พัฒนาการสมองของลูกน้อยในครรภ์
สมองคืออวัยวะสำคัญอวัยวะหนึ่งที่มีการพัฒนาและเจริญเติบโตเป็นอันดับต้นๆ เพราะสมองมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการเคลื่อนไหวต่างๆ ของอวัยะอื่นๆ ที่กำลังจะพัฒนาขึ้นในไม่ช้า มาดูกันดีกว่าว่าตลอดการตั้งครรภ์ ลูกน้อยของเรามีพัฒนาการสำคัญๆ อย่างไรบ้าง
หลังปฏิสนธิ 16 วัน
แผ่นประสาท (Neural Plate) เจริญเติบโตขึ้นเพื่อพัฒนาไปเป็นระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย จัดเป็นโครงสร้างประสาทที่ใหญ่ที่สุด
หลังปฏิสนธิ 22 วัน
จากแผ่นประสาทพัฒนาเป็นหลอดประสาท (Neural Tube) ซึ่งต่อมาจะพัฒนาเป็นสมองและไขสันหลังต่อไป
สัปดาห์ที่ 6-7
เมื่อหลอดประสาทปิดสนิทแล้ว จะค่อยๆ พองออกและเจริญเติบโตกลายเป็นสมอง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ สมองส่วนหน้า สมองส่วนกลาง และสมองส่วนหลัง จากนี้สมองยังคงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ศีรษะมีขนาดใหญ่กว่าลำตัว
สัปดาห์ที่ 8
ความยาวของลูกน้อยประมาณ 4 เซ็นติเมตรแล้ว และแขนขาเริ่มงอก เซลล์ประสาทหลายล้านเซลล์ก็ถูกสร้างขึ้นและเชื่อมต่อกัน เพื่อเตรียมตัวให้ลูกน้อยเคลื่อนไหวร่างกาย
สัปดาห์ที่ 12
เริ่มมีการสร้างกระดูก ส่วนนิ้วมือและนิ้วเท้าเป็นรูปร่างอย่างชัดเจน ผิวหนัง เล็บ และกะเปาะผมก็ปรากฏให้เห็น ส่วนอวัยวะเพศพอจะมองออกแล้วว่าเป็นเด็กหญิงหรือชาย และเริ่มขยับร่างกายได้บ้างแล้ว
สัปดาห์ที่ 14
มองเห็นแล้วนะ ว่าลูกเพศอะไร
สัปดาห์ที่ 16 -18
ลูกน้อยยาวประมาณ 12 เซ็นติเมตร หนัก 110 กรัม ดวงตาของลูกเริ่มเคลื่อนไหวได้แล้วจากการทำงานของสมองส่วนกลางที่เจริญเติบโตมากขึ้น ลูกน้อยจะมีปฏิกิริยารีเฟลกซ์ต่างๆ เช่น การดูดและกลืน ซึ่งการเกิดปฏิกิริยาเหล่านี้จะพัฒนาไปพร้อมๆ กับการเจริญเติบโตของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ ปลอกประสาทที่ชื่อว่าไมอีลินก็พัฒนาขึ้น ช่วยให้เซลล์ประสาทแต่ละเซลล์ส่งข้อมูลกันได้เร็วขึ้น
สัปดาห์ที่ 20
เข้าสู่ครึ่งทางของการตั้งครรภ์แล้ว ลูกน้อยมีน้ำหนักถึง 300 กรัมแล้ว ตอนนี้เขาจะเริ่มดิ้นบ่อย ทุกๆ 1 นาที ผิวหนังของลูกเริ่มหนาขึ้น โปร่งแสงน้อยลง ขนอ่อนๆ ขึ้นปกคลุมทั่วร่างกาย ในสัปดาห์ที่ 22-25 หูชั้นในของลูกจะเริ่มพัฒนาขึ้น และจะพัฒนาสมบูรณ์เมื่อ 6 เดือนหลังคลอด
สัปดาห์ที่ 24
น้ำหนักของลูกน้อยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สัปดาห์นี้จะหนักประมาณ 630 กรัม ผิวหนังเหี่ยวย่น มองเห็นคิ้วและขนตา ชั้นไขมันเพิ่งเริ่มสะสม ตอนนี้เจ้าตัวน้อยได้ยินเสียงจากภายนอกท้องคุณแม่ได้แล้วนะ แถมกะพริบตาได้ด้วย
สัปดาห์ที่ 26
ระบบรับรู้ความรู้สึกเริ่มพัฒนาขึ้นและเชื่อมต่อกับเซลล์สมอง โดยเฉพาะระบบประสาทที่เกี่ยวกับความเจ็บปวด ตอนนี้หนูน้อยรู้สึกเจ็บเป็นแล้ว
สัปดาห์ที่ 28
ลูกน้อยจะมีพฤติกรรมคล้ายๆ ทารกแรกเกิด เช่น นอนหลับเป็นเวลา ดูดนิ้ว ยืดเหยียดตัว หันไปตามเสียงที่ได้ยิน มองเห็นแสงที่ผ่านเข้ามาในท้องแม่ กะพริบตา เป็นต้น ส่วนสมองและระบบประสาทก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการเก็บข้อมูล แปรผล จากการมองเห็น ได้ยิน ความรู้สึก เพื่อใช้ประโยชน์หลังคลอด
สัปดาห์ที่ 30
สมองของลูกจะมีรอยหยักย่น เพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับบรรจุเซลล์สมองให้มาก การมีเซลล์สมองมากจะทำให้สมองมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สัปดาห์ที่ 32-36
เซลล์สมองของลูกเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการแบ่งกลุ่มเพื่อไปทำหน้าที่ที่ซับซ้อนและเจาะจงมากขึ้น เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 36 ผิวของลูกน้อยจะไม่เหี่ยวย่นแล้ว เพราะสร้างชั้นไขมันจนเต็ม
สัปดาห์ที่ 40
พัฒนาการลูกน้อยสมบูรณ์ครบ พร้อมคลอดแล้ว ตอนนี้น้ำหนักประมาณ 3,400 กรัม สำหรับสมองของลูกน้อยจะยังคงพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เซลล์ประสาทจะแตกกิ่งก้านสาขาไปจนถึง 2 ขวบ และหลังจากนั้นจึงจะลดการสร้างเซลล์ลงไปเรื่อยๆ และหยุดในที่สุด
อาหารเพื่อสมองของลูกน้อย
สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สมองของลูกน้อยมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี และคุณแม่สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
- กินวิตามินบำรุงครรภ์ ซึ่งก็คือ โฟลิค วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินดี และธาตุเหล็ก ซึ่งวิตามินเหล่านี้คุณหมอมักจะจัดมาให้คุณแม่กินอยู่แล้ว สำคัญคือต้องกินตามที่คุณหมอแนะนำและห้ามขาด
- กินโอเมก้า-3 เพราะเป็นสารอาหารสำคัญในการเสริมสร้างสมอง
- ระมัดระวังสารปรอทจากปลาน้ำลึก ควรเลือกกินปลาที่มีสารปรอทต่ำ เช่น แซลมอน กุ้ง และควรกินแค่อาทิตย์ละ 2 มื้อ
- กินผักและผลไม้สม่ำเสมอ เพราะในผักและผลไม้มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องเนื้อเยื่อสมองจากการถูกทำลาย
- งดแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้พัฒนาการลูกช้า
- กินโปรตีนอย่างเพียงพอ เพื่อนำไปสร้างเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย
พญ. ณัฐฐิณี ศรีสันติโรจน์
สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
โรงพยาบาลราชวิถี และที่ปรึกษา
About Us Advanced Maternity Center
ขอบคุณภาพประกอบ : istock