ไล่ตามก้าวที่ไม่เคยหยุดนิ่งของ ปู ไปรยา
“ความเจ็บปวดเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว แต่การยอมแพ้มันอยู่อย่างถาวร ถ้าพรุ่งนี้เราตื่นขึ้นมา แล้วเราจะยอมมองเห็นตัวเองในกระจกว่าเป็น คนขี้แพ้ได้รึเปล่า”โดย ปู ไปรยา
ไล่ตามก้าวที่ไม่เคยหยุดนิ่งของ ปู ไปรยา สวนดอกไม้ ลุนด์เบิร์ก
บทสนทนาระหว่างเราเริ่มต้นขึ้นโดยมีหนังสือเป็นเหตุ หลังจากที่ ปู ไปรยา เสร็จจากภารกิจการแต่งหน้า เธอย้ายมานั่งตรงข้ามกับเรา เพื่อเริ่มต้นการสัมภาษณ์ไปพร้อมๆ กับการให้ช่างผมบรรจงแปลงโฉมให้เธออย่างต่อเนื่อง ระหว่างนั้นเองที่ปูหยิบ A Hologram for the King นิยายเล่มใหม่ของ เดฟ เอกเกอร์ส (Dave Eggers) ที่เรากำลังอ่านค้างไว้มาพลิกดู ด้วยวิธีการหยิบจับหนังสือพลิกปกหลังอ่าน และกรีดกระดาษดูเนื้อในอีกเล็กน้อย ทำให้เรารู้ได้ทันทีว่าเธอคือหนอนหนังสือตัวจริง
“ปูชอบอ่านงานของนักเขียนคนไหนเป็นพิเศษรึเปล่า” เราเริ่มต้นบทสนทนา โดยข้ามคำถามว่าเธอชอบอ่านหนังสือรึเปล่า เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา
“มูราคามิชอบมาก Norwegian Wood คือเล่มโปรด อ่านตั้งแต่ยังเรียนไฮสคูล” เธอตอบทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาคิด ถึงความชอบที่มีต่อ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) นักเขียนชาวญี่ปุ่นที่นักอ่านทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี “ปูชอบอ่านนิยาย งานของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel GarciaMarquez) ก็อ่าน ที่ปูกลายมาเป็นคนชอบอ่านหนังสือก็เพราะตอนเด็กๆ เวลาคุณพ่อกลับจากที่ทำงานจะหยิบหนังสือมาอ่านให้ปูฟัง เริ่มจาก Dr. Seuss อ่านสั้นๆ ง่ายๆ ไปจนถึงหนังสือนิยาย เรื่องสั้น พอถึงช่วงที่ แฮร์รี่ พอตเตอร ์ดัง ปูเริ่มอ่านหนังสือเองได้แล้ว ก็จะสลับมาเป็นคนอ่านให้พ่อฟัง อีกอย่างคือปูเล่นละครตั้งแต่อายุ 13 ทำให้สายตาไม่ค่อยดีเวลาเจอแสงเยอะๆ เลยเป็นคนไม่ชอบจ้องหน้าจอ จึงชอบอ่านหนังสือมากกว่าเพราะไม่ทำให้ปวดตา”
ถึงอย่างนั้นก็ตาม การปฏิเสธกิจกรรมการอ่านทางหน้าจอโดยสิ้นเชิงคงทำได้ยากยิ่งสำหรับคนในยุคนี้ โดยเฉพาะบุคคลสาธารณะอย่างไปรยา “ปูอ่านเฉพาะฟีดส์ที่เป็นอาร์ติเคิลน่าสนใจ ส่วนข่าวบันเทิงไม่อ่าน ข่าวการเมืองก็ไม่ค่อยอ่าน ยิ่งในยุคโซเชียลแบบนี้เป็นยุคที่คนชอบใส่ความคิดเห็นของตัวเองลงไปจนมันอินเทนส์เกินไป ปูเลือกอ่านอะไรที่ค่อนข้างเจเนรัลไรซ์มากกว่า” และอีกหนึ่งประการที่ทำให้ไปรยาไม่อาจละทิ้งการอ่านไปได้ นอกเหนือไปจากความรักทางด้านภาษา และรักในการเรียนรู้แล้ว การไม่หยุดพัฒนาตัวเองน่าจะแทนคำตอบได้ดีที่สุด
