหน้าของตนเองได้ เพราะโครงสร้างใบหน้าของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
        หากไม่ศึกษาข้อมูลก่อนการทำศัลยกรรมย่อมเกิดผลกระทบขึ้นได้ เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ไม่ใช่แค่การตัดผมสั้นเกินไปแล้วแก้ปัญหาด้วยการต่อผมให้ยาวขึ้น แต่การทำศัลยกรรมความงามถ้าพลาดแล้วแก้ไขยาก

พฤติกรรม "คลั่ง" โฆษณา
       "เสริมจมูกสไตล์เกาหลี หน้าเรียววีเชฟ ศัลยกรรมตาเจ็บน้อย หายไว ศัลยกรรมหน้าสวยเหมือนดารา" สารพัดข้อความโฆษณาชวนเชื่อบนสื่อออนไลน์จูงใจหนุ่มสาวที่อยากดูดีด้วยมีดหมอ สื่อออนไลน์จึงถูกใช้เป็นช่องทางในการโหมกระแสสวยด้วยศัลยกรรม เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายไม่สูง เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และสื่อสารได้แบบ two way แต่ในประเทศไทยยังขาดการกวดขันและควบคุมที่จริงจัง สื่อออนไลน์จึงถูกใช้เป็นช่องทางมอมเมาผู้บริโภคมากที่สุด หากผู้บริโภคไม่ตั้งสติในการเสพข่าวสาร ผลกระทบที่ตามมาย่อมตกกับตัวผู้บริโภคเอง
เสพติด "มีดหมอ"
        พฤติกรรม "เสพติดศัลยกรรม" หลายคนอยากสวยด้วยมีดหมอจนไม่รู้จักความพอดี ซึ่งต้นเหตุมาจากการเสพติดความสวย อย่างที่เราเห็นคนดังหลายคนหน้าพังจนจดจำเค้าหน้าเดิมไม่ได้ ขณะที่คนไข้บางคนอาจมีความเครียดสะสม วิตกกังวล ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า Body Dysmorphic Disorder โรควิตกกังวลไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง คนที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะไม่ไปพบจิตแพทย์ เพราะเขาไม่คิดว่ามันผิดปกติที่จิตใจ แต่จะเลือกพบศัลยแพทย์ เพราะคิดว่าผิดปกติที่หน้าตา 

         นายแพทย์ชลธิศกล่าวเพิ่มเติมว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มองว่าการศัลยกรรมเป็นเรื่องง่าย จึงทำให้ตัดสินใจทำศัลยกรรมโดยขาดการศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ตลาดศัลยกรรมความงามในประเทศไทยเติบโตสูงมาก แต่สิ่งที่สวนทางคือ การพัฒนาคุณภาพด้านการรักษาของแพทย์ แพทย์ที่มีประสบการณ์ มีชั่วโมงบินสูงน้อยลง จึงเกิดเคสที่ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อจากความผิดพลาดหลังเข้ารับการทำศัลยกรรมความงามขึ้นมากมาย
        บางรายโชคร้ายถึงขั้นเสียชีวิต ขณะที่บางรายที่รอดชีวิตแต่ต้องทนเจ็บปวดและรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำศัลยกรรมที่ผิดพลาด เมื่อก่อนมีการฟ้องร้องเป็นเรื่องราวใหญ่โต แต่ปัจจุบันเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นทุกวัน มีเคสใหญ่ๆ มาให้แพทย์แก้ไขเยอะ จนกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว


      นอกจากนี้ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทยยังไม่สามารถเยียวยาให้เหยื่อได้รับการชดเชย อย่างเหมาะสมทั้งด้านจิตใจและตัวเงินและบทลงโทษแพทย์และผู้ที่มีส่วนเกี่ยว ข้องก็ยังไม่รุนแรงพอ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ทางด้านกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทนาย อัยการ ก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินคดีในด้านนี้อย่างดีพอ ส่วนกฎหมายของแพทยสภานั้นก็ยังลงไปไม่ถึงเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ จึงทำให้กลายเป็นปัญหาที่เรื้อรังในสังคม"

      นายแพทย์ชลธิศกล่าวสรุปว่า สิ่งสำคัญจึงควรเร่งวางรากฐานความรู้ให้กับแพทย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพด้านการรักษาและให้บริการ รองรับการเติบโตของตลาดศัลยกรรมความงาม โดยขณะนี้ทางสมาคมฯกำลังร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดสัมมนาให้ความรู้กับแพทย์ไทยอย่างจริงจัง รวมทั้งเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาถ่ายทอดให้ความรู้กับแพทย์ไทยอีกด้วย สำหรับแพทย์ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลได้ที่ www.paafprs2015bangkok.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook