ดูดนมแม่ ลูกน้อยสุขภาพดี ฟันสวย
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แบบให้ลูกดูดจากเต้านม มีส่วนช่วยให้ครอบครัวประหยัดเงินในการดูแลสุขภาพช่องปาก และค่าใช้จ่ายด้านทันตกรรมเมื่อลูกโตขึ้นได้ โดยเฉพาะช่วงที่ลูกได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด และตลอดช่วงวัยในระยะ 2 ปีแรก
บริษัท คิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กางเกงผ้าอ้อมสำเร็จรูปฮักกี้ส์ จัดกิจกรรม "แทนคำสัญญา อิ่มไอรักกับฮักกี้ส์" โดยร่วมกับมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
นำทีมโดย แพทย์หญิงยุพยงค์ แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิฯ มาให้ความรู้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับคุณแม่ป้ายแดงที่กำลังตั้งครรภ์ เพื่อช่วยเพิ่มไอคิว และพัฒนาการของช่องปากที่ดี เพราะนอกจากประโยชน์ของนมแม่ที่ดีต่อสุขภาพของลูกแล้ว ยังเป็นแหล่งอาหารที่สร้างภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี
นางการะเกด ภูริพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาด บริษัท คิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารผลิตภัณฑ์กางเกงผ้าอ้อมสำเร็จรูปฮักกี้ส์ ให้ข้อมูลสำคัญของการจัดกิจกรรมแบ่งปันความรู้สู่คุณแม่มือใหม่ว่า มีการสนับสนุนให้สังคมไทยหันมาให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มากขึ้น ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน ไม่จำเป็นต้องให้ทารกกินน้ำหลังกินนมแม่
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไว้ 3 ระยะคือ ระยะแรกในช่วง 6 เดือนหลังคลอด ให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียว ระยะที่สองคือหลังจากหกเดือน ทารกสามารถกินอาหารเสริมสลับกับกินนมแม่ และระยะที่สามคือหลังจาก 1 ปีไปแล้ว ลูกสามารถกินอาหารมื้อหลักได้ครบสามมื้อ และกินนมแม่เป็นอาหารเสริมไปจนถึงสองขวบ
ด้าน แพทย์หญิงยุพยงค์ แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ระบุว่า มีงานวิจัยที่น่าสนใจมาก ตีพิมพ์ในวารสาร Acta Paediatrica สืบค้นได้จากห้องสมุดออนไลน์ Wiley เป็นงานวิจัยโดย Karen Glazer Peres และคณะศึกษาว่า การดูดนมแม่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของช่องปาก โดยวิจัยจากทารกกว่า 27,000 ราย พบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะฟันไม่สบกัน (Malocclusion)
"การดูดนมแม่ของทารกทำให้กล้ามเนื้อช่องปากมีความแข็งแรง เพราะการดูดนมจากเต้านมแม่ โดยธรรมชาติทารกจะใช้ปากอมหัวนมจนถึงส่วนของลานนม และดูดแบบบีบรูด (Peristalsis) โดยใช้ลิ้นบีบนวดส่วนที่เป็นลานนมซึ่งมีท่อน้ำนมเป็นจำนวนมาก จึงทำให้กล้ามเนื้อในช่องปากทุกส่วนเกิดการเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ
และเต้านมแม่มีความอ่อนนุ่มตามธรรมชาติจึงไม่มีผลต่อการกดหรือดันเหงือกหรือเพดานปากของลูก ในขณะที่การดูดนมจากจุกขวดนม ทารกจะใช้แรงดูดในลักษณะของการออกแรงดูด (Sucking) โดยใช้เหงือกกัดจุกนมและใช้ลิ้นกดช่องจุกนมไว้ พร้อมกับการบีบตัวของกล้ามเนื้อบริเวณแก้ม เพื่อให้เกิดภาวะสุญญากาศในช่องปาก ให้น้ำนมไหลออกจากขวดนมได้
ภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดแรงบีบที่ขากรรไกรบน มีผลทำให้โค้งเพดานปากด้านบนมีการขยายตัวผิดปกติ และนำไปสู่การเกิดการซ้อนทับ หรือไม่สบกันของฟันชุดแรก รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการเกิดการสบฟันที่ผิดปกติอีกด้วย" แพทย์หญิงยุพยงค์กล่าว
ต้องย้ำว่า นมแม่ดีทั้งต่อสุขภาพและช่องปากจริง ๆ