“เมื่อไรที่คุณหยุดอ่านหนังสือ โวแค็บฯ ของคุณจะหาย ซึ่งมันเป็นความจริงเลย ปูไม่อยากได้แค่ศัพท์ของเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งขาดๆ เกินๆ เวลาพูดออกมาฟังแล้วมันไม่ไพเราะ หลายคนถามปูว่าวิธีเรียนภาษาที่เร็วที่สุดต้องทำยังไง ปูตอบว่าอ่านหนังสือ ซึ่งเร็วกว่าดูหนังนะ หรือถ้าคุณอยากได้แค่คอนเวอร์เซชั่น คุณก็แค่ดูหนัง แต่ถ้าคุณอยากใช้ภาษาได้อย่างไพเราะ พูดจาแล้วดูมีความคิด มีจินตนาการ ต้องอ่านหนังสือเท่านั้น” ไปรยายืนยัน
หากการอ่านหนังสือที่เธอทำมาทั้งชีวิตคือเพื่อนสนิท การออกกำลังกายก็คือเพื่อนใหม่ที่ไปรยาสนิทสนมมานานกว่าสามปีแล้ว ส่วนเพื่อนใหม่คน ล่าสุดที่เธอเพิ่งทำความรู้จักและกำลังหลงรักสุดๆ คงหนีไม่พ้นการวิ่งมาราธอน
“เมื่อก่อนปูออกกำลังกายเพื่อหุ่น แต่พอได้เรื่องหุ่นแล้ว เราอยากได้มากกว่านั้น” เธอย้อนเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำ ให้เขยิบจากการยกเวทและเล่นพิลาทีส มาเป็นการตื่นตั้งแต่ตีสี่เพื่อซ้อมวิ่งอย่างต่อเนื่องนานสี่เดือนก่อนลงสนามจริง “ปูชื่นชมคนที่เป็นนักวิ่ง และเชื่อว่าถ้าคนเรามีน้ำใจและมีวินัยเหมือนนักวิ่ง สังคมคงน่าอยู่กว่านี้ เพราะมาราธอนคือทีมเอฟฟอร์ท เราทุกคนต้องไปถึงเส้นชัยด้วยกัน ในระยะเวลาของตัวเอง
อีกแง่หนึ่งคือ ถ้าเรามีวินัย ตื่นตีห้าไปทำงานทุกวันได้เหมือนที่เรามีกับการวิ่ง ถ้าเรามีวินัยว่าวันนี้เราต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าฝนจะตก ไม่ว่าเข่าจะเจ็บ ไม่ว่ารถจะติด ไม่ว่าที่ทำ งานจะมีคนทำ แย่ๆ กับเรา ทั้งหมดเป็นแค่ข้ออ้าง It doesn’t matter สิ่งที่แมทเทอร์คือ ถ้าเรามีวินัยในการใช้ชีวิต เราย่อมประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน” ไปรยาเอ่ยด้วยน้ำเสียงจริงจังอยู่ในที แทบไม่ต้องเดาว่าการลงแรงวิ่งเป็นระยะทาง 42.195 กิโลเมตร เปลี่ยนชีวิตนักแสดงและนางแบบสาวคนนี้ไปมากแค่ไหน
“สิ่งที่ปูเคยได้ยินเกี่ยวกับการวิ่งมาราธอนคือ 20 กิโลเมตรแรกเป็นการฝึกซ้อมพอถึงระยะที่ 20-30 กิโลเมตรเป็นเรื่องของความอดทน ส่วน 12 กิโลเมตรสุดท้ายคืออินสไปเรชั่นที่ต้องใช้ใจล้วนๆ และศัตรูที่น่ากลัวที่สุดก็คือตัวเราเอง เพราะเราต้องอยู่กับตัวเองนานถึง 6 ชั่วโมง ในช่วงที่วิ่ง 20 กิโลเมตรแรก ปูฟังเพลงไปด้วย สักพักเริ่มรำคาญก็ถอดออกโยนใส่กระเป๋าเพื่ออยู่กับตัวเอง การที่ได้ยินเสียงหายใจกับเสียงฝีเท้าที่วิ่งผ่านเราไป ทำให้เราเอาแต่คิดว่าเขาไปกันหมดแล้ว แล้วเราล่ะ จนสุดท้ายจากจำนวนนักวิ่งทั้งหมด 4,000 กว่าคน ปูวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนที่ 2,000 นิดๆ ก็ถือว่าโอเคสำหรับครั้งแรก
