มีความหมายนะ? ท่าโอบกอดลูกของ โอปอล์-หมอโอ๊ค
หลายคนคงเห็นภาพความประทับใจ โอปอล์-หมอโอ๊ค กับลูกฝาแฝด อลิน-อรัญ ในอ้อมกอดที่แสนอบอุ่น ซึ่งก่อนคลอดลูกชาย-หญิงฝาแฝดได้อย่างปลอดภัย โอปอล์ ปาณิสรา ต้องพักฟื้น รักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลาเดือนกว่า จากอาการตั้งครรภ์ผิดปกติ และมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียลูกไปในตอนนั้น ทำเอาหลายๆ เป็นห่วงและต่างร่วมให้กำลังใจกันอย่างมากมาย
หลังจากได้เห็นภาพลูกน้อยกับคุณพ่อและคุณแม่ที่ถ่ายทอดอารมณ์ได้แล้ว สาวๆ รู้หรือไม่ว่านั้นเป็นอีกหนึ่งวิธีการดูแลลูกที่เรียกว่า Kangaroo mother care (KMC) วันนี้ Sanook! Women จะพาไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ Kangaroo mother care (KMC) วิธีนี้จะช่วยให้เด็กที่คลอดก่อนกำหนดมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้อย่างไรกัน ตามมาดูกันค่ะ
เป็นการให้แม่และลูกได้สัมผัสกันแบบเนื้อแนบเนื้อ (skin-to-skin contact) ในทารกแรกเกิดหรือทารกเกิดก่อนกำหนด มีความสำคัญคือ ช่วยให้ทารกสงบ ร้องน้อยลง อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจสม่ำเสมอ รักษาความอบอุ่นร่างกายของทารก ลดการใช้พลังงานของร่างกาย ช่วยการทำงานของระบบการย่อย การเผาผลาญ และระดับน้ำตาลของทารกให้คงที่ ช่วยลดการติดเชื้อ ช่วยให้ทารกคุ้นเคยกับการดูดนมจากเต้า ส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างแม่-ลูก และช่วยเพิ่มความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกเกิดก่อนกำหนด ทารกเกิดก่อนกำหนดที่อายุระหว่าง 30-34 สัปดาห์ น้ำหนักตัวมากกว่า 1,800 กรัม จะเริ่มตื่นตัวและมีปฏิกิริยาในการดูดกลืน การทำ KMC จะช่วยให้ทารกพัฒนาการดูดและการกลืนได้เร็วขึ้น
วิธีการทำ KMC โดยจัดให้ทารกอยู่ในท่า upright ระหว่างเต้านมของแม่ ให้หน้าอก ท้องแขนขาของลูกได้สัมผัสกับผิวหนังของแม่ หันศีรษะทารกไปข้างใดข้างหนึ่ง แขนขางออยู่ในท่ากบ อย่าให้สะโพกกางออกไปมาก ใส่ผ้าอ้อมให้ทารก ใช้ผ้าพันรอบตัวแม่กับทารก และใส่เสื้อธรรมดาคลุมให้แม่และลูก กรณีที่อุณหภูมิห้องต่ำ 22-24 องศาเซลเซียสหรือทารกน้ำหนักน้อยมากให้ใส่หมวก ถุงเท้า เพิ่มให้ อุณหภูมิของแม่จะปรับขึ้นได้ประมาณ 2 องศาเซลเซียส และจะปรับลดลงได้เมื่ออุณหภูมิลูกสูงขึ้น การทำ KMC ได้นานเท่าที่ต้องการ และไม่ควรรบกวนแม่-ลูก ถ้าต้องการ feed นมทางสายยางก็สามารถให้ได้ขณะที่ทำ KMC กรณีที่แม่ต้องการพักสามารถให้พ่อหรือญาติทำ KMC แทนได้
ขอบคุณข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์
ดูชัดๆ ลูกแฝดชายหญิง โอปอล์ หมอโอ๊ค