มาราธอนครั้งนี้คือการที่ปูพิสูจน์กับตัวเองว่าเราทำได้ ช่วงที่วิ่งอยู่สาบานได้เลยว่าปูพูดกับตัวเองว่าฉันจะไม่เอาอีกแล้ว นี่เรากำลังทำอะไรกับชีวิตตัวเองจนช่วงท้ายๆ มีพี่ผู้ชายที่เป็นนักวิ่งคนนึงพูดกับปูว่า นี่คือมาราธอน ถ้าคุณคิดว่ามันจะง่าย นั่นหมายความว่าคุณไม่ได้วิ่งมาราธอน ปูจึงต้องบอกกับตัวเองตลอดทางว่า ความเจ็บปวดเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว แต่การยอมแพ้มันอยู่อย่างถาวร ถ้าพรุ่งนี้เราตื่นขึ้นมาแล้วเราจะยอมมองเห็นตัวเองในกระจกว่าเป็นคนขี้แพ้ได้รึเปล่า” เธอทิ้งท้ายให้เราคิดตาม ก่อนจะตอบด้วยนัยน์ตาเป็นประกายถึงเป้าหมายถัดไป
“แน่นอนว่าปีหน้าปูจะวิ่งมาราธอนอีก และถ้าเป็นไปได้อยากลงรายการมาราธอนวิบากบนเขาสักครั้ง ถือเป็นฝันเลย”
นั่นเป็นเพียงหนึ่งในเป้าหมายประจำ ปีหน้าที่ไปรยาปักธงเอาไว้ให้ตัวเองได้พิชิตส่วนอีกหนึ่งภารกิจคือ การเรียนภาษาจีนเพิ่มเติม เหล่านี้คือ New Year Resolutions ที่หญิงสาวช่างคิดคนนี้กำหนดให้ตัวเองทุกปี และเธอมักทำสำเร็จเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการลงวิ่งมาราธอนในปีนี้ หรือการหัดขับรถ เรียนดำน้ำ และขึ้นบอลลูนอากาศร้อนในปีก่อนๆ
“ปูต้องมีเป้าหมายให้ตัวเองในทุกปี จะได้ไม่ฟุ้งซ่าน เพราะการเป็นดาราเรามักถูกดึงให้ใส่ใจอยู่กับเรื่องหน้า ผม หรือการแข่งขันกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เราจึงต้องมีความเป็นไอเดนติตี้ของตัวเองเพื่อจะได้ไม่คิดถึงเรื่องพวกนี้” และเมื่อเราพานคิดไปว่าเธออยากเรียนภาษาจีนก็เพื่อต่อยอดในเรื่องของหน้าที่การงานในอนาคต ไปรยาส่ายหัวแทนคำตอบว่าเราคิดผิดถนัด
“ปูไม่เคยทำอะไรเพราะเรื่องงาน เวลาคนเราทำอะไรเพื่องานบางครั้งเขาก็แค่ทำให้มันจบๆ ไป เหมือนคนออกกำลังกายแค่เพื่อถ่ายชุดว่ายน้ำ พอถ่ายเสร็จเขาก็หยุดออกกำลังกาย So it’s not a passion มันไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ เราเรียนภาษาเราก็ต้องเรียนเพราะเราอยากเรียน ปูไม่เคยไปเมืองจีน ปูอยากไปเห็นกำแพงเมืองจีนกับพระราชวังต้องห้าม ถ้าวันนึงได้ไปก็อยากจะพอพูดได้บ้าง แค่นั้นเอง คนเราต้องทำ เพราะว่าอยากทำเพื่อตัวเอง อยากทำเพื่อความสุข เพื่อการใช้ชีวิต ไม่ใช่ทำ เพื่อเป้าหมายของงานงานเดียว”
ดูเหมือนกับว่าตั้งแต่เราเริ่มต้นคุยกันด้วยหนังสือเล่มหนึ่งเป็นเหตุ ไล่เรียงไปจนถึงเรื่องการวิ่งที่ให้อะไรกับชีวิตมากกว่าแค่เสียเหงื่อสู่การตั้งเป้าหมายในทุกต้นปี เราลืมไปด้วยซ้ำว่ายังไม่ได้บอกไปรยาถึงหัวข้อที่อยากคุยกันในวันนี้ว่าเกี่ยวกับศิลปะการใช้ชีวิตในแบบที่เธอเป็น
ท้ายที่สุด คำถามที่เราเตรียมมา คงไม่สำคัญเท่าเรื่องเล่าอันหลากหลายของเธอที่แทนค่าได้มากกว่าคำตอบชั้นดีที่เราอยากได้ยินเสียอีก
เรื่อง: ณวดี ปัตเมฆ
ภาพ: ไชยวัฒน์ ไชยโชติ สไตล์: ตฤณ ชาญชัยประสงค์